ชวนพ่อแม่เป็น Play worker เพื่อให้ลูกได้เล่นอิสระ
ที่มา : บทความเรื่อง I PLAY, THEREFORE I AM เพราะ “การเล่น” คือหน้าที่ของเด็กปฐมวัย
แฟ้มภาพ
ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องของการเล่นอย่างแท้จริง และอาจเผลอวางกรอบให้ลูกๆ โดยไม่รู้ตัว เด็กๆ จึงถูกชี้นำตั้งแต่เล็ก ทำให้พ่อแม่ไม่เห็นว่า ที่จริงแล้วลูกเราเป็นยังไง ชอบอะไร มีศักยภาพอะไร เด็กจึงโตไปเป็นเด็กดีของพ่อแม่ เป็นไปตามความต้องการของผู้ใหญ่ แต่ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง
นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิด “การเล่นอิสระ” ที่ปรับเปลี่ยนหน้าที่ของผู้ใหญ่เสียใหม่ แล้วคืนบทบาทการเป็นศูนย์กลางของการเล่นให้กับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก อายุ 0 – 6 ปี เพราะนี่คือวันและวัยที่พวกเขาควรจะได้เล่นตามความต้องการของตนเอง
แล้วพ่อแม่ จะเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น Play worker ที่ช่วยให้เกิดการเล่นอิสระได้อย่างไร? ลองมาดูแนวคิดและวิธีการ จาก พี่โรส ประสพสุข โบราณมูล ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก สถาบันสื่อเด็กและเยาวชนกัน
1. เข้าใจความสำคัญของการเล่นอย่างแท้จริง : การเล่นเป็นธรรมชาติและความต้องการของเด็ก การปล่อยให้เด็กได้เล่นอิสระ เด็กจะเล่นอย่างมีความสุข เมื่อเด็กมีความสุข พ่อแม่จะเห็นตัวตนของลูก เห็นศักยภาพที่มีอยู่ในตัวลูกมากขึ้น และช่วยส่งเสริมให้ลูกได้เดินต่อไปในทางที่เขาต้องการ เพราะฉะนั้น พ่อแม่ต้องเริ่มจากการเชื่อว่าเรื่องเล่นมีประโยชน์กับลูกอย่างแท้จริงเสียก่อน
2. เลือกของเล่นอย่างไร ในเมื่อ “อะไรก็เล่นได้” : พ่อแม่สามารถเลือกของเล่นให้ลูกได้หลากหลาย ตั้งแต่การพาออกไปเล่นในสวน ไปสัมผัสธรรมชาติ จัดมุมของเล่นไว้ในบ้าน โดยเตรียมของเล่นชิ้นส่วนง่าย ๆ หรือเตรียมของเล่นไม่สำเร็จรูป อย่างกล่องกระดาษที่ไม่ใช้แล้วไว้ให้ลูก ซึ่งของเล่นแสนธรรมดาเหล่านี้เองจะช่วยให้เด็กต่อยอดจินตนาการ มองเห็นคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งรอบตัวมากขึ้น
3. รู้ว่าเสี่ยง แต่คงต้องให้ลอง : พ่อแม่ควรเข้าใจการเล่นกับความเสี่ยง อย่างเช่นการปีนขึ้นที่สูง หรือการปีนต้นไม้ เมื่อเห็นลูกปีนสูงขึ้นไปแล้วละล้าละลัง กลัวตก เราจะพบทั้งพ่อแม่ที่กดดันลูกด้วยการเชียร์ให้ไปต่อ และพ่อแม่ที่ทำให้ลูกกลัวด้วยการบอกว่า ระวังนะจะตกแล้ว และตะโกนต่อว่าลูกให้ลงเดี๋ยวนี้
บทบาทของพ่อแม่ในสถานการณ์นี้ ควรเป็นการช่วยลูกประเมินความเสี่ยง ว่าลูกพร้อมที่จะไปได้ไกลแค่ไหน เมื่อลูกลังเล พ่อแม่ควรเฝ้ามองดูก่อนสักพักเพื่อให้เขาได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง แล้วค่อยเข้าไปเมื่อรู้สึกถึงว่าเขาต้องการเรา ลองถามลูกว่ารู้สึกยังไง อยากไปต่อหรือเปล่า แล้วให้เด็กเป็นคนตัดสินใจเอง โดยมีพ่อแม่อยู่เคียงข้างเสมอไม่ว่าเขาจะเลือกตัดสินใจแบบไหน ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกก้าวผ่านความกลัว จนเกิดเป็นความมั่นใจในตัวเองได้
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากทำความรู้จักกับ “การเล่นอิสระ” ให้มากกว่านี้ คลิกอ่าน บทความเรื่อง I PLAY, THEREFORE I AM เพราะ “การเล่น” คือหน้าที่ของเด็กปฐมวัย ได้ที่นี่เลย