จุดประกายพลังพลเมือง สารพัดสื่อสร้างสรรค์สังคม
"พลเมืองตื่นรู้" หรือ Active Citizen คือพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ จำเป็นจะต้องอาศัยพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึกสาธารณะเป็นพลังขับเคลื่อน โดยอาศัยช่องทางการผลิต "สื่อ" ที่สร้างสรรค์เป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงชุมชนไปจนถึงระดับประเทศให้ดีขึ้นได้
ด้วยเหตุนี้จึงเกิด "โครงการพลังสื่อพลเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง" (Active Citizen and Media for Change) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดยสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม (สำนัก 5) และสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) ร่วมกับแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ แผนงานส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้คัดเลือกเยาวชนทั่วประเทศที่ส่งผลงานการผลิตสื่อสร้างสรรค์สังคมเข้ามานับร้อยผลงาน และคัดเลือกจนเหลือ 72 โครงการ และได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผลงานของเยาวชนดังกล่าวไปแล้วเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ณ บ้านผู้หว่าน จ.นครปฐม เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ล่าสุดได้เริ่มปล่อยให้เยาวชนลงพื้นที่ในชุมชนต่างๆ เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2557 เพื่อไปถ่ายทอดผลงานของตัวเองและเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์สื่อสารสังคมฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า โครงการนี้ต้องการให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนอยู่ในวิชาชีพของการสร้างสรรค์สื่อ ได้รวมตัวศึกษาและหาประเด็นนำเสนอที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม โดยตั้งอยู่บนความเชื่อมั่นว่า "เราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีพลังสร้างสรรค์อยู่ในตัวเอง" ได้ลงพื้นที่ทำงานกับชุมชน สะท้อนประเด็นปัญหาเพื่อสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยนิสิตนักศึกษาสามารถเลือกผลิตและเผยแพร่สื่อได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น สปอตวิทยุ สปอตโฆษณา ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น หนังสั้น ศิลปะ หรืองานเขียน ฯลฯ
ดังนั้นเป้าหมายของโครงการนี้คือ การเปลี่ยนเยาวชนในยุคปัจจุบันที่เป็น "Gen ME" หรือ Me Generation ที่มองตัวเองสำคัญที่สุดและเป็นศูนย์กลาง ให้เป็น "Gen A" หรือ Generation Active/Active Citizen หรือพลเมืองสร้างสรรค์ พลเมืองตื่นรู้ ที่รู้จักการแบ่งปัน และมีจิตสาธารณะ
นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. บอกว่า โครงการนี้มีการจัดกระบวนสื่อสร้างสรรค์ 6 ประเภทคือ ประเภทแรก ละครและดนตรี ประเภทงานเขียนและการ์ตูน ประเภทกระบวนการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม, การแบบชุมชนและสถาปัตยกรรมชุมชน การออกแบบสินค้า ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ประเภทหนังสั้น, สารคดี, มิวสิกวิดีโอ, รายการ, ถ่ายภาพ, วิทยุ ประเภทโฆษณา, Viralclip, Poster, ป้าย, สื่อรณรงค์, Social Network และประเภทสุดท้าย การฝึกอบรม, ค่ายอาสา รวมทั้งหมด 72 โครงการ
โดยทั้ง 6 กลุ่มนี้ได้มีวิทยากรภายใต้ความร่วมมือจากหลากหลายอาชีพ ทั้งนักวิชาการ นักวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมโฆษณา, สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก, กลุ่มเครือข่ายละครหน้ากากเปลือย, คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในส่วนของงานวิชาการทางด้านสื่อมีคณะนิเทศศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัย ทั้งหอการค้าไทย, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยศิลปากร กลุ่มมืออาชีพทางด้านสารคดี ทั้งทีวีบูรพา, กลุ่มพลังแห่งต้นกล้า กลุ่มวิทยากรต่างๆ มาร่วมให้ความรู้เยาวชนด้วย
นายนินาท บุญโพธิ์ทอง เครือข่ายหน้ากากเปลือย วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสื่อประเภทละครและดนตรี กล่าวในการอบรมที่ผ่านมาว่า หัวใจพื้นฐานสำคัญของละครคือการสื่อสารระหว่างผู้เล่า เรื่องราว และผู้ฟัง เราต้องชัดเจนให้ได้ก่อนว่าตัวเราเองมีอะไร มีพลัง มีสิ่งที่อยากจะเล่าในเรื่องไหน รู้อย่างชัดเจนว่าจะเล่าเรื่องราวนั้นๆ ไปเพื่ออะไร และถ้าเล่าออกไปแล้วจะมีผลอย่างไรกับผู้ฟัง ชมชน หรือกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ
โดยจุดเริ่มต้นของการทำงานจุดแรกสำคัญที่สุดคือ การเริ่มต้นที่ตัวเอง ว่าอะไรที่จะเป็นพลังเปลี่ยนแปลง อะไรที่จะเป็นพลังในเชิงบวก จากนั้นตามด้วยการหาเรื่องราวที่ดีๆ เพราะเรื่องราวที่มีพลังที่จะทำให้ชุมชนนั้นๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อมีพลังแล้ว กระบวนการถัดไปของละครนั้นจะทำให้เราเกิดปัญญา เพื่อหาวิธีและหนทางที่จะฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่ไปในทางที่ดีขึ้นได้
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม…ชุมชนหรือคนดูจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เด็ดขาด ถ้าผู้ที่จะใช้สื่อการละครและดนตรีไม่เชื่อว่า "สื่อ" ของตัวเองจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ส่งสารเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ คนดูก็จะเชื่อตามสื่อที่ผู้ส่งสารต้องการส่งถึงผู้รับสาร และเมื่อนั้นการเปลี่ยนแปลงก็จะค่อยๆ ซึมซับและเกิดขึ้นได้ตามมา
นางชมัยภร แสงกระจ่าง กรรมการและเลขานุการกองทุนศรีบูรพา วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสื่อประเภทงานเขียนและการ์ตูน บอกว่า งานเขียนเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง งานศิลปะเป็นงานที่สร้างด้วยใจและมีอิทธิพลต่อใจ เพราะฉะนั้นงานศิลปะแขนงใดแขนงหนึ่งส่งอิทธิพลเข้าไปอย่างแรง กระทบใจใครคนใดคนหนึ่ง ก็จะทำให้คนคนนั้นเปลี่ยนแปลงภายในใจได้ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในใจก็จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายนอก ถ้าเป็นกับทุกคนในสังคม สังคมทั้งสังคมก็จะเปลี่ยนแปลงได้
แต่ด้วยลักษณะของงานเขียนที่ต้องเวลาพินิจพิจารณา เป็นงานที่ต้องใช้สายตาอ่านเอาตัวอักษรเข้าไปข้างใน กระบวนการการเรียนรู้นั้นค่อนข้างจะยาวนาน และมีช่องว่างให้เกิดการตีความได้ ดังนั้นคนที่จะเขียนหนังสือได้ดี สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมนั้น ต้องสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวเองได้ก่อน ต้องรู้จักตัวเองชัดเจน แจ่มแจ้ง และเรียนรู้กระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยตัวเอง จึงจะสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นรู้จักการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้
"ผู้ที่เป็นเยาวชน สิ่งที่ต้องทำเป็นเสมอในการเขียนหนังสือคือ การลงมือเขียน การอดทน อดทนที่จะลงมือทำเรื่องที่ซ้ำๆ กัน คำว่าซ้ำในที่นี้ไม่ใช่ว่าทำเรื่องเดียวกันซ้ำ แต่เป็นการทำทุกวัน ทำบ่อยๆ ทำประจำ อย่างเสมอ การทำอย่างสม่ำเสมอจะทำให้สามารถสร้างงานใหม่ๆ จินตนาการใหม่ๆ ขึ้นมาได้เรื่อยๆ และงานเขียนก็จะมีคุณภาพไปในที่สุด" เลขานุการกองทุนศรีบูรพากล่าว
ผศ.ดรเกศินี จุฑาวิจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารสังคม บอกว่า พลเมืองมีนัยยะของหน้าที่ มีสิทธิ มีบทบาท เพราะฉะนั้นคนที่ทำหน้าที่ในการเป็นพลเมืองที่เข้าไปอยู่ในสื่อพลเมืองได้นั้น จะเป็นคนที่รู้ ตระหนักถึงบทบาทสิทธิของตัวเอง ทำให้มีพลังเพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลงสังคม พัฒนาคนอื่น พัฒนาเด็ก พัฒนาชาวบ้าน พัฒนาชุมชน สามารถสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมได้ว่าจะไปพัฒนาคนอื่นอย่างไร ดังนั้นทักษะที่จะเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนได้นั้นต้องเริ่มต้นที่ "การฟัง" ว่าจะทำอย่างไรให้รับฟังคนอื่นให้เป็น การจับประเด็น สื่อสารกับคนอื่นได้ และสามารถโน้มน้าวใจ คิดให้เป็น และสื่อออกมาให้ได้ แค่นี้ก็สามารถพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมได้แล้ว
นายฤทธิชัย อยู่สูง หรือน้องกิ้ว อายุ 21 ปี จากทีมมุมดำ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี เยาวชนผู้ผลิตสื่อประเภทสารคดี บอกว่า การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากตัวเราก่อน จากนั้นก็ใช้สื่อเปลี่ยนคนรอบข้าง ถ้าทำให้คนรอบข้างเปลี่ยนได้ สังคมทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ในทางที่สร้างสรรค์ขึ้น
นายอัฐพงษ์ วรพงษ์ หรือน้องบิ๊ก อายุ 17 ปี ม.6 โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี กล่าวว่า เราทำโครงการประเด็นละคร ชื่อเยาวชนเพลินจิตสร้างสรรค์ชุมชน ตัวโครงการจะมองถึงปัญหาเด็กที่มี 2 ส่วนคือ เด็กที่ชอบออกกำลังกาย ซึ่งในชุมชนมีสนามฟุตบอลที่เป็นพื้นที่ออกกำลังกายอยู่แล้ว แต่ยังมีเด็กบางส่วนที่ไม่ชอบออกกำลังกาย โครงการนี้จึงเอาเด็กกลุ่มนี้มาเวิร์กช็อปเกี่ยวกับละครที่ศูนย์ชุมชนสร้างสรรค์เพลินจิต โดยใช้ละครกระตุ้นให้เด็กออกกำลังกาย สุดท้ายก็ทำได้ เพราะสามารถดึงดูดใจพวกเขาได้ นอกจากนี้ยังสามารถสอดแทรกโดยใช้สื่อรณรงค์เรื่องอื่นๆ เช่น งดสูบบุหรี่ ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด ลดภาวะเสี่ยงทางเพศ ลดการติดเกม
นางสาวสุภรัตน์ นวลคำ มาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจอมบึง จ.ราชบุรี ทำโครงการในหัวข้อ พัฒนาชุมชน ชื่อโครงการโลงสวยด้วยมือเรา เกี่ยวกับการวาดภาพบนโลงศพ ที่ต้องการให้ความงามเกี่ยวกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และต้องการรณรงค์เรื่องการวาดรูปเพื่อสร้างจิตสาธารณะ รู้จักการให้ในรูปแบบของศิลปะแก่ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า
วันนี้ "โครงการพลังสื่อพลเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง" ได้เริ่มเดินหน้าสู่ชุมชนและสังคมให้เกิดขึ้นแล้ว ส่วนผลตอบรับจะได้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ติดตามสื่อทั้งหมดเหล่านี้ได้เร็วๆ นี้ ที่ www.artculture4health.com
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์