จ.นครปฐม นำร่องจังหวัดเกษตรและอาหารปลอดภัย
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ โดย อานนท์ มุ่งลิ้ม
ภาพประกอบโดย ปัญจะ เอี่ยมประสพชัย สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
จังหวัดนครปฐมเตรียมนำร่องขับเคลื่อนโครงการต้นแบบจังหวัดเกษตรและอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล และการส่งเสริมสุขภาพดีสำหรับประชาชน เพื่อให้เกิดกระบวนการผลิตผักและผลไม้ที่ปลอดภัยตามแนวทางเกษตรอินทรีย์และเกษตรแบบ GAP
วันที่ 17 ม.ค. 60 ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านหัวอ่าว ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ให้การต้อนรับและนำทีมผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้องจากสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม มาศึกษาดูงานแปลงผักปลอดสารพิษภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา พร้อมทั้งดูงานห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร ของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศึกษาดูงาน
หลังจากนั้นได้ประชุมรับฟังข้อมูลผลงานวิจัยที่ดำเนินการมาในรอบหลายปีจาก ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ เพื่อใช้ในการปรึกษาหารือในการบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายและดำเนินโครงการ “นครปฐม : โมเดลต้นแบบจังหวัดเกษตรและอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล และการส่งเสริมสุขภาพดีสำหรับประชาชน” เพื่อให้เกิดกระบวนการผลิตผักและผลไม้ที่ปลอดภัยตามแนวทางเกษตรอินทรีย์และเกษตรแบบ GAP โดยการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอต่างๆ เพื่อป้อนข้อมูลสู่โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข อาทิ โรงพยาบาลนครปฐม โรงพยาบาลพุทธมณฑล และแห่งอื่นๆ ต่อไป รวมถึงการเชื่อมโยงผักและผลไม้ปลอดภัยสู่ตลาดสุขภาพระดับต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผักและผลไม้ที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการยกระดับเศรษฐกิจของจังหวัดนครปฐมและรองรับการเป็นครัวของโลก
นอกจากนั้นการใช้ผลผลิตภายในจังหวัดนับเป็นการพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นที่สนใจของรัฐบาลและได้รับการสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรในการดำเนินการจากงบการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 รวมถึงงบการวิจัยและพัฒนาจากองค์กรหลักทางสุขภาพของประเทศ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และงบประมาณจากแหล่งอื่นๆ เพื่อทำให้เจตนารมณ์ที่ดีเหล่านี้บังเกิดผลสำเร็จตามทิศทางการสร้าง Food Innovation ของจังหวัดนครปฐม ที่สอดรับการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มภูมิภาค