จิตแพทย์แนะทางสุข “ปรับ 4 เติม 3”
เปลี่ยนมุมมอง เปิดใจกว้างนำพาสุข
ช่วงเวลาแห่งความแตกแยกขัดแย้งทั้งความคิดและการปฏิบัติของคนไทยจำนวนหนึ่ง ด้วยผลพวงทางการเมืองทำให้แยกกันเป็นคนไทย 2 กลุ่มที่เผชิญหน้ากันอย่างเป็นศัตรู และเป็นศัตรูที่ต้องห้ำหั่นกันให้พินาศกันไปข้างหนึ่ง ไม่มีอภัยให้แก่กันอย่างเด็ดขาดทั้งๆ ที่เป็นคนไทยด้วยกัน
แต่ทั้งสองกลุ่มทั้งที่เรียกตัวเองว่านักการเมือง ทั้งที่อ้างว่าเป็นประชาชนคนไทยก็ไม่ได้หมายถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นคนไทยกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น
เพียงแต่ว่าเพราะเป็นคนไทยด้วยกันแล้วมาตั้งป้อมขัดแย้งกัน ย่อมนำมาซึ่งความห่วงกังวลให้คนไทยที่เหลือทั้งประเทศทั้งที่ได้รับผลอันเกิดจากการกระทำพฤติกรรมที่แสดงออกต่อกันโดยตรงอย่างรุนแรงหรือที่รับรู้โดยตรงอย่างรุนแรงหรือที่รับรู้โดยทางอ้อมเช่นผ่านสื่อ การบอกเล่ากรอกหูที่หยาบคายและรุนแรง ย่อมสร้างความทุกข์ให้เกิดแก่คนไทยได้ทุกคนไม่มากก็น้อย ด้วยความห่วงใย
มีการสำรวจแบบโพลล์โดยเอแบคโพลล์อันเนื่องมาจากความขัดแย้งดังกล่าวเพื่อทำการศึกษาสำรวจความเห็นคนไทยกลุ่มหนึ่งโดยศูนย์เครือข่ายวิชาการ เพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชนมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เปิดแถลงข่าวที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรื่อง “ความสัมพันธ์ในครอบครัวกับวิกฤติการเมือง” เป็นผู้เปิดเผยผลวิจัยศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสุขของคนภายในครอบครัว ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองของสังคมไทย ศึกษาระหว่างวันที่ 30 ต.ค ถึง 3 พ.ย.51 ในกลุ่มตัวอย่างที่มีสิทธิเลือกตั้งเขตกทม.และปริมณฑล 2,855 คน
ดร.นพดลแถลงว่าเมื่อถามถึงความสุขของครอบครัวส่วนใหญ่ 72.5% มีความสุขมากถึงมากที่สุด อีก 13.8% มีความสุขปานกลาง 13.7% มีความสุขน้อยถึงไม่มีความสุขเลยค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขของครอบครัวอยู่ที่ 6.92 จากคะแนนเต็ม 10 หมายถึงว่าประชาชนยังมีความสุขค่อนข้างมากแม้การเมืองจะขัดแย้งกันรุนแรง
ผลสำรวจพบว่าเพศหญิงมีความสุขค่อนข้างมากแม้การเมืองจะขัดแย้งกันรุนแรง ผลสำรวจพบว่าเพศหญิงมีความสุขต่อบรรยากาศภายในครอบครัวมากกว่าชาย และคนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มีความสุขน้อยสุด และอายุเกิน 50 ปีขึ้นไปมีความสุขมากที่สุด ส่วนผู้มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีความสุขน้อยที่สุด กลุ่มคนมีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมีความสุขมากที่สุด
“เมื่อจำแนกตามพรรคการเมืองที่เคยเลือกในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ผลสำรวจว่าประชาชนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์มีความสุขมากที่สุดคือ 67.1% รองลงมาคือคนเลือกพรรคพลังประชาชนอยู่ที่ 71.1% และเลือกพรรคอื่นๆ มีอยู่ 70% แต่สิ่งที่น่าเป็นป่วงคือ คน 82% พบเห็นการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหามีคะแนนเฉลี่ย 7.59 จากคะแนนเต็ม 10 หมายความว่ามีการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาในระดับมากที่สุด” ดร.นพดล กล่าว
ดร.นพดลกล่าวต่ออีกว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อความสุขพบว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ
1. สุขภาพใจ ยิ่งคนในครอบครัวมีสุขภาพจิตดี ไม่มีความกดดันความตึงเครียดจะทำให้มีความสุขต่อบรรยากาศภายใน
2. สุขภาพกาย หากคนในครอบครัวมีสุขภาพดีก็ส่งผลให้คนในครอบครัวมีความสุขเช่นกัน
3.การใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว ผลวิจัยพบว่ายิ่งคนพบเห็นการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัวด้วยวาจา ด้วยกาย การกระทำต่างๆจะยิ่งทำให้ความสุขภายในครอบครัวลดลง
4.การเห็นคนไทยแสดงความจงรักภักดี
5.บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชน
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลักการง่ายๆ ในการเผชิญภาวะเศรษฐกิจ การเมือง หรือปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดมีการศึกษาพบว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่มักผ่านสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีอยู่เสมอ และอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถผ่านไปได้ ซึ่งกลุ่มที่ผ่านสถานการณ์เลวร้ายได้มักมีพื้นฐานบางอย่างคือลักษณะ 7 ประการ ได้แก่ ปรับ 4 เติม 3
การปรับ คือ
1.ปรับอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ ท้อแท้ เกลียดจะทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ต้องตั้งสติ
2.ปรับความคิด การคิดบวกไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง หรือเศรษฐกิจ
3.ปรับการกระทำ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ทันที เพียงปรับพฤติกรรมของตัวเอง เช่นเรื่องการเมืองปรับการกระทำด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง
4.ปรับความคิดคาดหวัง คือ ปรับแนวคิดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จะช่วยลดความกดดันความเครียดได้
ส่วนการเติม เป็นเรื่องที่เกือบทุกคนมีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วแต่ยังไม่ได้นำมาทำ
1.เติมความศรัทธา ทั้งในตนเอง ศาสนาความดีงาม
2.เติมบัตร เพราะแต่ละคนนั้นไม่ได้อยู่คนเดียงในโลก บางครั้งเมื่อมีปัญหาสามารถปรึกษาคนรอบตัวได้ การขอความช่วยเหลือเป็นเรื่องปรกติไม่ใช่เรื่องน่าอาย
3.เติมจิตให้กว้าง เป็นการเปิดใจปรับเปลี่ยนมุมมองต่อคนและสังคมรอบตัว ต้องไม่คิดว่าสิ่งที่คิดนั้นถูกต้องอยู่เพียงคนเดียว เพราะจะทำให้จิตใจคับแคบลงและทำให้เกิดความเครียด เพราะทุกคนต่างมีเหตุผลของตนเองทั้งนั้น นพ.ยุทธ กล่าวทิ้งท้าย
หันมาร่วมกันสร้างสุขให้ตัวเองและสังคม ตามคำแนะนำของคุณหมอด้วยการปรับ 4 เติม 3 กันเถอะครับ
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
Update 27-01-52