ชมรมพนักงานสอบสวนหญิง `คดีเด็ก-ผู้หญิง` ตำรวจเข้าใจ
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากเพจพนักงานสอบสวนหญิง
ถูกคุกคามทางเพศ ถูกสามีทำร้าย อยากไปแจ้งความกับตำรวจ แต่ไม่กล้า อาย กลัวถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สำคัญ ใน พ.ศ.นี้อาจต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะเดี๋ยวนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีพนักงานสอบสวนหญิง (พงส.หญิง) ประจำในหลายสถานีตำรวจ ซึ่งพร้อมจะเข้าใจคดีที่มีความละเอียดอ่อน และที่ดีไปกว่านั้น คือการที่ พงส.หญิง รวมกลุ่มกัน ภายใต้ "ชมรมพนักงานสอบสวนหญิง"
พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว วรรณฉวี พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สน.มักกะสัน ในฐานะประธานชมรมพนักงานสอบสวนหญิง เล่าว่า จริงๆ พงส.หญิงเริ่มแต่งตั้งเป็นครั้งแรกในปี 2538 เป็นการทดลองรุ่นแรกที่มี 15 คน ซึ่งตนคือหนึ่งในนั้น จากนั้นปี 2542 สตช.ประเมินแล้วว่าการมี พงส.หญิงมีประโยชน์จริง จึงได้แต่งตั้ง พงส.หญิงเพิ่มอีกเรื่อยมาประมาณปีละ 60 คน จนปัจจุบันมี พงส.หญิงประจำอยู่ทั่วประเทศกว่า 400 คน
"เดิม พงส.หญิงจะถูกมอบหมายให้ทำคดีเกี่ยวกับเพศ เด็ก และผู้หญิงอยู่แล้ว จนปี 2555 ที่ สตช.ออกคำสั่งเป็นทางการให้ พงส.หญิงมีหน้าที่รับผิดชอบทำการสอบสวนคดีความ อาทิ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความ รุนแรงในครอบ ครัว พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ คดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกิน 10 ปีบริบูรณ์ คดีเหล่านี้เป็นกฎหมายเฉพาะทาง ที่วิธีการสอบสวนจะแตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป เพราะนอกจากจะต้องสอบข้อเท็จจริงแล้ว ผู้สอบจะต้องพิจารณาส่งต่อ ประสานงาน ผู้เสียหายไปฟื้นฟูเยียวยาและรับการสงเคราะห์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพนักงานสอบสวนทั่วไปอาจไม่เข้าใจความละเอียดอ่อนนี้ ดิฉันซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่รู้แนวทาง จึงร่วมกับเพื่อนๆ พงส.หญิงรวมกลุ่มเป็นชมรม เพื่อเป็นช่องทางถ่ายทอดประสบการณ์ สร้างเครือข่าย สร้างความเข้มข้นในการทำงานของ พงส.หญิง"
ชมรมพนักงานสอบสวนหญิงได้ก่อตั้งช่วงปลายปี 2557 ภายใต้สมาคมพนักงานสอบสวน เริ่มจากการสร้างเว็บไซต์ ตั้งกลุ่มไลน์ เมื่อสามารถรวมกลุ่มได้และเริ่มมีผลงานปรากฏสู่สังคม อาทิ ออกไปพูดในเวทีเสวนาต่างๆ ให้คำปรึกษาทางคดีกับประชาชนได้ ต่อมาหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็เริ่มสนใจให้การสนับสนุนจัดอบรมพัฒนาทักษะให้สมาชิกมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น อาทิ การอบรมจิตวิทยาการสอบสวน ซึ่งสำคัญมากเวลามีคดีเด็กอายุน้อยๆ ถูกข่มขืนมา จะใช้วิธีการสอบสวนแบบทั่วไปไม่ได้ ซึ่งถ้าไม่มีหน่วยงานมา เราก็ต้องหาทุนกันเอง โดยปัจจุบันมีสมาชิก 200 กว่าคน
"แม้จะมี พงส.หญิงมาสักระยะ แต่ก็ยังพบปัญหาและอุปสรรค คือการที่ผู้เสียหายไม่กล้ามาแจ้งความร้องทุกข์ จะเห็นว่าคดีพวกนี้เกิดขึ้นทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวกับคนในครอบครัว เขาก็ไม่อยากแจ้งความเอาผิดคนในครอบครัว จำนวนคดีที่ขึ้นโรงพักจึงน้อยเมื่อเทียบกับสถิติการไปรักษาตัว ไปขอคำปรึกษาที่มีจำนวนมากที่โรงพยาบาล ฉะนั้นการทำงานจะต้องบูรณาการ มุ่งสงเคราะห์ผู้ถูกกระทำ และทำให้ผู้มาติดต่อได้รับความสะดวก ซึ่งก้าวต่อไปของชมรมคือ การจัดตั้งสำนักงานเป็นทางการ เบื้องต้นกำลังก่อสร้างอยู่ที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนเดือนมิถุนายน ซึ่งจะทำให้ชมรมสามารถทำอะไรได้อีกเยอะแยะ"
พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้วเล่าอีกว่า แต่ พงส.หญิงเวลาอยู่โรงพักทุกวันนี้ ก็ต้องดูคดีทั่วไปด้วย จึงอยากเสนอให้ สตช.แยกคดีเฉพาะทางนี้ ด้วยการตั้งหน่วยงานระดับกองบังคับการเฉพาะคดีเด็กและผู้หญิง โดยมี พงส.จะหญิงหรือชายก็ได้ แต่ขอให้สนใจและเข้าใจความละเอียดอ่อน เข้าใจกฎหมาย รู้ประสานงาน และมีเครือข่ายที่จะคุ้มครองผู้เสียหายเข้ามาทำงาน จริงๆ เคยเขียนโครงการเสนอไปครั้งหนึ่งแล้ว
ทั้งนี้ เนื่องจากบทบาทและอำนาจการตัดสินใจของกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรีที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาจเข้าไปแก้ปัญหาได้ไม่สมบูรณ์แบบ