ชวนเลิกเหล้าลดเสี่ยงโควิด-19 สุขภาพดีรับวิถีใหม่บ้านม่วงน้อย จ.ลำพูน
ที่มาและภาพประกอบ : สยามรัฐ
ก๊อกๆๆ เสียงเคาะประตูบ้านดังอยู่ 3-4 ครั้ง พร้อมเสียงตะโกนถามมีใครอยู่ไหม? ทันทีที่เจ้าของบ้านเปิดประตูออกมา แกนนำหมู่บ้าน และ อสม.4-5 คน ก็เข้าไปทักทายอย่างคุ้นเคย พร้อมกับให้คำแนะนำ และทำความเข้าใจในการป้องกันตัวเองจากไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ละเอียด จันทร์ดี กำนัน ต.ม่วงน้อย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน บอกว่า แม้ลูกบ้านจะเข้าใจถึงวิธีปฏิบัติตัว และมีการป้องกันตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็ต้องชวน อสม.เข้ามาเคาะประตูบ้านบ่อยๆเพื่อเน้นย้ำไม่ให้การ์ดตก เนื่องจากผู้ที่อยู่บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ คนหนุ่มสาวมักออกไปทำงานนอกบ้าน การอยู่ร่วมกันก็ควรเว้นระยะห่าง และแยกภาชนะ มีการใช้หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า เมื่อออกจากบ้าน หรือแม้กระทั่งการอยู่ในบ้าน แต่ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้
นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน หรือนัดประชุมชาวบ้าน ยังได้ถือโอกาสรณรงค์การลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสาเหตุของความสิ้นเปลือง การมั่วสุม ทะเลาะวิวาท ปัญหาครอบครัว สุขภาพเสื่อมโทรม และอุบัติเหตุ ซึ่งเดิมในปี 2560/2561ได้ขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ชุมชนบ้านไร่ หมู่ 1 ต.ม่วงน้อย อ.ป่าซาง ซึ่งเป็น 1 ใน 8 หมู่บ้านของตำบล มีประชากร ประมาณ 684 คน 220 ครัวเรือน และในจำนวนนี้ มีผู้ดื่มแอลกอฮอล์ประจำถึง 70 กว่าคน
ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เจ้าภาพงานศพ 6 ราย สามารถนำกติกาหมู่บ้านไม่เลี้ยงแขกด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาใช้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้ส่วนหนึ่ง โดยค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพภายในหมู่บ้านที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 50,000-120,000 บาทต่อราย หากเจ้าภาพเลี้ยงแอลกอฮอล์ ยอดค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น 2,000-9,000 บาทต่อราย และมีอย่างน้อย 3 ครอบครัว ที่ภรรยาเข้าร่วมรณรงค์ในโครงการ ส่งผลให้สามีลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง
แสดงว่าการที่ อสม.และแกนนำหมู่บ้านเข้าไปรณรงค์ และชี้ให้เห็นโทษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง รวมถึงดึงชาวบ้านเข้าร่วมกำหนดกติกาชุมชน ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กติกาเหล่านี้ถูกคนในชุมชนยอมรับ หากยังไม่สามารถละเลยได้ ต้องคอยเน้นย้ำบ่อยๆ เพื่อให้จดจำ หรือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แม้จะหมดโครงการไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อหมู่บ้านอื่นๆ เห็นผลจากบ้านไร่ ก็เกิดแรงผลักดันอยากขับเคลื่อนให้ชุมชนลด ละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีกำนันเป็นแกนหลัก ในปี2562-63 จึงมีการขยายผลสู่ระดับตำบล ภายใต้โครงการ “สุขภาพดี วิถีม่วงน้อย ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน ต.ม่วงน้อย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน”
จิรันธนิน เมืองสุวรรณ ประธานโครงการสุขภาพดี วิถีม่วงน้อย ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน ต.ม่วงน้อย อ.ป่าซาง จ.ลำพูนและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)หมู่ 1 เล่าถึงการทำงานว่า แกนนำชุมชนทำงานร่วมกับอสม. อย่างใกล้ชิด มีการผนึกกำลังกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน วัด สร้างความตระหนักรู้ถึงพิษภัยจากการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสำรวจพบว่าในงานบุญ งานประเพณี รวมถึงงานศพ ชาวบ้านนิยมนำสุรามาเลี้ยงต้อนรับแขกเหรื่อ เรียกว่า “ไม่มีเหล้า ไม่มีหน้า” ผู้นำเองก็ยังเลี้ยงเหล้าและดื่มเหล้าอยู่ ส่วนในชีวิตประจำวัน ก็มีร้านขายเหล้าเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป ทำให้ภาพคนซื้อดื่มทุกเย็น เป็นเรื่องปกติและชินตา
ส่งผลกระทบหลายๆ ด้าน ทั้งสุขภาพที่มีการเจ็บป่วยจากการดื่มเหล้า โรคตับแข็ง โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคมะเร็ง สุขภาพจิตจองคนในครอบครัว เกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ การทะเลาะวิวาทจากการขาดสติ มีความรุนแรงในครอบครัว ลักขโมย การพนัน บางรายนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซ้ำบางครั้งยังส่งเสียงดังรบกวนเพื่อนบ้าน ด้านเศรษฐกิจก็ทำให้เกิดหนี้สิน ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการซื้อเหล้า เมาแล้วไม่มีแรงทำงาน ไม่มีรายได้ เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เป็นต้น
เมื่อมีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใด เช่น เคาะประตูบ้านให้ความรู้เรื่องต่างๆ อาทิ โควิด-19, ไข้เลือดออก การประชุมหมู่บ้าน วันสำคัญทางศาสนา แกนนำ คณะทำงาน ก็จะพูดคุยกับชาวบ้าน ถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ่วงไปด้วย ขณะที่พระสงฆ์เองก็เทศนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย และในการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย ก็จะเปิด Spot ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความยาวประมาณ 2 นาที ทำให้ชาวบ้านซึมซับความรู้ และตระหนักถึงโทษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากนั้นจึงพูดขอความร่วมมือจากร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ขายตามเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น และงดขายในวันสำคัญทางศาสนา
การขับเคลื่อนกระบวนการ ทำให้แต่ละหมู่บ้านมีมาตรการป้องกัน หรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญได้ คือ งานกฐิน งานสรงน้ำพระธาตุ งานแห่ครัวทาน และงานตานใจ๋บ้าน รวมถึงงานศพ ซึ่งไม่มีการนำสุรามาเลี้ยงต้อนรับแขกเหรื่ออีก มีสถานที่ปลอดการดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 แห่ง ที่สำคัญคือนักดื่มกว่า 500 คนทั้งตำบล ร่วมปฏิญาณตนเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษา และส่วนใหญ่ดื่มในปริมาณน้อยลง หรือบางคนเลิกดื่ม หลังจากงดเหล้าเข้าพรรษาแล้ว