‘ชนบท’ ห้องเรียนนอกหลักสูตร ‘เยาวชนคนค่าย’
หลังวิถีชุมชน ภูมิปัญญาถูกละทิ้ง
สังคมถูกขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงด้วยพลังหนุ่มสาว” ยังคงเป็นความจริงท้าทายกาลเวลา เห็นง่ายๆ จากหลักฐานบนประวัติศาสตร์ที่การเปลี่ยนแปลงมิเคยปราศจากพลังเยาวชนเลยสักครั้ง ซึ่งเหตุนี้เองที่กระบวนการสร้างคนหนุ่ม-สาวให้เติบโตเป็นผู้นำสังคม จึงสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น
หากแนวทาง “สร้างคน” ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพียงแค่คิด เห็นได้จากระบบการศึกษา “ในห้องเรียน” ที่นับวันจะทำให้เด็กเกิดความเครียด เรียนรู้กันเพียงเพื่อทำข้อสอบ แต่กระบวนการคิดและตัดสินใจกลับบกพร่อง หรือเรียกได้ว่า รู้เฉพาะตัวหนังสือที่อยู่ในตำรา แต่สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวทั้งประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน ตลอดจนภูมิปัญญาที่ดำรงอยู่มาช้านานกลับถูกละทิ้งขึ้นทุกทีๆ
ตัวอย่างจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ที่ประเด็นเรื่องความเป็น “ชนบท-เมือง” กระทั่ง “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง สร้างอารมณ์ปลุกปั่น เกลียดแค้นกันต่างๆ นานา อาศัยความไม่เข้าใจของระบบสังคมไทยตีความอย่างที่ตัวเองต้องการ
เมื่อระบบการศึกษาในห้องเรียนยังไม่ใช่คำตอบที่ถูกที่สุด กระบวนการเรียนรู้ “นอกห้องเรียน” จึงต้องเข้มข้น โดยเฉพาะการสร้างเสริมประสบการณ์ในวิถีชนบทให้แก่เยาวชนในระบบการศึกษา และ “ค่ายเปลี่ยนคน คนเปลี่ยนความคิด” โดยมูลนิธิโกมลคีมทองนี่เองที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ส่งเสริมให้เป็นกิจกรรมสำหรับการเรียนรู้ในช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมา
โดยไฮไลท์ของโครงการนี้อยู่ที่การลงพื้นที่ของชุมชนต้นแบบหรือชุมชนที่เยาวชนเห็นว่าควรจะเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสะท้อนชีวิตและทำกิจกรรมร่วมกัน
“ที่ปรากฏเห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมคือกิจกรรมได้สร้างเยาวชนที่มีความมุ่งมั่นและมีจิตอาสาที่จะทำงานค่าย โดยโครงการนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสนับสนุนโครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายการทำงานค่าย การพัฒนาศักยภาพของแกนนำต่อยอดจากค่ายเดิม ตอกย้ำแนวคิดการทำค่ายโดยเน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชน ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ที่จะสามารถเข้ามามีบทบาทในการทำประโยชน์เพื่อสังคม เสมือนเป็นอีกพื้นที่หนึ่งในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆ เกิดพื้นที่เครือข่ายในแต่ละภูมิภาค ทั้งยังมีการติดตามเพื่อเก็บข้อมูลเด็กค่ายที่ได้รับทุนจากโครงการว่ามีการพัฒนาและนำประสบการณ์จากการทำงานค่ายไปใช้ในชีวิต การทำงานได้อย่างไรบ้าง”วีรพงศ์ เกรียงสินยศ กรรมการบริหารแผนสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม อธิบายถึงแก่นกิจกรรม ส่วนในมุมของเยาวชนผู้ร่วมกิจกรรมเองต่างบอกถึงความประทับใจ กับการเรียน “นอกห้อง” ชนิดเป็นเสียงเดียวกัน ด้วยพวกเขามีประสบการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่หาซื้อไม่ได้ตามห้างสรรพสินห้า ทั้งกิจกรรมที่ต่างร่วมลงแรงยังสร้าง “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้นภายในจนรู้สึกได้
อย่าง “เอ็ท” สุชาติ แย้มปราศรัย บัณฑิตหมาดๆ จากรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ผลจากการออกค่ายและเรียนรู้ชีวิตในชนบทที่บ้านแม่กำปอง ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ สอนให้เขารู้ถึงชีวิตที่เรียบง่ายตามวิถีของความพอเพียง เช่นเดียวกับการวางแผนในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างเป็นระบบซึ่งถูกบ่มเพาะเมื่อครั้งพบความไม่สะดวกสบายในชนบท ดังนั้นการจัดลำดับความสำคัญและมีสติอยู่เสมอเป็นสิ่งที่เขาติดตัวมาโดยปริยายแม้จะกลับสู่สังคมเมืองแล้ว
“แต่ที่ผมชอบมากคือกิจกรรมที่ทำให้พวกเราได้ปฏิสัมพันธ์กับชุมชน เวลาเรียนในห้องทุกคนรู้ว่าวิถีชีวิตชนบทเอื้อเฟื้อกว่าสังคมเมือง แต่หน้าตาเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้เลย แต่เมื่อผมไปทำค่ายหนนี้ มีกิจกรรมหนึ่งช่วงเกือบถึงเวลาอาหารเย็น พวกเราถูกวางกติกาว่าแต่ละกลุ่มจะได้รับเพียงเนื้อหมูและข้าวสารเท่านั้น ขณะที่วัตถุดิบอื่นๆ ที่ใช้ปรุงอาหาร อาทิ เครื่องปรุง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หม้อ ฯลฯ ต้องไปยืมจากคนในชุมชน เวลานี้เองที่เราได้คุยกับชาวบ้านและทราบถึงประวัติศาสตร์ชุมชน รู้ถึงขนบธรรมเนียมและความสุขอย่างง่ายๆ ในแต่ละวัน”
“บางทีเดินไปยืมหม้อมาทำกับข้าวแต่คุยไปคุยมา กลับยาวจนลืมหิวไปเลย” เขาเล่าพลางหัวเราะ
นอกจากนี้ความประทับใจของ “เอ็ท” อีกอย่างคือ การสร้างนิสัยตั้งประเด็นปัญหาและแสวงหาทางแก้ไขไปพร้อมๆ กัน
“เมื่อมองรอบตัวเราจะเห็นว่าที่ที่เราวนเวียนอยู่เป็นประจำ มีปัญหาและสามารถปรับแก้ไขให้ดีขึ้นหรือไม่ อาทิ ห้องเรียนของเราอาจทำความสะอาดได้ดีกว่านี้ หรือถนนเส้นนี้ในมหาวิทยาลัยถึงเต็มไปด้วยขยะ เราจะเกิดการตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบเพื่อจะพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น”
“พอกลับมาสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ผมมองว่าปัญหาทุกเรื่องสามารถแก้ไขได้ทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องยากอะไรมากนัก แต่ที่สำคัญคือเราต้องมองให้เห็นปัญหาและหาทางจัดการกับมันให้ได้” เอ็ท อธิบาย
ส่วนประสบการณ์ของ “สมคิด พินิจ” (เอฟ) มหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย-แปซิฟิก ที่พากลุ่มชมรมค่ายอาสาพัฒนาชุมชน ไปทำกิจกรรมถึงโรงเรียนบ้านหนองทัพ ต.เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เล่าว่า แต่เดิมตัวเองเป็นคนเครียดเมื่อเจอกับงานหรือปัญหาที่รุมล้อมเข้ามา หากแต่เมื่อสร้างประสบการณ์จากงานค่าย ตนกลายเป็นใจเย็นขึ้น พร้อมจะทำงานหนักโดยไม่กังวลจนเกินไป
“เพราะรู้ว่าทุกปัญหามีทางออก ขอแค่เรามีสติและทำให้มันเต็มที่ แรกๆ ผมก็คิดว่างานนั้นเราคงทำไม่ได้หรอก แต่ตอนนี้ไม่แล้ว เมื่อตั้งใจทำไปเรื่อยๆ มันก็เสร็จ ลงค่ายครั้งนี้ค่ายเราทั้งเรียนรู้และสร้างไปพร้อมๆ กัน”
ขณะที่ “รันดร์” นิรันดร์ ฉายจรุง มหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดกาฬสินธุ์ บอกว่า หลังทำงานหนนี้ เขากลายเป็นคนที่เปิดใจยอมรับความเห็นของผู้อื่นมากขึ้น ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนที่อายุน้อยกว่า หากสิ่งสำคัญคือการคุยด้วยเหตุและผล
“จากเดิมเราก็มั่นใจในตัวเรา เวลารุ่นน้องพูดอะไรก็ไม่ค่อยฟัง แต่เมื่อทำงานร่วมกัน เจอปัญหาที่ไม่เคยพบมาก่อนพร้อมกัน เราก็ฟังมากขึ้น ไม่คิดว่าเราเป็นรุ่นพี่แล้วน้องๆ ต้องเชื่อเราตลอด มันเหมือนกับสอนประชาธิปไตยนอกห้องเรียน ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน พูดกันโดยใช้เหตุผล เราถอยคนละก้าวแล้วเปิดใจเข้าหากัน ทำเช่นนั้นพอตกลงกันได้มันก็เกิดความสามัคคี งานที่เป็นอุปสรรคก็ถูกจัดการได้เร็วขึ้น” เป็นหลักสูตรที่ว่าด้วยการจัดการอุปสรรคและประชาธิปไตยนอกห้องเรียนผ่านชีวิตชนบท
หากการศึกษาในห้องเรียนได้ปริญญาบัตรเป็นผลลัพธ์ของความสำเร็จ การเรียนรู้นอกห้องเรียนคงมอบประสบการณ์และแรงกระตุ้นให้เยาวชนเหล่านี้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง และพร้อมจะสร้างสรรค์ สิ่งดีๆ ให้สังคม เสมือนเป็นพลังงานในตัวคนหนุ่มสาว ที่พร้อมจะเปลี่ยนโลกในวันต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
update:20-07-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่