จุฬาฯแนะลดอ้วนสกัดเสี่ยงโรครุม

โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ จัดสัมมนา “แพทย์เตือนภัย หยุดภาวะโรคอ้วน กรณีศึกษาจากประสบการณ์จริง” โดยเชิญนายอัฐพล แดงดำคูณ หรือปิ๊ก น้ำหวาน ซึ่งเคยเข้ารับการรักษาโรคอ้วนที่ รพ.จุฬาฯ ด้วยน้ำหนักตัว 350 กิโลกรัม เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2553 และทีมแพทย์ใช้เวลารักษา 4 เดือน จนปัจจุบันปิ๊กน้ำหนักเหลือ 91 กิโลกรัม ร่วมสัมมนาด้วย

แพทย์เตือนหยุดอ้วนลดโรค

นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โรคอ้วน คือผู้ที่มีความอ้วนแล้วมีโรคแทรกซ้อน สำหรับผู้ที่มีความอ้วนแล้วเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนคือ ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 ซึ่งสามารถคำนวณได้ด้วยตัวเอง โดยนำน้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยผลคูณของส่วนสูงเป็นเซนติเมตร จะได้ค่าดัชนีมวลกาย สำหรับโรคแทรกซ้อนที่จะเกิดกับผู้ที่เป็นโรคอ้วนนั้นจะมีมากกว่า 10 โรค เช่น โรคเส้นเลือดสมองอุดตัน หยุดหายใจขณะนอนหลับ ความดันเส้นเลือดปอดสูง นิ่วถุงน้ำดี เบาหวาน เป็นต้น

นพ.สุเทพกล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีค่าดัชนีมวลกายไม่เกิน 35 จะใช้วิธีการคุมปริมาณอาหารลดแป้ง น้ำตาล และไขมัน ร่วมกับการออกกำลังกาย ส่วนกลุ่มที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 รักษาโดยใช้วิธีลดขนาดกระเพาะอาหาร และลดการดูดซึมของกระเพาะอาหาร ซึ่งจะใช้วิธีผ่าตัดได้ 3 วิธี คือ 1.รัดกระเพาะอาหาร โดยใช้ซิลิโคนทางการแพทย์รัดส่วนต้นของกระเพาะอาหารซึ่งจะทำให้อิ่มเร็วขึ้น 2.ตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ที่ขยายออกได้ให้เหลือเป็นหลอดของกระเพาะอาหารแทน 3.ตัดลดขนาดกระเพาะอาหารและทำบายพาสลำไส้ซึ่งจะทำให้กระเพาะอาหารเล็กลง

“วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด ปัจจุบัน รพ.จุฬาฯผ่าตัดรักษาผู้ที่เป็นโรคอ้วนมาแล้ว 100 ราย โดยมีน้ำหนักเฉลี่ยก่อนรักษาตั้งแต่ 87-280 กิโลกรัม ซึ่งสามารถลดน้ำหนักให้กับผู้ป่วยได้เฉลี่ยคนละ 50 กิโลกรัม และจากการติดตามผลหลังการผ่าตัดผู้ป่วยทุกคนมีอาการดีขึ้นจากโรคแทรกซ้อน โดยร้อยละ 82 หายขาดจากโรคเบาหวาน ขณะที่ร้อยละ 60 หายขาดจากโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด และโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ” นพ.สุเทพกล่าว
 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

Shares:
QR Code :
QR Code