จุดเริ่มต้น…วันเลิกเหล้าเปลี่ยนชีวิต
กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาของทุกปีก็ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเรามีวันงดดื่มสุราแห่งชาติเกิดขึ้นในบ้านเราเป็นประเทศแรก ๆ ของโลก และกำลังมีความร่วมมือกันจากหลายประเทศที่จะผลักดันให้มี "วันงดดื่มสุราของโลก" เช่นเดียวกับบุหรี่
ย้อนกลับไป โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา ในการประกาศให้ "วันเข้าพรรษา" เป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" ตามข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชน
จากการที่สำนักงานกองทุนสนับ สนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และองค์กรภาคี ได้รณรงค์โครงการงดเหล้าเข้าพรรษามาตั้งแต่ปี 2546 พบว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เพิ่มจาก 15% เป็น 50-60% ของคนที่งด ลดการดื่มในช่วงเข้าพรรษา ประหยัดเงินได้ 2-3 หมื่นล้านบาท ลดปัญหาอุบัติเหตุ อาชญากรรม
สำคัญที่สุดคือเป็นการคืนความสุขให้ครอบครัวในช่วง 3 เดือน ซึ่งหากรัฐบาลรับรองให้มี "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" ยิ่งเป็นการสนับสนุนธรรมเนียมปฏิบัติ ที่ดีงามนี้ให้ดียิ่ง ขึ้น ขณะเดียวกันการประกาศเป็นนโยบาย (มติคณะรัฐมนตรี) จะทำให้ความร่วมมือในการรณรงค์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีกรณีตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นว่า สามารถลด ละ เลิก ข้องแวะ กับการดื่มเหล้าตลอดชีวิตได้เช่นกัน เช่น กรณีของ นายสมพร ปากดี อายุ 47 ปี คนงานต้นแบบ บริษัท ยางโอตานิ จำกัด ที่ระบุว่า ได้เริ่มดื่มเหล้าเรื่อยมาตั้งแต่อายุ 18 ปี จนกลายเป็นโรคติดเหล้าต้องดื่ม กิน ทุกวันไม่เคยขาดจนเข้าสู่วัยทำงาน
สมพร ระบุว่า แรงจูงใจสำคัญ คือ การเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ถวายในหลวง ที่ทางโรงงานจัดขึ้นในปี 2550 โดยครั้งนั้นใช้เวลา 3 เดือนไม่แตะต้องเหล้า ซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าวต้องต่อสู้กับความทรมานมากมาย แต่เนื่องด้วย ตัดสินใจว่าจะต้องรักษาคำพูดก็ทำสำเร็จ แต่น่าเสียดายที่หลังจากหมดกิจกรรมดังกล่าวเขาก็กลับมาดื่มอย่างหนักอีกครั้ง
จนกระทั่งปี 2551 เทศกาลวันเข้าพรรษาเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง เขาตัดสินใจที่จะลดเหล้าเป็นเวลา 7 เดือน หลังจากครบเขาก็ยืดเวลาออกไปอีก เป็น 10 เดือน จนกระทั่งปัจจุบันนี้เขาไม่ได้แตะต้องสุราอีกเลย
"ทุกวันนี้ร่างกายของผมแข็งแรง ทำงานได้เต็มศักยภาพ ครอบครัวลูกเมีย มีความสุขเมื่อผมเลิกเหล้า จากที่เมื่อก่อน สุขภาพย่ำแย่ เสี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุ ยามเมาสุรา และที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนที่หมดเปลืองไปกับการดื่มกิน ประมาณ 6,000-10,000 บาทต่อเดือน"ท้ายที่สุดผลสัมฤทธิ์ของความตั้งใจ และเอาชนะใจตัวเองได้ จะนำมาซึ่งรางวัลที่ยิ่งใหญ่ให้กับตัวเอง นั้นคือ สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทางที่ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน
ที่มา: เดลินิวส์