ชวนชาวมุสลิม ‘เลิกบุหรี่’ เดือนรอมฏอน
สำนักจุฬาราชมนตรี ร่วมกับ สสม. – สสส. ชวนชาวมุสลิม 39 จังหวัดทั่วไทยเริ่มต้นชีวิตใหม่รวมใจเลิกบุหรี่ในเดือนรอมฏอน
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ห้องอาหารโซเฟีย มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) ร่วมกับ สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมผู้นำศาสนาอิสลาม 39 จังหวัดทั่วประเทศรวมใจรณรงค์เลิกบุหรี่ในเดือนรอมฎอน
นายคณี โยธาสมุทร ผู้อำนวยการศูนย์กิจกรรมภาคกลางมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) กล่าวว่า การจัดโครงการผู้นำศาสนา 39 จังหวัดทั่วประเทศ รวมใจรณรงค์เลิกบุหรี่ในช่วงเดือนรอมฎอนเดือนอันประเสริฐ เพื่อให้ผู้นำศาสนาได้เป็นตัวอย่างในการงดสูบบุหรี่ในช่วงเดือนรอมฎอนและเป็นจุดเริ่มต้นของการลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสิ่งเสพติดชนิดหนึ่งได้ตลอดไป โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นแกนกลางในการรณรงค์ให้สัปปุรุษหยุดสูบบุหรี่ในเดือนรอมฎอน
“สถานการณ์ของชาวมุสลิมที่เสพสิ่งมึนเมาถือว่าน่าเป็นห่วง ซึ่งสิ่งเสพติดเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ผิดต่อหลักศาสนาและทำลายสุขภาพ มีงานวิจัยระบุว่า มีชาวมุสลิมดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากโดยเฉพาะในเขตเมืองและการสูบบุหรี่ยังไม่ลดลงในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในบางพื้นที่ยังมีปัญหายาเสพติด ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมายในสังคม จึงขอให้ช่วงรอมฎอนอันประเสริฐนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นอันดีในการลด ละ เลิกสิ่งเหล่านี้” นายคณี กล่าว
ด้าน ดร.วิศรุต เลาะวิถี ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า บุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามหรือฮาลามตามที่จุฬาราชมนตรีได้วินิจฉัยไว้จึงขอให้อิมามมัสยิดดูแลไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในมัสยิด เนื่องจากการสูบบุหรี่ในมัสยิดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังจะเป็นการทำร้ายคนรอบข้างด้วยจึงเป็นฮาลาม (สิ่งต้องห้าม) และเนื่องจากเดือนรอมฎอนเป็นเดือนต้องห้ามการสูบบุหรี่ในเวลากลางวันอยู่แล้ว จึงขอให้ทุกท่านเริ่มต้นหยุดสูบบุหรี่ในเดือนนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีของท่านและคนรอบข้างตลอดไปและเพื่อถวายแด่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) และมัสยิดเป็นสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 อยู่แล้ว โดย สสม.ร่วมกับ
สสส. ขยายพื้นที่ปลอดบุหรี่ “รวมพลัง ทวงสิทธิ์ ห้ามสูบ” ในพื้นที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย 100% ด้วยการรณรงค์ติดสติ๊กเกอร์ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะถือเป็นการรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงพิษของควันบุหรี่ร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันมีมัสยิดปลอดบุหรี่ 10 จังหวัดทั่วประเทศ
“การส่งเสริมให้ชุมชนร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะโดยมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ มีส่วนช่วยทำให้เกิดการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปัญหาและข้อเสนอแนะทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาวะ ซึ่งครอบคลุมในทุกๆ ด้านของชีวิต ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ถือเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิมที่ควรปฏิบัติตนตามหลักศาสนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อตนเองและครอบครัวอีกด้วย” ดร.วิศรุต กล่าว
ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 เขตปลอดบุหรี่ 11 กลุ่มสถานที่ ประกอบด้วย 1.สถานบริการสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา สปา 2.สถานศึกษา 3.สถานที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น สนามกีฬา สระว่ายน้ำ 4.ร้านค้า ร้านอาหาร สถานที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต 5.สถานที่พักอาศัย โรงแรม อาคารชุด 6.สถานที่ให้บริการทั่วไป เช่น ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส ร้านเสริมความงาม ร้านตัดผม 7.สถานที่ทำงาน เช่น สถานที่ราชการ ที่ทำงานเอกชน ธนาคาร โรงงานอุตสาหกรรม 8.สถานที่สาธารณะทั่วไป เช่น ตลาด สวนสาธารณะ สุขาสาธารณะ สวนสัตว์ สนามเด็กเล่น 9.ศาสนสถาน เช่น วัด โบสถ์ มัสยิด 10.สถานีขนส่งทุกประเภท และ 11.ยานพาหนะทุกประเภท
หน่วยงานและประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อขอรับสติ๊กเกอร์รณรงค์ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nonsmokersright.com หรือ www.ทวงสิทธิ์ห้ามสูบ.com
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข