ชะอมโมเดล ปลูกไม้เพื่ออนาคต

การมองหาอาชีพที่ยั่งยืนและสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่กำลังพัฒนาและทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลายเป็นเป้าหมายสำคัญในการทำงานขององค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนในปัจจุบัน และเป็นที่น่ายินดีว่า ทุกวันนี้หน่วยงานเอกชนมากมายมุ่งทำงานเพื่อตอบแทนสังคม และมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ที่สำคัญ ชุมชนที่ถูกพัฒนา และจัดระบบการทำงานร่วมกัน จนสามารถพึ่งพิงตนเองได้แล้ว ก็จะกลายเป็นชุมชนต้นแบบ ให้กับชุมชนอื่นๆ ทั้งในพื้นที่ใกล้เคียง และต่างภาค ต่างจังหวัด ได้ศึกษา และเดินตามรอยทาง

เช่นเดียวกับชุมชน “ชะอม” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมมือกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ได้ร่วมมือกันวิจัย และศึกษาความเป็นไปได้ในการประกอบอาชีพ โดยดูจากสภาพแวดล้อม สภาพทางภูมิศาสตร์ จุดแข็งและจุดอ่อนของชุมชน พูดคุยกับชาวบ้านและแต่งตั้งผู้นำชุมชน เพื่อเป็นตัวแทนในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพให้กับชาวบ้าน

สิ่งที่ชาวบ้านชุมชน “ชะอม” ปฏิวัติรูปแบบการประกอบอาชีพ คือการสร้างระบบการจัดการและพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน โดยนักวิชาการจาก สสส. และสมาคมพัฒนาประชากรศาสตร์ ได้ร่วมกันศึกษา และแนะนำอาชีพการขุดไม้ล้อมให้กับชาวบ้าน ใช้ระยะเวลาดำเนินการราว 20 ปี วันนี้ชุมชนชะอม กลายเป็นแหล่งปลูกไม้ ขุดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้นไม้ที่ปลูก และเติบโตจากที่นี่ จะถูกนำไปขายทั่วประเทศ และทั่วโลก

โดยตลาดต่างประเทศหลักๆ อยู่ที่สิงคโปร์ เพราะเป็นที่รู้กันว่า ที่เกาะเล็กๆ แห่งนี้มีศักยภาพในการปลูกต้นไม้ที่จำกัด ทำให้ต้องนำเข้าต้นไม้จากต่างประเทศปีละไม่น้อย

“ชะอมโมเดล” จึงเป็นที่มาของกิจกรรม “ฟังจากปาก สืบจากคน ชะอมโมเดล” ที่จัดขึ้นที่โรงเรียนวัดบำรุงธรรม บ้านชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัด สระบุรี โดยการสนับสนุนจาก สสส. และร่วม เผยแพร่ความรู้โดยสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน

นพ. ชาญวิทย์ วสันตธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. บอกว่า เราต้องยอมรับว่า การประกอบอาชีพของชุมชนชะอม คือการต่อลมหายใจให้กับโลก ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการทำโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยสารพิษสู่น้ำและอากาศ

“อยากให้องค์กรต่างๆ ช่วยเหลือสังคมและชุมชนมากขึ้น สสส. เองจะนำองค์ความรู้ดีๆ เช่นนี้มาเผยแพร่ในสังคม เพื่อกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับบทบาทนี้ เนื่องจากส่งผลดีต่อสังคมอย่างยั่งยืน และแน่นอนว่าเมื่อสังคมดีก็ย่อมส่งผลดีถึงบริษัทด้วย” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว

ทางด้าน นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน คุณมีชัย วีระไวทยะ กล่าวว่า เส้นทางการก่อร่างสร้างโครงการชะอมโมเดลนั้น ไม่ได้ใช้เวลาเพียงสั้นๆ หากแต่ต้องอาศัยการลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และอธิบายถึงข้อดีของการปลูกต้นไม้เพื่อขาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จากแรกเริ่มมีหมู่บ้านที่สนใจอาชีพ ไม้ขุดล้อมเพียง 1 หมู่บ้านเท่านั้น แต่ต่อมาเมื่อพืชผลการเกษตรหลัก คือข้าวโพด สร้างรายได้และผลผลิตที่ไม่แน่นอน หลายหมู่บ้าน จึงเริ่มหันมาสนใจอาชีพปลูกไม้ขุดล้อมขาย

“การปลูกต้นไม้ขุดล้อม คือต้นไม้พันธุ์ที่มีลำต้นเดี่ยว ทั้งต้นใหญ่และเล็ก ปลูกลงดินปกติ แล้วรอระยะเวลาให้ได้ขนาดลำต้นตามที่ต้องการ โดยส่วนมากไม้ขุดล้อมจะมีอายุอย่างน้อย 1 ปี เมื่อต้นได้ตามขนาดที่ต้องการ ก็ขุดขึ้นมาทั้งต้นนับว่าเป็นเกษตรแนวทางเลือกใหม่ของชาวบ้านชะอม เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับท้องถิ่น โดย 1 ไร่ จะปลูกต้นไม้ได้ประมาณ 1,600 ต้น จากต้นกล้า 1 ต้น ใช้ระยะเวลาเจริญเติบโตประมาณ 1-2 ปี ก็สามารถสร้างรายได้ ให้กับผู้ปลูกและยิ่งปล่อยให้ต้นไม้โตขึ้นเรื่อยๆ มูลค่าก็จะสูงตามไปด้วย” นายมีชัย กล่าว

ทั้งนี้ การปลูกไม้ขุดล้อมเพื่อไปขายนั้น ชาวบ้านต้องรู้จักการรอคอย และมีการวางแผนที่ดี เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า กว่าต้นไม้ต้นหนึ่งจะโตพอที่จะขุดออกไปขายได้ต้องใช้เวลาแรมปี และที่สำคัญ ชาวบ้านเองจะต้องศึกษาลักษณะของต้นไม้ที่จะปลูก และสภาพพื้นที่ เพื่อให้ต้นไม้เติบโต และสามารถบอกขายได้ตามระยะเวลาเป้าหมาย

สิ่งที่เป็นผลพลอยได้ นอกจากชาวบ้านจะมีอาชีพทำกินแล้ว เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต จะได้ศึกษวิธีการปลูกพืช และศึกษาสภาพพื้นที่ในชุมชนของตน และช่วยกันต่อยอดอาชีพปลูกต้นไม้ขุดล้อมให้กลายเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนได้เช่นกัน

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code