จี้โลกออนไลน์เปิดพื้นที่ตรวจข่าวลวง ลดความเกลียดชัง

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ภาพโดย สสส.


จี้โลกออนไลน์เปิดพื้นที่ตรวจข่าวลวง ลดความเกลียดชัง thaihealth


ภาคประชาสังคมจี้ Social Media เปิดพื้นที่ร่วมตรวจสอบข่าวลวง ลดความเกลียดชังและด้านมืดออนไลน์


ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน องค์กร Centre for Humanitarian Dialogue (hd) สถาบัน Change Fusion ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนานักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum #2 เรื่อง "แพลทฟอร์มสื่อดิจิทัลกับการรับมือข่าวลวง ความเกลียดชังและด้านมืดในโลกออนไลน์"


ศ.อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้ก่อตั้งศูนย์นโยบายดิจิทัลอาเซียน กล่าวว่า การตั้งศูนย์นโยบายดิจิทัลฯ นี้ เพื่อทำให้สังคมเกิดความเข้าใจด้านมืดของโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้ทุกคนได้รับผลกระทบ ไม่เฉพาะประเทศหนึ่งประเทศใด ดังนั้นการเท่าทันของผู้รับข่าวสารจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องมีการการกำกับดูแลทีดีในเชิงนโยบาย


"ข่าวลวง ข่าวปลอม (Fake News) มีอยู่มากและกระจายอย่างกว้างขวาง ที่ผ่านมาแม้จะมีมาตรการกำกับแต่ปัญหาคือ คน "ไม่ไว้วางใจ" หน่วยงานที่เป็นผู้กำกับดูแลว่าตัดสินใจด้วยฐานความคิดว่าเพื่อประโยชน์ความมั่นคงและมั่งคั่งของใคร จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันติดตามและตรวจสอบการทำงานของหน่วยกำกับฯ เหล่านี้ด้วย"

ศ.อุกฤษฎ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าจะส่งเสริมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะแต่ละประเทศล้วนมีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน


จี้โลกออนไลน์เปิดพื้นที่ตรวจข่าวลวง ลดความเกลียดชัง thaihealth


ในการเสวนาเรื่อง "บทบาทผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ในการรับมือข่าวลวง บทเรียนจากสากลสู่สังคมไทย" ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีคนเข้าไปใช้แพลทฟอร์มนั้น ๆ เพิ่มขึ้นเจ้าของพื้นที่ก็จะขยายประเภทธุรกิจไปมากกว่าการเป็นพื้นที่สื่อสาร คนใช้สื่อออนไลน์มีทั้งแบบที่เป็นข้อมูลการสนทนาส่วนตัว เฉพาะกลุ่ม และเปิดเผยต่อสาธารณะ หรือติดตามข่าวสารและความบันเทิง ข่าวลวงหรือข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงเหล่านี้ก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วยทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางและต้องมีการกำกับดูแล


"อยากจะใช้คำว่า information disorder มากกว่า fake news เพราะข่าวนั้นต้องเป็นข้อเท็จจริง ผิดไม่ได้อยู่แล้ว ข้อมูลลวงเหล่านี้มีหลายระดับ ส่วนที่จะเป็นปัญหามากคือข้อมูลที่จะทำให้เกิดอันตราย (harmful) งานวิจัยพบว่า ข้อมูลลวงนั้นมักจะมาจากแหล่งข้อมูลหรือเว็บไซต์เล็ก ๆ ที่คนไม่รู้จักมากนัก ไม่ได้เป็นสื่อกระแสหลัก จึงเกิดคำถามในเชิงการบริหารจัดการว่าจำเป็นเร่งด่วนแค่ไหนในการจัดการข้อมูลเหล่านี้ ต่างประเทศจะเลือกจัดการข้อมูลที่เสี่ยงจะทำให้เกิดอันตรายหรือส่งผลกระทบด้านลบต่อสังคมก่อน"


ดร.พิจิตรา กล่าวเพิ่มเติมว่า แพลทฟอร์มใหญ่ระดับนานาชาติ มีเครื่องมือเพื่อดำเนินการกับข้อมูลที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้อยู่บ้างแล้ว อาทิ Facebook มี FB fact checking program ,community standard policy และเครื่องมือเพื่อสืบค้นจัดการกับข่าวลวง เอาออกจากพื้นที่ ลดความถี่การมองเห็นและการแจ้งเตือน Google มี Google news Initiative หรือ LINE มี digital literacy program, หรือไลน์ในไต้หวันมี Co-fact checking ส่วนในสหภาพยุโรป มีการตั้งผู้เชี่ยวชาญมาดูแลโดยเฉพาะโฆษณา ต้องแสดงความโปร่งใสว่าใครอยู่เบื้องหลังเนื้อหา ใครเป็นคนจ่ายเงินโปรโมทข้อมูล แต่ในประเทศไทยยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลข่าวลวงนี้อย่างจริงจัง สิ่งที่ต้องทำให้เกิดคือให้ประชาชนมีความเข้มแข็งและเท่าทันข่าวสาร รวมทั้งต้องส่งเสริมงานศึกษาวิจัยเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย 


จี้โลกออนไลน์เปิดพื้นที่ตรวจข่าวลวง ลดความเกลียดชัง thaihealth


ด้าน สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion กล่าวว่า ข่าวลวงคือไวรัสทางสังคมที่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการระบาดทางความคิด ในสหรัฐและอังกฤษมีงานวิจัยพบว่า ข่าวลวงนี้ แพร่กระจายได้ลึก กว้างและเร็วกว่าข่าวปกติ ซึ่งจะทำให้ภูมิต้านทานของผู้รับข่าวสารลดต่ำลง มีแนวโน้มจะเชื่อข้อมูลที่ได้รับง่ายโดยไม่ตรวจสอบ แม้จะมีเครื่องมือ fact checking แต่ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น หลายครั้งที่ส่งรายงานปัญหาแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองกลับมา ดังนั้น ภาคประชาชนจึงต้องมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาด้วย


"เคยมีงานวิจัยพบว่าคนที่เคยได้รับข้อมูลลวง แม้จะมีข่าวสารที่ถูกต้องมายืนยันอีกครั้งแต่ก็มีแนวโน้มที่อาจลังเลหรือไม่เชื่อข้อมูลจริง ดังนั้นหากคนที่ได้รับข่าวสารใช้เวลาชะลอช้าลงก่อนกดแชร์ส่งต่อ แม้แค่ครึ่งนาทีก็จะมีผลอย่างมากเพื่อให้คิดได้รอบด้านขึ้น ข่าวลวงนั้นมีวงจรชีวิตสั้นยาว ต่างกัน ในต่างประเทศมเครื่องมือหลายแบบที่จะช่วยกรองได้ เช่น chat bot ในไต้หวัน การมีเครือข่าย Fact checking หรือใช้เกมเพื่อให้เด็กในโรงเรียนได้เล่น เป็นต้น ในเมื่อข่าวลวงเป็นไวรัส ทางแก้ก็ต้องเอาคนในสังคมมาช่วยป้องกัน กลั่นกรอง และทำให้เกิดการเท่าทัน ทั้งผู้บริโภคและภาครัฐต้องร่วมมือกัน ประเด็นสำคัญคือ จะเชื่อใจหน่วยงานที่ทำหน้าที่ check fact อย่างไรว่าจะไม่ถูกแอบอ้างหรือโฆษณาชวนเชื่อ"


จี้โลกออนไลน์เปิดพื้นที่ตรวจข่าวลวง ลดความเกลียดชัง thaihealth


ด้าน เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ตั้งข้อสังเกตการนิยามและให้ความหมายของข้อมูลที่เป็นอันตราย (harmful) อย่างไร ในมิติใด เพราะเนื้อหาที่อันตรายและมีความรุนแรงไม่ได้เกิดในชั่วข้ามคืน แต่ใช้เวลาฝังรากลึกจนเป็นส่วนหนึ่งของความคิด ความเชื่อ เช่น อคติต่อแรงงานข้ามชาติ การดูถูกชนกลุ่มน้อย ดังนั้น นอกจากจะเท่าทันข่าวสาร เท่าทันเทคโนโลยีแล้วยังต้องระวังเรื่องอคติและต้องเท่าทันตัวเองด้วย


"หลายครั้งเมื่อเห็นข้อมูลแล้วจะมีอารมณ์นำมาก่อนการใช้เหตุผลหรือคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ด้วย (แม้เรารู้ว่าเป็นข่าวไม่จริง แต่เจ้านายหรือญาติส่งมาให้ ก็ต้องไลค์และแชร์) มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มีความสัมพันธ์ในกลุ่ม ต้องแสดงออกเพื่อให้ตัวเองไม่ถูกกีดกันออก หรือเป็นมารยาท เป็นต้น"


อาจารย์มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์ ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามถึงความย้อนแย้งของมาตรการที่เจ้าของแพลทฟอร์มต้องการใช้เครื่องมือเพื่อจัดการข่าวลวง ในขณะที่ขั้นตอนแรกเพื่อให้มีบัญชีในแพลทฟอร์มเหล่านั้นกลับไม่ได้ใช้การตรวจสอบที่เข้มข้นแต่แรก


"หลักการคือ กว่าจะมี account สักอัน ก็ต้องการแค่ชื่อ อีเมล ของผู้ใช้ ไม่ได้ต้องการข้อมูลอื่นมากกว่านั้น ทำให้มี account ได้ง่าย ๆ เพราะต้องการให้มียอดสมาชิกและผู้ใช้มาก ๆ กว้างขวาง เลยไม่แน่ใจว่าเจ้าของแพลตฟอร์มต้องการจัดการข่าวลวงจริงหรือไม่"


อย่างไรก็ตาม อาจารย์มุกดา เห็นว่า ในด้านหนึ่งข้อดีของข่าวลวง คือทำให้ข่าวจริงและบทบาทของสื่อมวลชนมีตัวตนและมีศักดิ์ศรีเพิ่มมากขึ้น


จี้โลกออนไลน์เปิดพื้นที่ตรวจข่าวลวง ลดความเกลียดชัง thaihealth


ส่วน ธีรมล บัวงาม สำนักข่าวประชาธรรม กล่าวว่า ข่าวลวงมีปัญหาหลายมิติ ทั้งในด้านช่องว่างของความรู้ การใช้ภาษา ปัญหาเชิงวัฒนธรรมด้วย และการศึกษาพฤติกรรมของคนในสังคมออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วยังมีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ไม่ทั่วถึง ไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ทำให้การตรวจสอบและจัดการข่าวลวงยากขึ้นตามไปด้วย


"คนต่างจังหวัด แม้จะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตยังยาก บางพื้นที่ต้องให้พ่อหลวงใช้อินเตอร์เนตที่อบต. เพื่อรับข่าวสารแล้วทำหน้าที่กระจายข่าวต่อ เมื่อการเข้าถึงยากแล้วก็ไม่ต้องพูดเรื่องการทำให้คนเท่าทันหรือไปจัดการข่าวลวง โดยเฉพาะคนกลุ่มชายขอบ คนกลุ่มน้อยต่าง ๆ คนไร้สิทธิไร้เสียง ทำอย่างไรให้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึงทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยนกันและเท่าทันได้ การมีพื้นที่กลางก็จะทำให้เห็นความแตกต่างหลากหลายด้วย" 


ส่วน สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์นโยบายดิจิทัลอาเซียน เห็นว่า ความท้าทายคือการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดดุลระหว่างการป้องกันสิทธิส่วนบุคคลและประโยชน์ของผู้บริโภคส่วนรวม ทำให้เกิดกลไกการตรวจสอบที่ดี มีประสิทธิภาพ


"เจ้าของแพลตฟอร์มหลักใหญ่ ๆ ในประเทศไทยไทยยังไม่มีการรวมตัวเพื่อวางมาตรการกำกับดูแลที่ชัดเจน จริงจัง ดังนั้น อาจต้องใช้พลังทางสังคมเพื่อกดดันให้องค์กรเหล่านี้ได้แสดงความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมกำกับดูแล ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภคด้วย"

Shares:
QR Code :
QR Code