ชวนผู้ใหญ่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก

ฉีดวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ป้องกันโรคคอตีบ เพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน ป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง


ชวนผู้ใหญ่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก thaihealth


น.พ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงรณรงค์โครงการให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 20-50 ปีฟรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.57-30 เม.ย.นี้ เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันของผู้ใหญ่กลุ่มนี้ให้สูงเพียงพอที่จะป้องกันโรคคอตีบ ก่อนที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีนี้ ซึ่งจากปัญหาสุขภาพอาจมีโรคระบาดแฝงมากับการเคลื่อนย้ายถิ่น ซึ่งแรงงานข้ามชาติเข้ามามากขึ้น


น.พ.โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบในครั้งนี้ตั้งเป้าให้ครอบคลุมไม่ต่ำกว่า 85% ข้อมูล ณ วันที่ 23 เม.ย.58 ได้ฉีดวัคซีนโรคคอตีบทั่วประเทศไปแล้วจำนวน 12,335,391 คน หรือ 55.16% โดยแยกเป็น ปี 2557 รณรงค์ฉีดวัคซีนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ 87.31% ส่วนในปี 2558 รณรงค์ฉีดวัคซีนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ขณะนี้ได้ 44.07% เฉพาะในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่พบผู้ป่วยสงสัยโรคคอตีบ ฉีดวัคซีนไปแล้ว 37,949 คน หรือ 42.05%


ทั้งนี้ ขอเชิญชวนประชาชนอายุ 20-50 ปี ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไปรับวัคซีน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง โดยสามารถไปรับการฉีดวัคซีนฟรีที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้าน จนถึงวันที่ 30 เม.ย.58 ซึ่งวัคซีนที่ใช้ครั้งนี้เป็นวัคซีนรวม 2 ชนิด คือโรคคอตีบและบาดทะยัก ซึ่งจะทำให้ได้รับการป้องกันทั้งโรคคอตีบและบาดทะยักไปในคราวเดียวกัน ส่วนใหญ่ประชาชนยังเข้าใจผิดว่าเกิดขึ้นเฉพาะในเด็ก ที่จริงแล้วโรคนี้เกิดได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่ไม่มีภูมิต้านทานโรค ที่สำคัญมีผลการสำรวจล่าสุด พบว่าประชาชนกลุ่มอายุ 20-50 ปี มีระดับภูมิต้านทานไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรคคอตีบ มีความเสี่ยงติดเชื้อและป่วยเป็นโรคคอตีบได้สูง โครงการนี้จึงเป็นการป้องกันควบคุมโรคคอตีบในระยะยาวของประเทศ


น.พ.โสภณ กล่าวอีกว่า โรคคอตีบ (Diphtheria) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน เชื้อจะอยู่ในโพรงจมูก ในลำคอผู้ป่วย ติดต่อกันง่ายทางไอจาม สำหรับอาการป่วยคือในระยะแรก มีอาการคล้ายหวัด คือมีไข้ต่ำๆ ไอ เจ็บคอ ต่อมามีแผ่นฝ้าสีขาวอมเทาในลำคอ ในรายที่รุนแรงทางเดินหายใจจะตีบตัน อาจเสียชีวิตได้ อาการแทรกซ้อนที่สำคัญคือ พิษของเชื้อจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจและเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code