ฉลาดรักฉลาดเลี้ยง ฝึกเป็นพ่อแม่เลี้ยงบวกเพื่อสุขภาพที่ดีของลูก
เรื่องโดย อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจากงานวิ่งกับลูก ครั้งที่ 1 (Positive Parenting Fun Run)
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เด็ก เยาวชน และครอบครัวไทย ไม่เพียงจะเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังพบกับสถานการณ์ความเปราะบางต่อเนื่องทับถม ชวนวิตกกังวลถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างรุ่น นับวันรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นการคุกคาม บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว มากพอที่จะส่งผลกระทบระยะยาวไปตลอดชีวิต หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง
ลูกคลั่ง! ตีพ่อ ตีแม่…พ่อแม่ทำร้ายลูก…เยาวชนจบชีวิตตัวเอง…จากข่าวสะเทือนขวัญมากมายในปัจจุบัน ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าเหตุใด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น…
ปี 2565 กรมสุขภาพจิต ได้มีการศึกษาพฤติกรรม อารมณ์ และสังคม ปัจจัยต่าง ๆ ที่นำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชระยะยาว ในกลุ่มเด็กอายุ 10-19 ปี พบว่า 1 ใน 7 คน มีความผิดปกติทางอารมณ์ และวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี ร้อยละ17.6 มีความคิดทำร้ายตนเองและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นอีกด้วย
ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาของเด็กหรือผู้ปกครองในยุคนี้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของครอบครัวเป็นรากฐานสำคัญ ทักษะการเลี้ยงดูเชิงบวกจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่ง ที่ช่วยสร้างเด็กไทยคุณภาพให้ประเทศ และลดปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นลงได้ในที่สุด บางโรคสามารถรักษาได้ด้วยความเข้าใจในพัฒนาการตามวัยของลูก
เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกเชิงบวก และเอื้อต่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกกับพ่อแม่ จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรม “วิ่งกับลูก ครั้งที่ 1 Positive Parenting Fun Run” สสส. สานพลังภาคีเครือยข่าย สนับสนุนให้ประชาชนออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และใช้เวลาว่างสร้างสัมพันธภาพเชิงบวกในครอบครัว ที่สอดแทรกทักษะการเลี้ยงดูแบบง่าย ๆ
นพ.สุวัฒน์ มหัตนิรันดร์กุล ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวในวันเปิดงานว่า “การจัดกิจกรรม วิ่งกับลูก ครั้งนี้ เพื่อให้เกิดทักษะการเลี้ยงลูกเชิงบวก จะทำให้เด็กมีสุขภาพทางกายที่ดี ผ่านฐานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาลูกให้สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ขอขอบคุณแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพจิต สสส. และเครือข่ายจากทุกภาคส่วน ที่มีส่วนร่วมและมาให้ความรู้ร่วมกัน ”
ด้าน ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เสริมว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวยุคใหม่ เราจะเห็นถึงความเหินห่างของครอบครัวอยู่เรื่อย ๆ แม้กระทั่งเคสเยาวชนรุมทำร้ายคนเร่ร่อนที่เพิ่งเกิดขึ้น เนื่องจากความไม่สามารถดูแลสภาพจิตใจของคนในครอบครัวได้ จึงเกิดช่องว่างระหว่างผู้ปกครองกับลูก
ฉะนั้น กิจกรรมในงาน Positive Parenting Fun Run จะเป็นรากฐานที่ดี ที่ทำให้สัมผัสเรียนรู้ถึงการสร้างทักษะเลี้ยงดูเชิงบวกมากขึ้น โดยแค่เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ “ชื่นชม กอด และสื่อสารเชิงบวก” ทำให้การเลี้ยงดูแบบ Positive Parenting เป็นมาตรฐานของครอบครัว ชุมชน และสังคม ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตระดับสังคมได้ เพราะการมีสุขภาพที่ดีในครอบครัว เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา
หนึ่งในมาตราการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตที่ได้ผล คือ การสนับสนุนการเลี้ยงดูที่ดีตั้งแต่เด็ก ที่จะช่วยให้เด็กมีรากฐานทางจิตใจ อารมณ์ สังคมที่ดี และ สสส. ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพในทุกมิติ กาย จิต ปัญญา สังคม ส่งผลต่ออนาคตแบบยั่งยืน ดร.ชาติวุฒิ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. ที่มาร่วมงานวิ่งกับลูกครั้งนี้ เล่าถึงการสื่อสารเชิงบวก ว่า…ไม่ว่าวัยไหนก็ตาม ต่างต้องการการชื่นชม ซึ่งพ่อแม่เป็นส่วนสำคัญที่คอยสร้างอนาคตให้เติบโตขึ้นมาเป็นบุคคลคุณภาพให้กับประเทศ
“ต่างจากการสอนในเชิงออกคำสั่งบังคับ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ ย่อมส่งผลให้เด็กขาดความคิดสร้างสรรค์ ไม่มั่นใจในสิ่งที่กำลังจะทำ กลายเป็นว่าจะรอให้ผู้ใหญ่ออกคำสั่ง ซึ่งแนวทางการสื่อสารเชิงบวกนี้”
รศ.ดร.สมิทธิ์ กล่าวถึง กิจกรรม “วิ่งกับลูก ครั้งที่ 1 Positive Parenting Fun Run” การดูแล อบรม เลี้ยงดูลูก เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ที่เรียกว่า Positive Parenting ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถนำไปปรับใช้กับลูกได้จาก 5 ฐาน ต่อไปนี้
ฐานที่ 1 กอดส่งรัก การกอด หอม หรือสัมผัส เป็นการสร้างความผูกพันกับลูก ที่ทำได้เลย และทำได้ทุกวัน เป็นบันไดขั้นแรก เช่น กอดลูกก่อนไปทำงาน หอมลูกก่อนเขาไปโรงเรียน
ฐานที่ 2 ชมด้วยหัวใจ คำชมถือเป็นพลังบวกที่ดีมาก ๆ จะช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับลูก เมื่อเด็กมีพฤติกรรมดี การชมเขาจะทำให้เขาอยากทำดี และมีกำลังใจ
ฐานที่ 3 พูดคุยให้รู้ใจ บอกความรู้สึก ความต้องการ หรือความคาดหวังให้ลูกได้รู้ ด้วยเทคนิค I message เช่น แม่คิดว่าถ้าเราไปวิ่งเล่นด้วยกัน ลูกจะแข็งแรงและเราจะมีเวลาสนุกด้วยกัน
ฐานที่ 4 เดินไปด้วยกัน สร้างความใกล้ชิดผูกพัน ใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว ช่วยเสริมทางเกราะป้องกันทางใจให้กับลูก
ฐานที่ 5 พ่อแม่เลี้ยงบวก เป็นฐานที่ให้ผู้ปกครองสำรวจและทบทวนตัวเอง ในสิ่งที่อยากทำกับลูกให้มากขึ้น และสิ่งที่อยากทำกับลูกให้น้อยลง เพราะเด็ก ๆ ไม่ได้เกิดมาพร้อมคู่มือ
พ่อแม่ผู้ปกครองนับว่าเป็นเพื่อนแท้คนแรกในชีวิตของเด็ก ช่วงเวลาที่มีคุณภาพของครอบครัว คือ การใช้เวลาในการทำกิจกรรมร่วมกัน สสส. สนับสนุนองค์ความรู้ทักษะการเลี้ยงดูเชิงบวก เชื่อมโยงให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าถึงแหล่งข้อมูล และการอบรมการเลี้ยงลูกที่ดี เพื่อพัฒนาให้เขามีร่างกายที่แข็งแรงและจิตใจสมบูรณ์อย่างยั่งยืน