ชั่วโมงวิทย์ในป่าภูของครูโลกดิจิตอล
น้ำในธารใสและเย็นเฉียบ เด็กๆ กรูกันลงไปเก็บวัสดุธรรมชาติ เพื่อนำมาสร้างสรรค์ในโหลใบเล็ก ตามคำสั่งของครูสอนวิทยาศาสตร์
เสียงครูย้ำอยู่ริมธารว่า ให้เลือกสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต มาสร้างสรรค์โลกใบเล็กๆ ในขวดโหล เพื่อให้เห็นระบบนิเวศวิทยา จากนั้นให้ปิดฝาขวดโหลให้สนิท ก่อนนำไปวางไว้หน้าห้องวิทยาศาสตร์ แล้วพิจารณาผลการทดลองว่า จะเกิดอะไรขึ้นในขวดโหลนั้น
“สัตว์จะตายค่ะ” เด็กหญิงคนหนึ่งส่งเสียงใสๆ ตอบ ขณะมือกำลังเก็บหินก้อนเล็กๆ ใส่โหล
“นั่นเป็นการตั้งสมมติฐานของเรา แต่เรายังไม่เห็นของจริงว่า ในโหลนั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้น เราต้องทดลองและติดตามผลใช่ไหม” ครูถามกลับ
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตอบพร้อมๆ กัน จากนั้นช่วยกันหาวัสดุตกแต่งในขวดโหลอย่างขะมักเขม้น บ้างนำเอาดินใส่เป็นพื้น นำพืชน้ำมาปลูก ประดับด้วยหินสีขาวขุ่น แล้วจับปูตัวเล็กๆ ใส่เข้าไป 1 ตัว แต่ละกลุ่มต่างสร้างสรรค์ไปตามจินตนาการของตนเอง
“เด็กๆ ที่นี่ แม้จะขาดแคลนวัสดุ อุปกรณ์การเรียนบางอย่าง แต่เราก็มีบางอย่างมาชดเชย อย่างวันนี้ วัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน เราก็ได้จากธรรมชาติ ไม่ต้องซื้อหาแต่อย่างใด” ครูเบญบอก
ครูเบญของนักเรียนโรงเรียนบ้านใหม่คลองอังวะ ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี นามเต็มๆ คือ ครูเบญจมาภรณ์ ภูฆัง อายุ 31 ปี เข้ามาบรรจุรับราชการครู ที่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่อายุ 25 ปี นั่นคือ วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2548 จากนั้นก็ปักหลักสอนเด็กๆมายาวนานถึง 6 ปี
ระหว่างรอเด็กจัดวางระบบนิเวศวิทยาในขวดโหลตามจินตนาการของตน ครูเบญเล่าว่า เธอจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร (ทับแก้ว) จากนั้นสอนนักเรียนอยู่แถวๆ บ้านเกิด คืออำเภอหนองหญ้าไทร จังหวัดสุพรรณบุรีอยู่ระยะหนึ่ง
ครั้นสอบบรรจุได้ที่โรงเรียนบ้านใหม่คลองอังวะ เธอจึงเดินทางมารับตำแหน่งพร้อมกับพ่อและแม่ที่เดินทางมาส่ง และดูสภาพความเป็นอยู่ของลูกสาว
“วันที่มารับแหน่งเป็นหน้าฝน ทางขึ้นมาโรงเรียนลื่นมาก ยังเป็นทางลูกรัง รถปัดไปปัดมาไม่เคยตรงทางเลย แถมเป็นทางขึ้นเขาอีก แม่บอกว่าลูกไม่ต้องมาอยู่หรอก ไปสอบบรรจุใหม่ดีกว่า แต่พ่อบอกว่าให้ลองดูก่อน ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนตัดสินใจ”
คำพูดของแม่นั้น เธอบอกว่าใคร่ครวญอยู่นาน โชคดีที่มีพ่อให้กำลังใจอยู่ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องให้สู้ชีวิต เธอสอนหนังสืออยู่ไม่นาน เมื่อเห็นสภาพความเป็นอยู่ บวกกับความห่วงใยของแม่ เธอบอกว่าท้อเหมือนกัน แต่ระหว่างท้อถอยอยู่นั้น เธอได้ไปธุระที่โรงเรียนอนุบาลบ้านไร่ ได้เห็นพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า…
“เมื่อจะทำงาน อย่าหยิบยกเอาความขาดแคลนมาเป็นข้ออ้าง จงทำงานท่ามกลางความขาดแคลนให้บรรลุ จงทำงานด้วยความตั้งใจและซื่อสัตย์”
เธอได้คิดว่า “เราไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะมาเป็นข้ออ้าง อะไรที่เราทำได้เราก็ทำไปก่อน แม้จะอยู่ท่ามกลางความขาดแคลน เด็กๆเองเขาก็ขาดแคลน แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ขาดแคลนคือกำลังใจจากเด็ก เด็กๆต้องการเรา ต้องการให้เราสอน เชื่อฟังเรา สิ่งเหล่านี้คือความสุข และสิ่งนี้เราไม่ขาดแคลน”
โรงเรียนบ้านใหม่คลองอังวะ อยู่ในพื้นที่ป่าดง เด็กๆ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง เมื่อเธอตัดสินใจอยู่กับเด็กแน่นอนแล้ว ด่านแรกที่เธอต้องฝ่าคือ การเรียนรู้ภาษาของเด็กๆ อาศัยความคุ้ยเคย ใฝ่เรียนใฝ่รู้ เธอจึงสามารถสื่อสารกับเด็กๆด้วยภาษาพื้นบ้านได้
ส่วนเด็กๆ เองก็เรียนรู้ภาษาไทยมาตั้งแต่อนุบาล เมื่อเลื่อนระดับชั้นมาถึงระดับประถมศึกษา ก็สามารถสื่อสารกับครูได้ดีระดับหนึ่งเช่นกัน จึงกลายเป็นว่าต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ภาษาซึ่งกันและกัน
“เรื่องภาษา น่าสงสารเด็กเหมือนกัน เพราะเด็กๆส่วนใหญ่ยังไม่แตกฉานภาษาไทย เมื่อสอบโอเน็ต พวกเขาอ่านออกก็จริง แต่เขาไม่เข้าใจความหมายคำยากๆ อย่างเช่น สันติภาพ อภิวัฒน์ วิวัฒนาการ คำเหล่านี้เด็กๆ มักอ่านเจอในหนังสือแล้วมาถามว่าหมายถึงอะไรอยู่เรื่อยๆ”
ปัญหาเหล่านี้ “มาจากเด็กๆ ไม่ได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน เด็กมาหัดพูดภาษาไทยที่โรงเรียน เมื่อกลับบ้านก็พูดภาษาของตัวเอง”
เด็กๆ ที่นี่ ไม่มีปัญหาเรื่องเกม ว่างก็จะอ่านหนังสือ เล่นกีฬา “เรื่องกีฬาเขาลงไปแข่งกับคนพื้นล่างและได้ชนะบ่อยๆ ทำให้เขาภูมิใจว่าเขาทำได้ แต่เราไม่ได้เน้นเรื่องแพ้ ชนะ แต่เน้นเรื่องให้เขาได้กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง และกล้าแสดงความสามารถของตนเองที่มีอยู่”
การเรียนต่อของเด็กเมื่อจบ ป.6 แล้ว จะเรียนต่อ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การไปเรียนนั้น เนื่องจากโรงเรียนมัธยมอยู่ไกลจากบ้านมาก บางคนจึงเลิกเรียนกลางคัน แล้วกลับไปช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
เรื่องระยะทางเป็นปัญหาหนึ่งของเด็ก ระดับชั้นอนุบาลถึง ป.6 นี้ก็เหมือนกัน เนื่องจากการเดินทางมาเรียนของเด็กๆห่างไกลจากโรงเรียนมาก โรงเรียนบ้านใหม่คลองอังวะที่เธอสอน จึงเปิดศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมารับนักเรียนอีก 1 แห่ง เรียกว่า ที่พักเรียนบ้านคลองเสลา ห่างจากโรงเรียนหลักไปประมาณ 7 กม.
การเดินทางไปสอนโรงเรียนนี้ แต่ละวันครูเบญจะควบรถมอเตอร์ไซค์ออกไปสอน บรรยากาศระหว่างทางแต่ละวัน เธอเล่าว่า ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อ แม่ของเด็กๆ มักตะโกนโหวกๆ เรียกให้หยุดรถ แล้วมอบมะละกอ ฟักทอง ข้าวโพด และพืชไร่อื่นๆให้ครูมาประกอบอาหาร
“บางครั้ง หอบเอามาให้เราเลย ครั้นจะไม่รับก็ไม่ได้ แต่ถ้ารับเราก็เอามาไม่หมด เลยต้องขออนุญาตรับมาแค่ผลสองผลก็พอ”
ภายในศูนย์เรียนรู้นี้ เปิดตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นประถม-ศึกษาปีที่ 6 แต่มีครูไม่ครบตามจำนวนชั้น เนื่องจากต้องแบ่งครูจากโรงเรียนหลักไปสอน นั่นคือมีครูสอนระดับอนุบาลกับชั้น ป.1 จำนวน 1 คน ระดับชั้น ป.2 และชั้น ป.3 จำนวน 1 คน ระดับชั้น ป.4 และชั้น ป.5 จำนวน 1 คน และชั้น ป.6 จำนวน 1 คน
“ชั้นอื่นๆ สอน 2 ชั้นต่อ 1 คนได้ แต่ระดับชั้น ป. 6 จำเป็นต้องให้ไปเลย 1 คนเต็มๆ เพราะเด็กๆ ต้องไปเรียนต่อ ต้องให้มีความรู้เชิงวิชาการเข้มข้น”
เมื่อถามถึงการย้ายไปสอนที่อื่น เพื่อได้อยู่กับความสะดวกสบาย ครูเบญบอกว่า ความสุขของชีวิตไม่ได้อยู่ที่ความสะดวกสบายจากเครื่องอำนวยความสะดวก แม้จะไม่มีคลื่นโทรศัพท์ ดูทีวีช่องปกติได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็มีความสุขกับเด็กๆที่อาจจะหากับเด็กในเมืองไม่ได้
“เด็กๆ ที่นี่ไม่มีแรงดึงดูดจากเกม ว่างเขาก็เล่นกีฬา และอ่านหนังสือกันไป” เรื่องยาเสพติด “เคยมีเรื่องยาเส้น เราบอกเด็กๆ ว่าเป็นยาเสพติด เขาก็บอกว่าพ่อแม่สูบกันทั้งนั้น ยาเส้นเป็นสมุนไพร เราจึงเอารูปปอดคนสูบบุหรี่ให้เขาดู เพื่อให้เห็นพิษภัยของมัน เด็กๆ ก็เข้าใจ”
ครูเบญย้ำว่า ภูมิใจในอาชีพครู “มาอยู่ที่นี่ เราไม่ได้ทำหน้าที่สอนอย่างเดียว แต่ทำหน้าที่อย่างอื่นด้วย อย่างเมื่ออุปกรณ์ขาดแคลน เราก็ประสานกับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ นำความช่วยเหลือมาให้เด็กๆ เราพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ เท่าเทียมกับเด็กๆ ที่อื่น”
การอยู่ท่ามกลางความขาดแคลนในโลกยุคดิจิตอล จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอาชีพ และความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานหรือไม่อย่างไรนั้น ครูเบญบอกว่า “อยู่ที่ไหนก็ไม่แตกต่างกัน ถ้าเราจะพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าอยู่ที่ไหนเราก็พัฒนาได้”
ลมริมธารพัดมาบางเบา เด็กๆ เริ่มนำขวดโหลใสๆ ภายในเต็มไปด้วยพืช ดิน หิน และสัตว์ ที่จัดวางไว้อย่างสวยงามมาส่งครู แน่นอนว่าชีวิตครูที่จัดวางตัวเองไว้กลางป่าเขา ย่อมงดงามไม่แพ้กัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ