จุดเปลี่ยนการตลาดอาหารเด็กในประเทศแคนาดา
เผย! ห้ามโฆษณาอาหารขยะต่อเด็ก
แคนาดา เป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบสุขภาพที่เป็นตัวอย่างที่ดีในระดับโลกแคนาดาใช้เงินต่อหัวด้านสุขภาพ น้อยกว่าสหรัฐอเมริการมาก แต่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ของประชากร โดยรวมดีกว่า ทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ ที่ได้รับการดูแลภายใต้ระบบสุขภาพเดียว ถ้าคนจนและคนรวยได้รับอุบัติเหตุพร้อมกัน และได้รับการส่งต่อมาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง จะได้รับการรักษาด้วยคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน
แคนาดาไม่ได้มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีเท่านั้น แต่การสร้างเสริมสุขภาพก็โดดเด่น กรุงออตตาวา เมืองหลวงเป็นสถานที่สำคัญสำหรับการประกาศ “ออตตาวา ชาร์เตอร์” ในปี 1982 ที่เป็นธรรมนูญของการสร้างเสริมสุขภาพของประเทศต่างๆ ในโลก ไม่มองสุขภาพแต่โรงพยาบาล ยา หมอ และการรักษาพยาบาลแต่มองถึงนโยบายสังคม ชุมชนและบุคคล ที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและต่อสุขภาพโดยรวม
เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ฝ่ายรัฐสภาของแคนาดาจะประชุมเรื่อง “การควบคุมตลาดอาหารเด็ก” รายงายของแคนาดาระบุว่า เด็กอ้วนมีเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีมาตรการสำคัญที่ถูกเสนอ จะครอบคลุมการห้ามการโฆษณาอาหารต่อเด็ก ทั้งรายการโทรทัศน์และวิธีการที่จูงใจเด็ก การเพิ่มข้อมูลโภชนาการแก่ผู้บริโภค และส่งเสริมกิจกรรมการบริโภค ผัก ผลไม้ อาหาร เส้นใยไฟเบอร์ รวมถึงการออกกำลังกาย
ต้นแบบที่รัฐต่างๆ ที่น่าสนใจคือรัฐวิเบค ซึ่งเป็นรัฐเดียวที่มีกฎหมายเฉพาะของรัฐมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 ซึ่งอยู่ในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ระบุห้ามการโฆษณาทุกชนิดที่จูงใจเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี กฎหมายมีบทลงโทษและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้รับการยอมรับจากประชาชนในรัฐวิเบค โดยการสำรวจเร็วๆ นี้ ยืนยันความเหมาะสมที่จะมีกฎหมายดังกล่าว
ปีที่แล้วผู้เขียนพบกับ นายอังเดร อัลลาด ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ของรัฐวิเบคซึ่งได้แสดงตัวอย่างของสินค้าที่นำเอาสัญลักษณ์การค้าหรือโลโก้มาผนวกโฆษณาจูงใจเด็กในพิซซ่า และสคบ.ได้ตามไปดำเนินการกฎหมาย สคบ.ของรัฐวิเบคมีบทบาทติดตามและเฝ้าระวังการโฆษณาที่มีผลต่อเด็กเหล่านี้และเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ประกอบการสินค้าแม้จะเป็นเพียงรัฐเดียวในแคนาดา
การประชุมการสร้างเสริมสุขภาพโลก ที่ แวนคูเวอร์ แคนาดาผู้เขียนได้พบกับนายสตีเฟน ซามิส ผอ.ฝ่ายนโยบายจากมูลนิธิหัวใจและสโตร๊กแห่งแคนาดา และพันธมิตรสู้โรคอ้วนในเด็ก กล่าวถึงข้อมูลที่น่าสนใจว่า รัฐอื่นๆ ของแคนาดา รัฐวิเบคมีอัตราเด็กอ้วนต่ำกว่ารัฐอื่นๆ หลายคนอาจคิดว่าคงเป็นเพราะเด็กรัฐนี้ มีปัจจัยตัวแปรอื่นๆ หาใช่เกี่ยวกับการห้ามการโฆษณาไม่ เรื่องราวที่ทำให้น่าสนใจยิ่งขึ้นคือ
การสำรวจของสถาบันด้านสุขภาพพบว่า อัตราการออกกำลังกายของเด็กในรัฐควิเบคต่ำที่สุดกว่ารัฐอื่น ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการโฆษณาเป็นปัจจัยที่บทบาทสำคัญยิ่งข้อค้นพบนี้แสดงว่าหากรัฐและประชาชนสังคมเข้มแข็งแล้วก็จะสร้างนโยบายและหลักเกณฑ์ที่มีผลดีต่อผู้บริโภค
ความตื่นตัวเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะผลกระทบของอาหารไขมัน เกลือ แป้ง น้ำตาลสูงได้ส่งผลในหมู่ประชากร บริษัทผลิตอาหารในแคนาดามีการปรับตัวบางประการที่ควรเริ่ม โดยด่วน ไม่ต้องให้รัฐเป็นเป็นฝ่ายบังคับ ผู้เขียนได้ออกสำรวจตลาดมันฝรั่งกรอบประเภทต่างๆ ที่น่าสนใจคือ
มันฝรั่งของบริษัทเลย์ในแคนาดาพบว่ามีมันฝรั่งกรอบ 2 ประเภท ประเภทปัจจุบันและประเภทดั้งเดิม (Classic) ปริมาณไขมัน เกลือ แป้งของชนิดดั้งเดิมมีน้อยกว่าชนิดปัจจุบันที่มีขายอยู่ในประเทศไทยอย่างมาก ทำให้หากใช้สัญลักษณ์โภชนาการ (Sign Post)เขียว เหลือง แดง ที่มีการเรียกร้องให้ผู้ผลิตขนมแสดงสัญลักษณ์ น่าจะได้ “สีเขียว” ในองค์ประกอบต่างๆ ทั้งหมด
ทั้งยังระบุไม่มีคลอเรสเตอรอล และไขมันชนิดทรานส์ (Trans Fat) ตรวจดูถุงและฉลากขนมกรุบกรอบหลายชนิดพบว่ามีการระบุปริมาณไขมันชนิดทรานส์ เป็น 0% สอบถามดูได้ความว่าหาดมีน้อยกว่า 0.2% สามารถอ้างได้ว่า “ปลอดไขมันชนิดทรานส์” ไขมันนี้เป็นไขมันตัวร้ายในหลอดเลือดที่มีผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
ที่เดนมาร์คได้มีกฎหมายควบคุมเป็นประเทศแรก หลายประเทศเริ่มขยับตัวตามทั้งบังคับและสมัครใจ ภัตตาคารในรัฐนิวยอร์คของสหรัฐอเมริกาเริ่มถูกบังคับให้แสดงปริมาณไขมันชนิดทรานส์แก่ผู้บริโภคแล้ว เรื่องการดำเนินการประกาศการควบคุมไขมัยชนิดทรานส์ในไทยคงจะเป็น “การเมืองเรื่องไขมัน (Fat Politics)” ที่ควรจะมีการจัดการความรู้เพื่อการปกป้องสุขภาพของคนไทยต่อไป
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
Update : 14-07-51