ชวนเรียนรู้ “นวัตกรรมแห่งความสุข”
ฝังรากเติบโตและผลิใบ ขยายกิ่งก้านกลายเป็นต้นไม้ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับแนวคิด "องค์กรสุขภาวะ" หรือสถานที่ทำงานมีความสุข ที่ปักหมุดลงในสังคมไทยมาเนิ่นนานกว่า 10 ปี
จนถึงวันนี้หลายองค์กรยังคงพัฒนาต่อเนื่อง ด้วยเครื่องมือ งานวิจัย และประสบการณ์ตรงที่ได้จากการดำเนินงานพื้นฐานในแบบ Happy 8 ก่อนจะนำมาถ่ายทอดกันรู่นสู่รุ่น จนเกิดเป็นกระบวนการและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้กลายเป็น "องค์กรแห่งความสุข" แก่คนทำงาน สร้างสถานที่ทำงานให้น่าอยู่ และเกิดความสมานฉันท์กับชุมชนที่อยู่โดยรอบ
ทางศูนย์องค์กรสุขภาวะ หรือ Happy Workplace Center สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. จึงรวบรวม "นวัตกรรมแห่งความสุข" น่าสนใจจากหลายองค์กรไว้มากมาย ที่น่าจะช่วยจุดประกายให้หน่วยงานหยิบนำไปใช้ ปรับประยุกต์ให้เข้ากับคุณลักษณะเฉพาะของตนเอง สู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข
คีย์เวิร์ดแรกที่น่าสนใจและนำไปปรับใช้คือการ "สร้างสุขด้วยการให้เกียรติ" จุดเริ่มต้นมาจากทีมสมาชิกบริหารร้านขายของที่ระลึกและเกสเฮ้าส์ในชื่อ "สถานีแม่ฮ่องสอน" จำนวน 7 คน ที่ชอบทำประโยชน์แก่สาธารณะและกิจกรรมเพื่อสังคม และขยายเป็น 27 คน ในปัจจุบัน
การบริหารงานขององค์กรเล็กๆ แห่งนี้ อาศัยหลักการทำงานด้วยใจ ไม่ยึดกฎระเบียบ แต่ยึดเป้าหมายของงาน และให้สมาชิกสร้างหรือมีส่วนร่วมเพื่อคิดพัฒนารูปแบบการช่วยเหลือสาธารณะใหม่ๆ เช่น จัดกิจกรรมวันเด็ก แจกเสื้อผ้า อาหาร หนังสือ ให้กับนักเรียนขาดโอกาส หรือเป็นวิทยากรให้กับชาวบ้านในการพัฒนาศักยภาพชุมชน อีกทั้ง การให้บริการลูกค้า ทางร้านยังมองว่า ลูกค้าเป็นคนดี และให้บริการในลักษณะลูกค้าเป็นเจ้าของบ้าน เพื่อให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมในการดูแลบ้านตนเอง
"ด้วยความเชื่อที่ว่า ให้ความเคารพกับผู้อื่นก่อน ก็จะได้ความเคารพกลับมาเช่นกัน และปลูกฝังการเป็นผู้ให้ก่อนที่จะรับ"
ขณะที่ เสียงตามสาย "16.9 คลื่นแห่งสายใย ใกล้ชิดและผูกพัน" ของ บริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน) ก็เป็นอีกหนึ่งกลวิธี สร้างเสริมประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานให้ดีมากขึ้น อันเนื่องมาจากความสุข สนุก ไม่เครียด และตื่นตัวเวลาทำงานเพราะได้ฟังเพลง
ไม่เพียงให้พนักงานผลัดเปลี่ยนกันมาเป็นดีเจเปิดเพลงให้เพื่อนๆ ได้ฟังช่วงลงมือทำงาน แต่ช่องทางสื่อสารตามสาย ยังสามารถสอดแทรกข้อมูล กิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงนโยบาย และกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท ที่ส่งตรงถึงพนักงานทุกคนทุกระดับให้เข้าใจได้ตรงกัน และทุกครั้งที่พนักงานทำความดีในเรื่องต่างๆ ทั้งในและนอกองค์กร คลื่นแห่งสายใยฯ ก็จะทำการประชาสัมพันธ์ความดีนั้น ผ่านเสียงตามสาย นับเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่คนทำงานไม่น้อย และไม่น่าเชื่อว่าการเอาใจใส่ต่อวันเกิดของพนักงาน ก็กลายเป็นอีกหนึ่งทางของนวัตกรรมความสุขได้
นอกจากวั้นหยุดพิเศษ 1 วัน และการตรวจสุขภาพประจำปีฟรี ที่องค์กรมอบให้เป็นสวัสดิการสำหรับพนักงานที่เกิดในเดือนนั้นๆ แล้ว โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังมีการจัดงานวันเกิดให้พนักงานทุกคน ทุกระดับชั้น เดือนละ 1 ครั้ง หรือก็คือกิจกรรม "Monthly Staff Brithday Party" ที่ผู้บริหารและพนักงานทุกคน จะมาร่วมร้องเพลงอวยพรวันเกิดและรับประทานเค้ก พร้อมทั้งรับมอบของขวัญจากผู้บริหาร ซึ่งนอกจากช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กรแล้ว ยังเป็นการให้ใจแก่พนักงาน ที่ตอบแทนคืนกลับมาด้วยการปฏิบัติงานด้วยหัวใจเต็มร้อย
ซึ่งมาพร้อมกับอีกนวัตกรรมความสุขที่น่าสนใจ "Self-Scheduling Book Online" ที่ให้พนักงานของโรงพยาบาล สามารถออกแบบจัดตารางเวรหรือตารางการทำงาน วัดหยุด หรือวันลาพักร้อน ตามที่ต้องการได้ด้วยตนเองผ่านระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ โดยสามารถทำได้ทุกที่ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน และยังสามารถแก้ไขได้ตลอด จนกว่าจะมีการนำข้อมูลมาจัดเป็นตารางการทำงานจริง
"เป็นการเน้นให้พนักงานได้บริหารจัดการตนเอง ที่สอดคล้องไปกับตารางเวรของแต่ละแผนกอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ช่วยเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน ที่สำคัญหัวหน้าแผนกสามารถวางแผนจำนวนของแต่ละวันได้อย่างแม่นยำ ยังช่วยลดใช้กระดาษ"
ตบท้ายที่นวัตกรรมสร้างสุขให้กับชุมชน "ธนาคารเหล้า" แห่งแรกในประเทศไทย จากความคิดสร้างสรรค์ของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านไร่สวนลาว จ.ชัยนาท ที่ต้องการให้คนในชุมชนลด ละ และเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยการเปิดธนาคารให้คนนำเหล้าที่เคยดื่ม มาฝากไว้ตามระยะเวลาที่กำหนด 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี หรือตลอดชีวิต และได้ดอกเบี้ยเป็นเงินดอกผลจากเงินกองทุนหมู่บ้าน
ลักษณะการทำงาน จะเป็นการติดตามเยี่ยมบ้านของผู้ที่ฝากเหล้าไว้กับธนาคาร อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อสร้างกำลังใจและรับทราบถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น และหากใครเลิกดื่มแอลกอฮอล์ได้ ในงานประจำปีของหมู่บ้านจะมีพิธีมอบใบประกาศและของที่ระลึก พร้อมยกย่องให้เป็นบุคคลต้นแบบของชุมชน
นวัตกรรมแห่งความสุขที่น่าสนใจยังมีอีกหลากหลายกระบวนการ ที่สามารถเรียนรู้นำไปปรับใช้กับองค์กรหรือชุมชนได้ง่ายๆ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.happy8workplace.com.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์