ชวนชายไทยใช้สิทธิ์ “พ่อจ๋า…ลาคลอดมากอดหนู”

เมื่อการดูแลลูกไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นภาระของผู้ชายด้วย โดยเฉพาะช่วงหลังคลอดคุณแม่ ยังสุขภาพอ่อนแอต้องการการดูแลเอาใจใส่ จึงจำเป็นที่ต้องมีคุณพ่อคอยช่วยเหลือ แต่หลังมติ ครม.อนุญาตให้พ่อลาคลอดมาช่วยดูแลภรรยา ก็มีคำถามตามมาว่า “ผู้ชายไทยได้ใช้สิทธิ์มากน้อยแค่ไหน”

ผู้แทนข้าราชการชายที่ใช้สิทธิพ่อลาคลอด นพ.ณัฐวิทย์ มีกุล แพทย์ประจำโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เล่าถึงประสบการณ์เลี้ยงดูลูกในช่วงแรกเกิด 15 วัน ในเวทีเสวนา “วิเคราะห์และสังเคราะห์การสื่อสารเพื่อการใช้สิทธิ์พ่อลาคลอด” ว่า หลายคนยังมีข้อสงสัยว่า ถ้าผู้ชายลาคลอดแล้วจะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ภาระหน้าที่ช่วงที่ลูกแรกเกิดนั้นมีมาก เพราะสุขภาพของคุณแม่จะต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัวอย่างน้อย 1 เดือน โดยในช่วงนี้คุณพ่อก็ต้องคอยช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการซักเสื้อผ้าของคุณแม่และผ้าอ้อมของลูก ตลอดจนงานบ้านสารพัดอย่าง

“ปัจจุบันการหาพี่เลี้ยงที่ไว้ใจได้ มาเลี้ยงลูกของเรานั้นถือเป็นเรื่องยาก อีกทั้งค่าจ้างพี่เลี้ยงแพงมาก อาจจะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างหนักให้กับครอบครัว ซึ่งอย่างไรก็ตามเชื่อว่า ไม่มีใครเลี้ยงดูลูกของเราได้ดีกว่าพ่อกับแม่เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง แต่มุมมองของผู้ชายแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันออกไป และผมเชื่อว่าเมื่อวันหนึ่งเขาได้มีโอกาสเป็นพ่อคน ก็จะเข้าใจได้เองว่า 15 วันที่ใช้สิทธิ์ไปดูแลลูกและภรรยานั้นเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นเอง”

ขณะที่ นายจะเด็จ เชาว์วิไล มูลนิธิหญิงชายกว้างไกลเล่าเสริมว่า ความเป็นเพศชายมีความเป็นตัวตนสูงมาก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การปรับความคิด เปลี่ยนทัศนคติของผู้ชายให้เข้าใจมิติเรื่องเพศมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาพบว่าผู้ชายส่วนใหญ่คิดว่าการดูแลลูก หรือทำงานบ้านนั้นเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว

“อยากส่งเสริมให้ผู้ชายเห็นว่าการช่วยภรรยาเลี้ยงลูกนั้น เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง มากกว่าน่าอาย การสร้างค่านิยมขึ้นมาใหม่ว่า การทำงานบ้านเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก รวมถึงปรับความเข้าใจว่าการที่ผู้ชายสามารถลาคลอดได้นั้น ผลในระยะยาวที่จะตามมาอย่างเห็นได้ชัดคือ ครอบครัวมีความอบอุ่น การทำงานก็จะดีขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง”

ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเพิ่มเติมว่า ตนในฐานะที่เป็นผู้ชายคนหนึ่งและเคยช่วยภรรยาเลี้ยงลูกมาก่อน เชื่อมั่นว่าผู้ชายทุกคนก็สามารถทำหน้าที่แม่และเลี้ยงดูลูกได้ เพียงแต่อาจจะต้องทำความเข้าใจและยอมรับเท่านั้นเอง ซึ่งที่มากไปกว่าเป็นการสานสายใยรักในครอบครัวแล้ว หากทัศนคติของผู้ชายเปลี่ยนไป ก็จะนำไปสู่การให้เกียรติผู้หญิงและยอมรับกันและกันมากขึ้นด้วย

ทางด้าน ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวณิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นในฐานะคุณแม่อีกคนหนึ่งว่า ความจริงแล้วผู้หญิงเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าผู้ชายจะต้องมาช่วยเลี้ยงลูก 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะแค่เพียงคุณพ่อมาอยู่ใกล้ๆ ช่วยหยิบจับสิ่งของต่างๆ คนเป็นภรรยาก็ดีใจแล้ว เพราะรู้สึกว่าเป็นความอุ่นใจมากกว่า

 “นอกจากนั้นการที่คุณพ่อมีเวลาคอยดูแลและช่วยเหลือคุณแม่หลังคลอด ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย ซึ่งจากประสบการณ์ทำให้เห็นว่าบทบาทของคุณพ่อมีส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นครอบครัวได้เป็นอย่างดี เพราะลูกไม่ได้เกิดมาจากคนๆ เดียว ดังนั้นการเลี้ยงดูลูกก็ต้องช่วยกันไปทั้งสองคน”

ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ เล่าต่อว่า มีการค้นพบที่น่าสนใจว่า ผู้ชายที่อยู่ในยุคของคนรุ่นใหม่จะมีทัศนคติของความรับผิดชอบมากกว่าและต้องการจะลาคลอดเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตรมากกว่า ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนที่อายุ 80 ปีขึ้นไป หรือคนรุ่นหลังกลับยังรู้สึกว่า เรื่องราวเหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้หญิง

ส่วนคุณพ่อภาคเอกชนไม่ต้องเสียใจ ขณะนี้กำลังมีการขับเคลื่อนเพื่อให้คลอบคลุมสิทธิ์ลาคลอดไปถึงภาคเอกชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงความคืบหน้าไว้ว่า ทาง พม. ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานดูแล เนื่องจากการออกระเบียบของภาคเอกชนยังต้องอาศัยการแก้กฎหมายซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และรณรงค์ทำความเข้าใจ ศึกษาข้อมูลหลายด้าน

“การที่ผู้ชายลาคลอดไม่อยากให้มองว่าเป็นการใช้สิทธิ์ แต่ให้ความสำคัญกับครอบครัว ซึ่งเราเห็นปัญหาในปัจจุบันเราเห็นว่า ครอบครัวขาดความอบอุ่น ดังนั้นการที่สามีได้มีวันหยุดเพื่อมาดูแลภรรยาที่เพิ่งคลอดเป็นจุดที่สานความสัมพันธ์ของครอบครัวได้มากกว่าที่เลี้ยงตามลำพัง หรือพี่เลี้ยงเด็ก ซึ่งที่ผ่านมาผู้ชายก็ถูกมองว่าไม่ช่วยเลี้ยงลูก แต่ความจริงเขาอาจต้องการ เพียงแต่ไม่มีโอกาส”

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ในต่างประเทศเขาค่อนข้างจะให้ความสำคัญต่อครอบครัวอบอุ่น ซึ่งให้ผู้ชายลาคลอดไปดูแลลูก และมองถึงความสำเร็จในระยะยาว เรามองว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นซึ่งยังไม่ได้รับความสนใจเพราะคนที่ยังไม่มีครอบครัว แต่เชื่อว่าเมื่อเขามีครอบครัวเขาจะต้องการใช้สิทธิ์ เท่าที่เห็นคือ องค์กรเอกชนที่เข้าใจ ทุกคนมองว่า ถ้าครอบครัวเข้มแข็งและเด็กที่เกิดมาจะมีคุณภาพและสามารถสร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติต่อไปได้

 

 

ที่มา : ภาวิณี เทพคำราม team content www.thaihealth.or.th

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ