ชวนพ่อแม่ที่มีลูกวัย 0-6 ปี ร่วมกระตุ้นพัฒนาสมองเด็ก
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เผยเด็กวัย 0-6 ปี เป็นระยะ“วิกฤติพัฒนาการทางสมอง” ที่พ่อแม่ต้องกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 6 ซ้ำๆ โดยใช้หนังสือเป็นสื่อ เพื่อพัฒนาสมองเด็กให้เกิดการเรียนรู้เชื่อมโยงกัน พร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักถูกผิด มีจริยธรรม ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้
นางสาวสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า เด็กวัย 0-6 ปี พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถพัฒนาการเรียนรู้ตามช่วงอายุของเด็กได้เพราะช่วงเวลาดังกล่าวคือ “ระยะวิกฤติพัฒนาทางสมอง” ตามการค้นพบของนักทฤษฎี “หน้าต่างแห่งโอกาส” ที่พบว่า ช่วงเวลา 0-6 ปีของเด็กแรกเกิด เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ดีที่สุดของการเรียนรู้ที่ธรรมชาติมอบให้
หนังสือเปรียบเสมือนของเล่นชิ้นสำคัญของเด็กที่พ่อแม่ควรให้ลูกได้หยิบจับและอ่านให้เด็กฟัง ซึ่งจะทำให้ระบบสายใยประสาทเกิดการเชื่อมต่อกัน การอ่านให้เด็กฟังตั้งแต่ทารก ยังเป็นการบ่มเพาะสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เมื่อเด็กได้เรียนรู้ผ่านความรู้สึกรักก็จะช่วยให้มีโอกาส จดจำได้ดี และจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีนิสัยพึงประสงค์ของสังคม
พ่อแม่ผู้ปกครองควรเริ่มต้นให้เด็กอ่านหนังสือได้ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทารก เนื่องจากตามหลักการแพทย์พบว่าเด็กทารกจะเริ่มปรับโฟกัสสายตาได้ตั้งแต่อายุ 4-6 เดือน ดังนั้นผู้ใหญ่จึงควรฉกฉวยช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก มิฉะนั้นแล้ว กระบวนการทำงานของสมองก็จะขาดหายไปตลอดกาล โอกาสแห่งการพัฒนาจะล่วงผ่านเลยไป ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้
ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า ถึงแม้ช่วงที่เป็นทารกนั้นเด็กจะยังอ่านหนังสือไม่ออก แต่ถ้าหากพ่อแม่หยิบยื่นหนังสือภาพที่มีภาพวาดเสมือนจริงให้เด็กในระยะ 4-6 เดือนได้ดู หนังสือภาพจะมีส่วนในการกระตุ้นการมองเห็น และเมื่อพ่อแม่อ่านเรื่องให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล จะส่งผลดีด้านภาษาแก่เด็ก เป็นโอกาสให้เด็กได้สะสมคลังคำ ซาบซึ้งในเนื้อหา เกิดจินตนาการสร้างสรรค์
“การที่พ่อแม่เข้าใจว่าเด็กทารกยังไม่อ่านนั้นเป็นความเข้าใจผิด เพราะความจริงคือเด็กมองเห็นภาพ เรียนรู้ผ่านภาพ เขาจะมองว่าหนังสือเป็นของเล่นที่เป็นตัวแทนความรัก และจะจดจำหนังสือออกมาเป็นภาษาภาพ พ่อแม่ที่อ่านหนังสือให้เด็กฟังก่อนเข้าเรียน ป. 1 จะทำให้เด็กอ่านหนังสือได้อัตโนมัติเมื่อเข้าโรงเรียน” ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าว
สำหรับหนังสือภาพที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัย 0-2 ปี นั้น ควรมีขนาดที่เหมาะมือเด็ก มีภาพวาดประกอบต้องชัดเจน เป็นภาพง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ไม่มีฉากรกรุงรัง วัสดุที่นำมาใช้ต้องมีความปลอดภัยจากสารเคมี เพราะเด็กอาจนำเข้าปากหรือเลียหนังสือ มุมของหนังสือต้องไม่คม กระดาษควรมีสีสันถนอมสายตา ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ดังกล่าวพ่อแม่ ผู้ปกครองควรกระตุ้นให้ได้รับการเรียนรู้ซ้ำๆ โดยช่วงวัย 0-6 เดือน เด็กจะเรียนรู้จากหนังสือที่เปรียบเสมือนของเล่นที่คุ้นเคยด้วยการอม กัด ขว้าง ดม ชอบเพลง คำคล้องจอง จึงควรหาหนังสือที่มีขนาดเล็กปลอดภัยสำหรับเด็ก ช่วง 7-12 เดือน เด็กจะชอบหนังสือที่มีภาพชัดเจน
ช่วง 1-2 ปี เด็กจะสนใจภาพมากกว่าเนื้อเรื่องชอบนิทานที่สั้นๆ ในเด็กวัย 3 ปี ถ้าเด็กชอบหนังสือก็จะชอบอ่านไปตลอดชีวิต เด็กจะมีจินตนาการสร้างสรรค์ ชอบให้พ่อแม่อ่านให้ฟังซ้ำๆ และจะเชื่อมโยงหนังสือกับชีวิตประจำวัน วัย 4 – 6 ปี เด็กยังชอบฟังนิทานซ้ำๆ พ่อแม่ผู้ปกครองควรหานิทานที่มีเนื้อเรื่องที่เหมาะสม เพื่อบ่มเพาะนิสัยที่พึงประสงค์ให้กับเด็ก
ที่มา : แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.