ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพฯ ขับเคลื่อนเดิน-จักรยานสู่นโยบายสาธารณะ

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “สร้างความเข้าใจร่วมกัน (ก่อน) ผลักดันและขับเคลื่อนเดิน-จักรยานสู่นโยบายสาธารณะ” ขึ้น ที่โรงแรมกานต์มณี พาเลซ ถ.ประดิพัทธ์ กทม.

มีผู้เข้าร่วม workshop ครั้งนี้มากถึง 106 คน ประกอบด้วย กลุ่มผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน องค์กรเอกชน ตัวแทนจากเครือข่ายผู้ใช้จักรยานและรักการเดินฯ และกลุ่มนักวิจัย-นักวิชาการ

การประชุมเริ่มด้วยการบอกเล่าทบทวนวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะในรอบปีที่ผ่านมา และภารกิจที่จะทำกันต่อไป “กิโลเมตรที่ผ่านมา… กับเป้าหมายข้างหน้าที่กำหนดไว้” โดย ทพ. อนุศักดิ์ คงมาลัย ประธานคณะกรรมการกำกับทิศโครงการฯ

จากนั้นเป็นการแนะนำแนวทางและวิธีการจัดกิจกรรมรณรงค์จักรยาน “รณรงค์เดิน-จักรยาน เรื่องง่ายๆ ทำยาก…แต่ทำได้” โดยคุณกิติศักดิ์ อินทรวิศิษฎ์  รองประธานคณะกรรมการกำกับทิศ ได้เล่าพร้อมฉายภาพการรณรงค์จักรยานที่จัดขึ้นในกรุงเวียนนา ออสเตรีย ช่วงที่มีการจัดประชุมจักรยานโลก velo-city 2013 ที่ผ่านมา ว่าเป็นการรณรงค์ขี่จักรยานของเมืองที่มีคนเข้าร่วมเองด้วยที่อยากมีส่วนร่วมไม่มีของที่ระลึก เช่น เสื้อ หรืออาหารกล่องแจก ไม่ต้องมีพิธีรีตองในการเปิดงาน จัดขึ้นในช่วงเย็นหลังเวลาเลิกงานของคนในเมือง ทุกคนแต่งตัวตามสบาย มีสีสันระหว่างทางที่รณรงค์ และที่สำคัญผู้บริหารของเมืองร่วมขบวนด้วย นั่นคือตัวอย่างการจัดกิจกรรมรณรงค์ในต่างแดน พร้อมนี้ ได้เชิญคุณพรเทพ ดิษยบุตร ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพจังหวัดกระบี่ และคุณสัจจา ขุทรานนท์ ประธานชุมชนคนใช้จักรยานแห่งชาติ ขึ้นมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในบ้านเราด้วย 

คุณพรเทพ เล่าถึงการจัดงาน “วันปลอดรถ” (car free day) ปี 2555 ที่บ้านบางผึ้ง จ.กระบี่ ว่าประสบความสำเร็จได้ตามแนวคิดของการรณรงค์ไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว มีคนเข้าร่วมกว่า 600 คน เกินครึ่งหมู่บ้าน มีกิจกรรมสนุกสนาน สื่อมวลชนไปทำข่าว โดยไม่ได้แจกเสื้อหรือของที่ระลึกใดๆ ส่วนคุณสัจจาได้เสริมว่า การรณรงค์ที่ใช้การแจกเสื้อหรือสิ่งของต่างๆ มีค่าใช้จ่ายสูงและนับวันจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อีกทั้งคนที่มาร่วมงานจะมาเพื่อรับของแจก หลายคนเมื่อรับของแล้วก็กลับเลย

จากนั้นมาถึงการแบ่งกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในเรื่องที่ตนทำหรือสนใจทำในด้านการสร้างชุมชนจักรยาน เครือข่ายผู้ใช้จักรยาน และงานวิจัย ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างคึกคัก ทำให้ได้เห็นสภาพการณ์ในแต่ละท้องถิ่นและแนวทางในการส่งเสริมการใช้จักรยานที่หลากหลายเหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่นั้น 

ช่วงบ่ายเป็นรายการ “ชวนภาคี…ทำบัญชีให้ถูกต้อง” ซึ่งเป็นการชี้แจงและแนะนำการจัดทำเอกสารการเงิน ตั้งแต่งบประมาณ บัญชี รายงาน และเอกสารประกอบต่างๆ ที่จำเป็นตามข้อกำหนดของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคำแนะนำของผู้ตรวจสอบบัญชี โดยเจ้าหน้าที่การเงินและนักบัญชีของโครงการฯ และปิดท้ายด้วยการรายงานผลการประชุมกลุ่มย่อยในช่วงเช้า โดยตัวแทนกลุ่มทั้งสาม

ทิ้งท้ายกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ tcc ขอขอบคุณภาคีที่เข้าร่วม และถือว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จัดขึ้น  เพราะภาคีที่มีความสนใจต้องการแนวคิด และตัวอย่างที่ดีก็ได้แนวคิด วิธีการกลับไป  กลุ่มภาคีที่ได้ส่งข้อเสนอโครงการเข้ามาเพื่อรับการพิจารณาสนับสนุนทุน ก็เห็นแนวทางและจุดต่างที่ต้องปรับให้เข้ากับกรอบแนวคิดและทิศทางเดียวกับโครงการฯ  และภาคีเครือข่ายที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่มาก่อนหน้าก็พร้อมปรับการดำเนินงานที่ผ่านมาให้สอดคล้องยิ่งขึ้น ต่างกลุ่มเป้าหมายแต่ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ร่วมขับเคลื่อนและผลักดัน เดิน-จักรยาน สู่นโยบายสาธารณะของสังคมไทย

 

 

ที่มา : ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Shares:
QR Code :
QR Code