ชวนกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย

ที่มา : เว็บไซต์บ้านเมืองออนไลน์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ช่วยกันกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย thaihealth


แฟ้มภาพ


สธ. เผยคนรับรู้ข้อมูล และตื่นกลัว “ซิกา” แต่ไม่ช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลายเท่าที่ควร วอนประชาชนร่วมด้วยช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หวังตัดวงจรการแพร่ระบาด


น.พ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวัง และแนวทางป้องกันหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิกาที่พบเด็กทารกศีรษะเล็ก 2 รายว่า ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า เป็นเคสที่พบน้อยมาก ไม่ใช่ว่าหญิงตั้งครรภ์ทุกคนจะคลอดเด็กศีรษะเล็กทุกคน เพราะสาเหตุไม่ใช่เพียงเชื้อซิกา แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก อาทิ หัดเยอรมัน เป็นต้น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการป้องกันยุงไม่ให้ยุงกัด โดยการกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย และกำจัดยุงตัวแก่ จึงควรถือวิกฤติเป็นโอกาสในการร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย พร้อมทั้งภาครัฐก็จะไปช่วยในเรื่องพ่นหมอกควันยุงตัวแก่ โดยทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ซึ่งการกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลายไม่ใช่แค่ในบ้าน แต่ในโรงเรียน วัด สถานที่ต่างๆ ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งขณะนี้น่าตกใจว่ากลับพบลูกน้ำยุงลายมากในวัด ซึ่งก็ลงพื้นที่ไปให้ความรู้ และช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายอยู่


ด้าน น.พ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. ประชุมทางไกลผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โดยกำชับให้มีการเฝ้าระวังและป้องกันโรคซิกาอย่างเข้มข้น ทั้งเรื่องของการกำจัดลูกน้ำยุงลาย และเฝ้าระวังหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยซิกาเป็นพิเศษ โดย น.พ.โสภณ กล่าวว่า ดัชนีลูกน้ำยุงลายบางสถานที่ถือว่าน่าเป็นห่วง โดยศาสนสถานพบร้อยละ 60.47 โรงเรียนร้อยละ 41.40 โรงงานร้อยละ 38.10 และโรงพยาบาลร้อยละ 27.59 ส่วนในบ้านประชาชนแหล่งที่พบลูกน้ำยุงลายในภาชนะมากที่สุด คือ ภาชนะที่เก็บน้ำใช้พบถึงร้อยละ 70 รวมทั้งในภาชนะที่ไม่ใช้ประโยชน์ และยางรถเก่า


นอกจากนี้ จากการทำโพลเกี่ยวกับการรับรู้ซิกาของประชาชน พบว่า ประชาชนรับรู้และตื่นกลัวต่อโรคซิกาถึง 80% แต่พฤติกรรมการจัดการกับปัญหายังไม่ดี คือ มีการลงมือปฏิบัติเพื่อป้องกันเชื้อซิกา เช่น กำจัดลูกน้ำยุงลาย เพียง 50-60% เท่านั้น ซึ่งย้ำว่าการจะควบคุมโรคนี้ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน อย่างบางแห่งสอบสวนโรคพบผู้ป่วยแต่ละแวกบ้านแถวนั้นไม่ยอมให้เข้าไปกำจัดยุง

Shares:
QR Code :
QR Code