‘จ้างคนพิการทำงาน’ ลดภาษี 2 เท่าและไม่เป็นภาระบริษัท
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ประเทศที่เจริญแล้วมีหลักการสากลว่า "คนพิการต้องมีโอกาสได้ทำงานช่วยเหลือตัวเองเหมือนคนทั่วไป" เช่นเดียวกับคนพิการในประเทศไทยที่มีกว่า 2 ล้านคน กฎหมายกำหนดให้บริษัทห้างร้านต้องช่วยกันจ้างงานเพื่อให้พวกเขาได้ใช้ศักยภาพของตัวเอง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่เป็นภาระของครอบครัว
ตั้งแต่ปี 2550 "พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ" กำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงานจำนวน 100 คน จ้างคนพิการ 1 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 100:1 หากบริษัทมีพนักงาน 200 คน ก็จ้าง 2 คน มี 500 คน จ้าง 5 คน โดยมีข้อแลกเปลี่ยนจูงใจในการลดภาษีให้นายจ้าง แต่ถ้าไม่อยากจ้างก็ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปีประมาณ 1.1 แสนบาทต่อคน
ดูเหมือนเงื่อนไขนี้ทำให้เจ้าของบริษัทยอมรับได้และพยายามจ้างคนพิการมาทำงานบางอย่างในบริษัท เช่น ดูแลความสะอาด รับโทรศัพท์ ทำบัญชี ตรวจสินค้า ฯลฯ แล้วแต่สภาพของลักษณะงาน
แต่ถ้าประเมินจากข้อมูลการจ้างงานคนพิการที่ผ่านมา พบว่า บริษัทส่วนใหญ่เลือกส่งเงินให้กองทุนมากกว่าเลือกจ้างคนพิการมาทำงานทั้งที่คนพิการในประเทศไทยมีประมาณ 5 แสนคนจาก 2 ล้านคน ที่ประเมินแล้วมีศักยภาพในการทำงานได้
วิเคราะห์ปัญหาข้างต้นเกิดขึ้นจาก 3 ฝ่าย ด้วยกัน คือ
1."ฝ่ายนายจ้าง" ไม่รู้ว่าจะไปหาคนพิการที่เหมาะสมกับงานตัวเองได้ที่ไหน และบางครั้งหามาได้คนพิการก็ไม่ชอบงานที่เตรียมไว้ให้ หรือไม่สามารถจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมให้ได้ เช่น ไม่มีทางลาดสำหรับรถเข็น ไม่มีอักษรเบรลล์ หรือไม่มีล่ามภาษามือ
2."ฝ่ายคนพิการ" ที่อยากไปทำงานแต่ระบบการขนส่งไม่เอื้ออำนวย ไม่สามารถเดินทางจากบ้านได้ตามลำพัง หรือไปได้แต่ต้องจ่ายค่าแท็กซี่หรือจ้างคนพาไป ซึ่งเป็นรายจ่ายที่มากกว่าเงินเดือนที่ได้รับ หรือบางครั้งเดินทางไปทำงานได้แต่ไม่ชอบลักษณะงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น งานทำความสะอาด งานรับโทรศัพท์ หรืองานต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก รวมถึงปัญหาในการปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงาน บางครั้งต้องแก้ปัญหาด้วยการเลือกบริษัทหรืองานที่อนุญาตให้ทำงานที่บ้านได้
3."ฝ่ายหน่วยงานรัฐ" เนื่องจากไม่มีความรู้ความเข้าใจ ขาดระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงานของคนพิการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่ได้มีกฎหมายใหม่หรือนโยบายที่เป็นแรงจูงใจในการทำให้นายจ้างและคนพิการสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข
ทำให้ตัวเลขจ้างงานคนพิการในประเทศยังมีอยู่น้อยมาก จากข้อมูลบริษัทธุรกิจเอกชนทั่วประเทศที่ต้องจ้างคนพิการทั้งหมด 5.5 หมื่นคน ปรากฏว่ามีจ้างจริงเพียงครึ่งเดียว หรือ 3 หมื่นกว่าคนเท่านั้น นายจ้างส่วนใหญ่เลือกส่งเงินเข้ากองทุนแทนเพื่อตัดปัญหาต่าง ๆ ส่วนภาครัฐหรือหน่วยงานของรัฐจ้างได้แค่ประมาณ 1.2 หมื่นคน ทำให้ยอดส่งเงินเข้ากองทุนมีสูงถึงปีละกว่า 2 พันล้านบาท ปัจจุบันกองทุนมีเงินสะสมกว่า 1 หมื่นล้านบาทแล้ว และเพิ่มขึ้นทุกปี
ถ้าวิเคราะห์จากตัวเลขคนพิการที่สามารถทำงานได้ทั่วประเทศ 5 แสนคน แต่ถูกจ้างงานจริงเพียงไม่ถึง 5 หมื่นคน หมายความว่าคนพิการกว่า 4.5 แสนคนไม่มีโอกาสได้ประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเอง ไม่มีโอกาสได้เสียภาษี ไม่มีโอกาสได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองเพื่อสังคมหรือประเทศชาติบ้านเมือง
สิ่งเหล่านี้เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นกระทรวงแรงงาน เครือข่ายภาคประชาชน จึงร่วมกับกลุ่มตัวแทนคนพิการ ต้องช่วยกันคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาของทั้ง 3 ฝ่ายที่เกิดขึ้นให้ได้
เช่น 5 ปีที่แล้ว มีการปรับปรุงกฎหมายเปิดช่องทางให้นายจ้างสามารถจ้างคนพิการไปทำงานที่ตัวเองชอบ หรือไปทำงานเพื่อชุมชนที่อยู่ใกล้บ้านหรือที่เดินทางสะดวก ไม่ต้องมาทำงานที่บริษัทอย่างเดียวแต่ได้เงินเดือนเหมือนพนักงานทั่วไป ส่วนนายจ้างก็ได้สิทธิในการลดหย่อนภาษี เหมือนเดิม
เคล็ดลับอยู่ที่ว่านายจ้างต้องทำความเข้าใจกฎหมายที่แก้ไขใหม่หรือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ที่กำหนดให้มีการจ้างงานคนพิการได้ 2 รูปแบบ "แบบ ม.33 และแบบ ม.35"
"การจ้างงานเชิงสังคม ม.33" หมายถึง นายจ้างเปิดรับสมัครคนพิการมาทำงานตามโควตาที่มีแต่ไม่ต้องให้เดินทางมาทำงานในสถานประกอบการของตนแต่ให้ไปทำงานในองค์กรสาธารณประโยชน์แทน เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ โดยคนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ เงินเดือน สวัสดิการ โบนัส ทุกอย่างเหมือนพนักงานทั่วไปของบริษัท ส่วนนายจ้างก็ได้สิทธิ ลดภาษีเพิ่มเป็น 2 เท่าแทน
อีกวิธีหนึ่งคือ "การจ้างเชิงสังคม ม.35" เป็นการจ้างเหมาให้คนพิการไปทำงานในองค์กรสาธารณประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ค่าจ้างเหมาประมาณปีละ 109,500 โดยตัวเลขนี้มาจากการคิดเหมาค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทคูณด้วย 365 วัน ซึ่งเป็นจำนวนตัวเลขเท่ากันที่จ่ายเข้ากองทุน
เคล็ดลับนี้สำคัญมากเพราะแทนที่บริษัทตัดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยการเลือกวิธีจ่ายเงินเข้ากองทุน แต่เปลี่ยนวิธีการเอาเงินจำนวนเท่ากัน เหมาจ่ายให้คนพิการไปทำงานเพื่อชุมชนหรืองานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ผลที่ได้คือการช่วยเพิ่มศักยภาพให้คนพิการได้ทำประโยชน์ในชุมชนที่อยู่อาศัยแทนที่จะโอนเงินเข้ากองทุน ซึ่งคนพิการคนนั้นแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรโดยตรง
ถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว เพราะสังคมได้ประโยชน์ คนพิการก็ได้ทำงานที่มีประโยชน์ต่อคนอื่น เกิดความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเอง
ปัจจุบันมีบริษัทและคนพิการจับมือกันสร้างเครือข่ายลักษณะ "จ้างคนพิการทำงานเพื่อสังคม" ขึ้นหลากหลายองค์กรด้วยกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดร่วมกัน เช่น บางองค์กรเน้นการสนับสนุนให้จ้างแบบมาตรา 33 บางแห่งเน้น มาตรา 35 แบบจ้างเหมา หรือจ้างคนดูแลทำแทน ฯลฯ
"ภรณี ภู่ประเสริฐ" ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าถึงแนวคิดการสนับสนุนคนพิการให้ทำงาน ว่า เป็นการลดภาระครอบครัวหรือผู้ดูแล และที่สำคัญพวกเขาจะรู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ส่วนชุมชนได้ประโยชน์จากงานที่คนพิการทำ เจ้าของบริษัทหรือผู้ประกอบการก็รู้สึกว่าตัวเองได้ทำประโยชน์ต่อสาธารณะ จากเงินก้อนเดิมเคยนำส่งเข้ากองทุน ก็สามารถส่งตรงไปให้คนพิการโดยตรง สร้างความเข้าใจมองเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน
ผลจากการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย สสส. ตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันการจ้างงานเชิงสังคมคนพิการกว่า 4,000 คนทั่วประเทศ จากสถานประกอบการกว่า 400 แห่ง ลดการมีภาคีเครือข่ายที่ร่วมดำเนินงานในพื้นที่จำนวน 1,802 หน่วยงาน ส่งผลให้ลดการส่งเงินเข้ากองทุนแล้วกว่า 6 พันล้านบาท
ตัวอย่างภาคีเครือข่าย เช่น "มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม" ที่เปิดเพจเฟซบุ๊กชื่อ "คนพิการต้องมีงานทำ"
"มนิษา อนันตผล" ตัวแทนศูนย์ประสานการจ้างงาน มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวถึงการทำงานที่ผ่านมาว่า มูลนิธิเน้นเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างนายจ้างกับคนพิการ ช่วงแรกมีคนมาร่วมแค่ 1 พันกว่าคนต่อปี ตอนนี้เพิ่มเป็นกว่า 7 พันคนแล้วจาก 20 บริษัท เพิ่มเป็น 400 บริษัท แสดงให้เห็นว่าบริษัทเริ่มเข้าใจว่าการจ้างงานคนพิการลักษณะนี้มีประโยชน์ โดยเฉพาะการให้ไปช่วยทำงานที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก หรือองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร เช่น สมาคม มูลนิธิ ชมรมคนพิการต่าง ๆ เป็นต้น ลักษณะงาน อาทิ งานธุรการ งานประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ ผู้ช่วยครูสอนหนังสือเด็ก งานทำสวน งานแม่บ้าน ฯลฯ
"งานบริการสังคมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ" คนพิการสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น ไปเยี่ยมให้กำลังใจคนสูงอายุ ผู้ป่วย หรือไปช่วยรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน งานบรรเทาทุกข์ต่าง ๆ
"อารี ทองเที่ยงธรรม" ตัวแทนสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดใจให้ฟังว่า เป็นโปลิโอตั้งแต่เด็กทำให้เดินไม่ค่อยถนัดและสุดท้ายต้องใช้รถเข็น หลังเรียนจบปวช. เข้าทำงานบริษัทเอกชนชื่อดัง เป็นร้านขายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือทำต่อเนื่องมาหลายปี แล้วเริ่มเดินไม่ค่อยถนัดต้องใช้รถเข็นจนถึงทุกวันนี้อายุ 50 กว่าปี ก็มาทำงานเป็นเครือข่ายช่วยเหลือคนพิการหางานทำ
"ที่จริงแล้วอยากให้บริษัทจ้างงานคนพิการแบบมาตรา 35 มากกว่า 33 เพราะมาตรา 35 บริษัทได้ส่วนลดภาษี 2 เท่า ส่วนคนพิการแม้ทำงานในชุมชน แต่ได้สิทธิประกันสังคม หรือสวัสดิการต่าง ๆ ที่มีความสำคัญกับชีวิตพวกเขาในอนาคตมากกว่า หากเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปโรงพยาบาลเอกชนได้ ไม่ต้องไปรอคิวโรงพยาบาลรัฐนาน ๆ ทั้งวันเหมือนใช้บัตรทอง 30 บาท คนพิการหูหนวก ตาบอด มือหรือเท้าใช้การไม่ได้ ยิ่งต้องไปนั่งรอคิวโรงพยาบาลนาน ๆ ก็ยิ่งลำบาก นอกจากนี้การเป็นพนักงานบริษัทยังได้เงินสะสมไว้ใช้ตอนเกษียณอายุ สิทธิประกันสังคมตอนชราก็ได้ เชื่อไหมว่านายจ้างหรือเจ้าของบริษัทส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ พวกเขามอบให้ลูกน้องฝ่ายดูแลพนักงานเป็นคนทำ พนักงานก็ขี้เกียจไม่อยากวุ่นวาย แนะนำให้เจ้าของส่งเงินเข้ากองทุนไปเลย จบปัญหาง่ายดี ทั้งที่เจ้าของบริษัทอาจมีจิตใจอยากช่วยเหลือสังคมและคนพิการก็ได้"
"อารี" เปิดใจเล่าต่อว่า การส่งคนพิการไปทำงานเชิงสังคมเป็นสิ่งที่ดีแต่ต้องตรวจสอบองค์กรที่ให้ไปทำงานด้วย บางครั้งคนพิการก็มานั่งระบายความทุกข์ให้ฟังว่าโดนใช้ล้างห้องน้ำหรือล้างจาน เก็บกวาดทำความสะอาดทั้งวันทั้งปี โดยไม่เปิดโอกาสให้ได้ผลัดเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นบ้าง ทั้งที่พวกเขาก็พอทำได้ เมื่ออยู่ที่ไหนไปนาน ๆ ควรเปิดโอกาสให้ศึกษาพัฒนาเรียนรู้งานอื่น เช่น รับโทรศัพท์ พาชมสถานที่ หรือแม้แต่คนตาบอด ตอนนี้ก็รับนวดให้พนักงานในบริษัทเดียวกัน แทนที่จะให้พวกเขาทำงานอย่างเดียวซ้ำ ๆ ควรผลัดเปลี่ยนตามความเหมาะสม
"สิ่งเดียวที่พวกเราอยากได้คือโอกาส การไม่มีอคติหรือทัศนคติที่ไม่เป็นธรรมกับคนพิการ พวกเราถึงร่างกายไม่สมประกอบ แต่ถ้าพอทำอะไรเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้บ้างก็ขอแค่โอกาสนั้นให้แก่เราก็พอ" รี กล่าวทิ้งท้าย
สรุปสั้น ๆ เคล็ดลับ "การจ้างคนพิการทำงานแบบช่วยลดภาษีและไม่เป็นภาระ" การจ้างคนพิการไปทำงานเพื่อสังคมตามมาตรา 33 หรือ 35 ถ้านายจ้างใจดีมีจิตสาธารณะเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็เลือก ม.33 ถ้าบริษัทไหนยังไม่ค่อยพร้อมขอให้เลือกม.35 เพราะด้วยจำนวนเงินเหมาจ่ายเท่ากันแต่ประโยชน์ที่คนพิการได้รับต่างกันมากนัก
สำหรับผู้สนใจขอรายละเอียดเพิ่มเติมที่ "กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ" 0-2106-9300, 0-2106-9327-31 http://ejob.dep.go.th/