จ.แม่ฮ่องสอน ต้นแบบเลิกบุหรี่เชิงรุก
ที่มา : เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
'บุหรี่' ภัยคุกคามต่อการพัฒนา 'แม่ฮ่องสอน' ต้นแบบเลิกบุหรี่เชิงรุก
องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ และให้รัฐบาล ชุมชน และประชากรโลก ตระหนักถึงพิษภัยและอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ และส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจทั้งในระดับบุคคลจนถึงระดับประเทศ "ในปี 2016 องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศคำขวัญ ว่า "Tobacco : a threat to development" หรือ "บุหรี่ : ภัยคุกคามต่อการพัฒนา"
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานวิ่งเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โดยเครือข่ายทันตแพทย์ไทยต้านภัยยาสูบ ร่วมกับ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์แห่งประเทศไทย และ สสส. เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า 15 ปีที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับภาคีเพื่อการควบคุมยาสูบทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนมาตรการควบคุมยาสูบ เพื่อให้สถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทยดีขึ้น ประเด็นสำคัญเพื่อสร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้กับเยาวชน Generation Z ให้หันมาออกกำลังกาย ที่ช่วยให้มีสุขภาพดีแล้วยังช่วยให้สามารถเลิกสูบบุหรี่ด้วย โดยมีนักวิ่งเข้าร่วมกว่า 500 คน
นอกจากกิจกรรมรณรงค์กระตุ้นเตือนแล้วที่ผ่านมา สสส.ได้สนับสนุนการทำงานเลิกบุหรี่อย่างต่อเนื่องผ่านเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย จ.แม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่หนึ่งของผู้สูบบุหรี่มวนเอง จากข้อมูลสำรวจของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ชื่อว่ามีจำนวนผู้สูบบุหรี่และยาเส้นมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ประชากรส่วนใหญ่นิยมสูบยาเส้น คือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ไทใหญ่ ม้ง กะเหรี่ยง ละหู่ ฯลฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยาเส้นถูกสอดแทรกในวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของพี่น้องชนเผ่าเหล่านี้จนแยกไม่ออก
สังเกตจากบ้านทุกหลังจะต้องมีกล่องยาเส้นวางไว้รับแขกที่มาเยี่ยมเยือน เครื่องเซ่นงานบุญประเพณีก็ต้องมีบุหรี่วางไว้บนสำรับ ตลอดจนสูบเพื่อให้ควันเป็นเครื่องไล่ยุง ไล่แมลง เวลาเข้าป่า ไร่-นา เลี้ยงสัตว์ เมื่อสูบบ่อยๆ เข้า ก็ไม่รู้ตัวว่าติด และควันที่สูดกลืนเข้าไป ก็ไม่รู้ว่าอันตราย เพราะคิดว่าวัตถุดิบปลูกเอง ทำเอง มาจากธรรมชาติ ประกอบกับสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่อาศัยบนภูเขาสูง การคมนาคมบางเส้นทางรถเข้าไม่ถึง ทำให้การเข้าพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้จากหลายๆ หน่วยงาน จึงเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้แล้วภาษายังเป็นอุปสรรคสำคัญในการสื่อสารอีกด้วย
สสส. และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันดำเนินโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยยึดหลักให้ชุมชนจัดการสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน ไม่ให้เอื้อต่อการสูบบุหรี่ ดังเช่นพื้นที่ตำบลแม่ลิดป่าแก่ อ.แม่สะเรียง มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ลิดป่าแก่รับผิดชอบ 3 หมู่บ้าน 15 หย่อมบ้าน แต่ละ พื้นที่ห่างไกลกัน การทำงานจึงต้องอาศัย อสม. มาร่วมกันทำงาน โดยใช้แนวทาง 1 อสม. ต่อ 1 คนเลิกยาสูบ โดยตั้งเป้าให้มีผู้เลิกสูบให้ได้ 50 คน จากผู้สูบกว่า 200 คน
นายจักรพงษ์ ศรีเมือง เจ้าพนักงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ลิดป่าแก่ เล่าว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ อาศัยอยู่กระจัด กระจาย การลงพื้นที่แต่ละครั้งต้องผนวกกิจกรรมการเลิกสูบบุหรี่ไปพร้อมกับการลงพื้นที่คัดกรองกลุ่มโรคเอ็นซีดี ( NCDs) และที่สำคัญเจ้าหน้าที่ต้องเข้าใจชาวบ้านต่างมีภารกิจ ทำไร่ ทำนา เข้าป่า จะนัดมาทำกิจกรรมหลายครั้งไม่ได้ เพราะเท่ากับว่า "นัดซ้ำ ชุมชนยิ่งซ้ำ" ขณะเดียวกันการสื่อสารจึงค่อนข้างลำบากด้วย ต้องอดทนสร้างความเข้าใจระหว่างกัน
"การอมยาเส้น เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ถือว่าอันตรายมากๆ เสี่ยงต่อมะเร็งในช่องปาก ซึ่งสื่อประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะเสนอทางควันบุหรี่มากกว่า พอใช้เครื่องเป่าปอดวัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ไม่สามารถใช้ได้ เพราะเครื่องวัดค่าจากควัน คนที่สูบเลยไม่มีตัวชี้วัดว่าอันตราย ต้องพยายามหาวิธีสร้างความรู้ความเข้าใจ" นายจักรพงษ์ เล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่
ประชากรส่วนใหญ่ของตำบลบ้านช่างหม้อ เป็นชาวปกาเกอะญอ กับว้า มีประชากรที่สูบบุหรี่จำนวน 554 คน คิดเป็น 26.09% จาก ประชากรทั้งหมด 3,125 คน 5 หมู่ 18 หย่อมบ้าน การรณรงค์ ลด ละ เลิกบุหรี่ จะใช้การทำงานเชิงรุกเป็นหลัก มีการจัดคลินิกเคลื่อนที่ พร้อมรุกเข้าหาเป็นรายบุคคลเพื่อให้เกิดผลมากที่สุด
นายพลชัย ผาติรัตน์ศิริกุล เจ้าพนักงาน รพ.สต.บ้านช่างหม้อ กล่าวว่า เวลาว่างหลังจากเลิกงานหรือวันหยุด เจ้าหน้าที่ก็จะตระเวนเยี่ยมเยือนไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ไร่ ในการตรวจคัดกรองและการให้ความรู้เรื่องพิษภัยบุหรี่ หรือบางพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้การใช้สื่อ หรือเครื่องกระจายเสียงทำไม่ได้ จึงต้องให้ความรู้ถึงครัวเรือน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้จัดตั้งกติกาชุมชน เช่น ห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณงานบุญ รณรงค์ร้านค้ายุคใหม่ใส่ใจ พ.ร.บ.สุราและบุหรี่ ซึ่งมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 17 ร้าน และมี 2 ร้านที่ไม่ขายสุราและบุหรี่เลย ขณะที่ชาวบ้านที่ เข้าร่วมโครงการจะมอบ "ใบสั่งความดี" เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ
ด้าน ผศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช ผู้จัดการโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน กล่าวว่า การทำให้ชุมชนตระหนัก ลด ละ เลิกบุหรี่ สอดคล้องกับแผนควบคุมยุทธศาสตร์ชาติ ที่เน้นพัฒนาให้ชุมชนมีส่วนร่วม เน้นให้ต้องจัดสิ่งแวดล้อมสถานที่ต่างๆ ตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ทำคลินิกเคลื่อนที่ลงไปในหมู่บ้าน อบรมแกนนำ อสม.ให้เข้าไปช่วย และที่สำคัญต้องปรับระบบบริการให้ผู้สูบบุหรี่เข้าถึงบริการได้ บูรณาการกิจกรรมของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้นำเอากิจกรรมการเลิกบุหรี่เข้าไปร่วมกับกิจกรรมที่มีอยู่แล้ว เช่น โรคเรื้อรัง สารเคมี
บุหรี่ไม่เพียงทำลายสุขภาพ แต่บั่นทอนระบบเศรษฐกิจและ ระบบสุขภาพโดยรวมพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน สะท้อนให้เห็นว่าหากไม่เข้าไปทำงานเชิงรุกจะก่อปัญหาสุขภาพในระยะยาว…สิ่งที่น่าเชิดชูบุคลากรทางการสาธารณสุขในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ที่ทำงานต่อกรกับบุหรี่ด้วย ความมุ่งมั่น