‘จุฬาอารี’ แผนรองรับผู้สูงวัย สหศาสตร์ยกระดับคุณภาพชีวิต

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากเว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


'จุฬาอารี' แผนรองรับผู้สูงวัย สหศาสตร์ยกระดับคุณภาพชีวิต thaihealth


สังคมสูงวัย อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่หลายภาคส่วนพยายาม ผลักดันให้ทุกคนในสังคมเกิดความตระหนักและเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยน


เนื่องด้วยภาวะเด็กเกิดน้อยด้อยคุณภาพ จำนวนแรงงานลดลงและขาดคุณภาพ สังคมไทยแก่ก่อนรวย หรือก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา ยิ่งสูงอายุยิ่งจน ยิ่งอมทุกข์อมโรค คนรุ่นใหม่ ยังไม่ตระหนักและไม่เตรียมการยามสูงอายุ  ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น กลุ่มผู้สูงอายุขาดความเข้มแข็ง และสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ ต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุอย่างสะดวกและปลอดภัย


ด้วยประเด็นความท้าทายในบริบทสังคมสูงวัยของประเทศไทย การทำงานแยกส่วนคงไม่ได้ "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ศูนย์รวมทุกศาสตร์ เครือข่ายต่างๆ 16 หน่วยงาน พร้อมเป็นแกนสานพลัง เพื่อสร้างสรรค์สังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากร เป็น "จุฬาอารี (Chulalongkorn University Platform for Ageing Research lnnovation-Chula ARi)" บูรณาการ สรรพศาสตร์ของจุฬาฯ และระดมภาคีรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุก


อีก 20 ปี 1 ใน 3 เป็นผู้สูงวัย


บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาอารี เป็นการสานพลังเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเป็นการหาคำตอบเกี่ยวกับสังคมสูงวัยของประเทศนำไปสู่การปฏิบัติ เป็นไปตามลักษณะของไทย เนื่องจากขณะนี้ไทยมีข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนประชากรสูงวัยที่เริ่มมีจำนวนมากขึ้น โดยอีก 20 ปีข้างหน้า ผู้สูงวัยจะมีสัดส่วน 1 ใน 3 ดังนั้นต้องมีการเตรียม พร้อมทุกช่วงอายุ เพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกเรื่องต้องเริ่มด้วยการมีข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ใช่การเดาสุ่ม ดังนั้น การทำงานจึงไม่ใช่ศาสตร์ใด ศาสตร์หนึ่งที่จะนำมาปรับใช้ในสังคม สูงวัย แต่ต้องเป็นการบูรณาการหลายศาสตร์ร่วมกัน


โครงการบูรณาการสหศาสตร์เพื่อรองรับสังคมสูงวัย หรือ จุฬาอารี อยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ จึงสร้างสรรค์งานวิจัยเชิงปฏิบัติการที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในการพัฒนาเชิงพื้นที่ สร้างองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรม รวมถึง สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ


เฟสแรก : แก้ปัญหาสูงวัยในเมือง


วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการจุฬาอารี กล่าวว่า ตอนนี้สังคมไทยมีความตระหนักเกี่ยวกับสังคมผู้สูงวัยน้อยมาก ทั้งที่ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ จากการสำรวจพบว่า คนไทยมีเพียง 10% เท่านั้น เตรียมเงินไว้สำหรับใช้ชีวิตเมื่ออายุมากขึ้นเกิน 5 ล้านบาท และ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเตรียมแผนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน อายุ 30-50 ปี ที่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุขนาดใหญ่ ทั้งที่จริงๆ แล้วสังคมสูงวัยเข้ามาเร็วมาก หากไม่มีการเตรียมพร้อมและตระหนักในเรื่องนี้ จะเกิดปัญหาในการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน


"เฟสแรกของโครงการซึ่งมีการกำหนดช่วง 3 ปีแรก ระดับประเทศ จะมีการจัดทำวิจัยเชิงนโยบาย ในการจัดทำแผน ผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 3 กำหนดทิศทางการทำงานด้านผู้สูงอายุระยะยาวอย่างมีบูรณาการเชิงรุก นโยบายการวางแผนชีวิตครอบครัวและการเกิดที่มีคุณภาพ ส่วนระดับชุมชน จัดทำข้อมูลและผลการวิจัย สู่สาธารณะผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ เฝ้าระวังสถานการณ์ด้านผู้สูงอายุและ สังคมสูงวัย รวมถึงจัดทำชุดโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ พัฒนาและขยายพลเมืองต้นแบบที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ซึ่งการดำเนินการจัดทำข้อมูลของผู้สูงอายุ นำร่องชุมชนในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ชุมชนวังทองหลาง ชุมชน แพร่งภูธร และชุมชนไผ่สิงโต โดยขณะนี้ได้เริ่มลงพื้นที่เก็บข้อมูลแล้ว" วิพรรณ กล่าว


ฐานข้อมูลแต่ละชุมชน กทม.


วิพรรณ กล่าวต่อไปว่า ชุมชนเมืองมีความเข้มแข็งน้อย บางแห่งไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้การช่วยเหลือ ดูแล การวางแผนเตรียมการต่างๆ อาจไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น จุฬาอารี จะจัดทำฐานข้อมูลแต่ละชุมชน เพื่อพัฒนาเป็นระบบเดียวกันนำไปสู่การช่วยเหลือ จัดทำแผนดูแล ผู้สูงอายุในแต่ละชุมชน ที่มีสภาพแวดล้อม บริบทแตกต่างกันไป


เก็บข้อมูลโดยใช้แอพพลิเคชั่น วิเคราะห์ข้อมูล ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น


"ทุกคณะของจุฬาฯ ได้ทำงานวิจัย หรือนวัตกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการเพื่อยกระดับ พัฒนา ดูแลผู้สูงอายุ และเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย แต่ที่ผ่านมาเป็นต่างคณะต่างทำ จุฬาอารี สหศาสตร์ทำงานเชิงรุกที่เชื่อมโยงมิติต่างๆ ดำเนินการ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านประชากรและสังคม ด้านสุขภาพ ด้านสภาพแวดล้อม และด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม" วิพรรณกล่าว


ผู้สูงอายุใน กทม.เกือบ 1 ล้านคน


จิราพร เกศพิชญวัฒนา หัวหน้ากลุ่มพันธกิจการวิจัยด้านสุขภาพ โครงการจุฬาอารี กล่าวว่า ตอนนี้มีผู้สูงอายุใน กทม.เกือบ 1 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบประชากรทั้งหมดของ กทม.สัดส่วนของผู้สูงอายุประมาณ 13-14%


ทางคณะและอาจารย์เองได้เล็งเห็นถึงปัญหาของผู้สูงอายุในเมือง ไม่ว่าจะเป็นความซับซ้อนของ ชุมชน การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำร่องในพื้นที่เขตห้วยขวางวังทองหลาง ซึ่งมี 11 ชุมชน เพื่อพัฒนา สังคมสูงวัยทุกมิติทั้งด้านที่อยู่อาศัย สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และกิจกรรมต่างๆ จนทำให้ขณะนี้จากชุมชนต่างคนต่างอยู่ กลายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีความเหนียวแน่น มีศูนย์บวร ศูนย์รวมการทำกิจกรรมของคน ทุกกลุ่ม สำหรับโครงการจุฬาอารี นำต้นแบบดังกล่าวขยายไปยัง ชุมชนอื่นๆ โดยเน้นการสร้างการมีส่วนร่วม เข้าใจ และตระหนักรู้ เตรียมพร้อมคนทุกวัย


สื่อปรับทัศนคติเลิกเหยียดวัย


ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส.พัฒนา ผู้สูงอายุทั่วประเทศ ประมาณ 300 กว่าพื้นที่ การร่วมมือกับจุฬาอารีครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนและเติมเต็มความรู้เข้าด้วยกัน เพราะคณาจารย์มี องค์ความรู้ ต้นทุน งานวิจัย นวัตกรรมนำไปสู่การต่อยอดพัฒนาสังคม สูงวัยได้ดี เน้นกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งคนในชุมชนให้เกิดการร่วมกลุ่ม เพราะเมื่อคนเข้มแข็งจะเติมมิติ ความรู้ด้านไหนก็สามารถทำได้


"ขณะนี้โจทย์ที่ต้องทำ นอกเหนือจากด้านต่างๆ เพื่อสร้างสังคมสูงวัยแล้ว ต้องสร้างสื่อเพื่อเปลี่ยนวิธีคิด ลดภาวะเหยียดวัยด้วย เนื่องจากทัศนคติ ของคนไทยมักมองผู้สูงอายุไม่ดี มองเป็นมนุษย์ลุงมนุษย์ป้า จึงต้องพยายามนำเสนอผู้สูงอายุในมิติอื่นๆ เพื่อเปลี่ยนวิธีคิดของคนกลุ่มอื่นๆ ต่อผู้สูงอายุ" ภรณี กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code