จ่อยกระดับแผนเผชิญโรคอหิวาต์หมูเป็นวาระแห่งชาติ

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


จ่อยกระดับแผนเผชิญเหตุโรคอหิวาต์ในหมูเป็นวาระแห่งชาติ thaihealth


แฟ้มภาพ


อธิบดีปศุสัตว์ เตรียมยกระดับแผนเผชิญเหตุโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ดันเป็นวาระแห่งชาติ วางมาตรการชดเชยร้อยละ75 ของราคาเนื้อสัตว์ หากพบโรคระบาดต้องทำลายสัตว์ทันที


นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever-ASF) ที่จีนยังไม่มีแนวโน้มที่จะสงบลง โดยกรมปศุสัตว์ เตรียมเสนอแผนเผญิชเหตุโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ เสนอรัฐบาลตั้งคณะกรรมการควบคุมโรคดังกล่าว ระดับประเทศ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันรับมือกับปัญหานี้ กรณีถ้ามีโรคระบาดเข้ามาแล้ว ใช้นโยบายรู้โรคเร็ว ควบคุมโรคเร็ว


"ย้ำว่าถ้าเกษตรกรไม่แจ้งการพบโรคระบาดในฟาร์ม จะมีความผิดตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 11 มีโทษตาม มาตรา 59 ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะนี้ทุกพื้นที่ได้เข้มงวดตั้งด่านควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ หากสัตว์ป่วยที่ยืนผลทางห้องปฏิบัติการแล้ว จะดำเนินการทำลายสุกรทันทีเพื่อควบคุมโรค เกษตรกรจะได้รับค่าชดเชยไม่เกิน 75% ของราคาเนื้อสัตว์ โดยจะเสนอของงบกลางจากรัฐบาล และ เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ bio security จะเสนอ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรแห่งชาติ มกอช ยกระดับมาตรฐานฟาร์มสุกร GAP เป็นมาตรฐานบังคับ หากปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด จะได้รับการดูแลจากรัฐบาล"นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว


ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้ตั้งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (war room) ที่กรมปศุสัตว์ และในจังหวัดกลุ่มเสี่ยง มีหน้าที่ในการติดตามและประเมินสถานการณ์ของโรคเป็นรายวันโดยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ขอให้ เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องรับข้อมูลที่เชื่อถือได้จากกรมปศุสัตว์ เพื่อป้องกันข่าวลือ พร้อมกันนี้เกษตรกรจะต้องสังเกตอาการสุกรอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดงและต่อมาเป็นสีเขียวคล้ำ พบภาวะแท้งในแม่สุกรและมีจำนวนสุกรตายผิดปกติ หรือ ร้อยละ 30 ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พื้นที่ทันที


สำหรับมาตรการป้องกันโรค ได้ระงับการนำเข้าสินค้า เข้มงวดตรวจสอบ ตรวจจับ การนำเข้าและลักลอบนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์ผ่านผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว ตามจุดผ่านแดนต่างๆประสานความร่วมมือหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ทหาร ตำรวจ ศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง การสุ่มตรวจตัวอย่างจากสุกรและผลิตภัณฑ์ที่ยึดได้ เฝ้าระวังสถานการณ์การพบโรคในต่างประเทศ ที่พบโรค เช่น เนื้อและกระดูกป่น วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้แจ้งทูตเกษตรไทย ซึ่งประจำอยู่ ที่ประเทศกลุ่มเสี่ยง ให้แจ้งแก่รัฐบาลประเทศนั้นๆ ถึงมาตรการการป้องกันโรคของประเทศไทย โดยห้ามนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินำผลิตภัณฑ์จากสุกรเข้ามาในประเทศไทย โดยตรวจสอบตั้งแต่ประเทศต้นทางที่ด่านขาออกของประเทศต้นทาง

Shares:
QR Code :
QR Code