จิตอาสาร่วมใจ ขับเคลื่อนประชุม ISPAH 2016

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


จิตอาสาร่วมใจ ขับเคลื่อนประชุม ISPAH 2016 thaihealth


ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The International Congress on Physical Activity and Health 2016 : ISPAH 2016 Congress) ระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย.2559 


ในโอกาสที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายภาคีอย่างกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพ มหานคร จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The International Congress on Physical Activity and Health 2016 : ISPAH 2016 Congress) ระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย.2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายระดับโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน จาก 80 ประเทศเข้าร่วมนั้น


เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมประชุม อันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทยด้วย จึงได้มีการเชิญชวนจิตอาสาให้มามีส่วนร่วม และได้จัดการปฐมนิเทศ "จิตอาสา ISPAH" ขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจและรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับงานประชุม


จิตอาสาร่วมใจ ขับเคลื่อนประชุม ISPAH 2016 thaihealth


ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ในฐานะประธาน คณะกรรมการจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 กล่าวในการปฐมนิเทศว่า การประชุม ISPAH 2016 ถือเป็นการประชุมเรื่องกิจกรรมทางกายและสุขภาพครั้งแรกในประเทศไทยและเอเชีย ในส่วนของประเทศไทยเชื่อว่าจะมีผลอย่างมากต่อการผลักดันยุทธศาสตร์ชาติเรื่องกิจกรรมทางกาย ให้เกิดการขับเคลื่อนในประเทศไทย


ทั้งนี้ การขับเคลื่อนกิจกรรมทางกายต้องอาศัยการมีส่วนร่วมเป็นอย่างมากจึงจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และการจัดงานในครั้งนี้เป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคนโยบาย ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในส่วนของ "จิตอาสา" ที่มีการปฐมนิเทศขึ้นในครั้งนี้ นับเป็นพลังสำคัญในอีกภาคส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนการประชุมที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพให้ดำเนินการไปได้ด้วยความเรียบร้อยในงานประชุม ISPAH 2016 ครั้งนี้มีจิตอาสาที่สมัครเข้ามาช่วยงานกว่า 200 คน ซึ่งได้มีการคัดเลือกอาสาสมัครจากธนาคารจิตอาสามาร่วมงานประมาณ 50-60 คน คนที่อายุน้อยที่สุดคือ 16 ปี คนที่อายุมากสุดคือ 66 ปี


"ปัจจุบันพบว่าในการจัดงานประชุมนานาชาติจะมีกลุ่มจิตอาสามาช่วยเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งงานประชุม ISPAH 2016 ในครั้งนี้ก็เช่นกันมีจิตอาสามาช่วยให้บริการ ดูแล และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งเท่ากับเป็นการยกระดับคุณภาพการประชุมให้ดียิ่งขึ้น และจิตอาสาเหล่านี้ยังเป็นเสมือนตัวแทนให้กับทุกภาคส่วนได้มาร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆ คนรุ่นใหม่ที่มีจิตใจอยากช่วยเหลือผู้อื่นได้เข้ามามีประสบการณ์ในการทำงานไปด้วย"


จิตอาสาร่วมใจ ขับเคลื่อนประชุม ISPAH 2016 thaihealth


สำหรับหน้าที่ความรับผิดชอบของจิตอาสาในงานประชุมนี้เกี่ยวข้องกับงานหลายส่วน เช่น ส่วนของการลงทะเบียน การดูแลโซนนิทรรศการ การช่วยประสานงาน ช่วยตอบคำถามต่างๆ การให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมประชุม รวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ฯลฯ


ทางด้านอาจารย์เอเชีย หรือ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา เปิดเผยว่า ธนาคารจิตอาสาเป็นการเชื่อมโยงระบบการทำงานจิตอาสา โดยเปิดรับฝากเวลาจากจิตอาสา ทางธนาคารจะเก็บข้อมูลของจิตอาสาแต่ละคนว่ามีเวลาว่างช่วงไหน มีความสนใจด้านใดเป็นพิเศษ เพื่อจับคู่กับองค์กรที่ต้องการจิตอาสาให้มีความเหมาะสม


ขณะนี้มีจิตอาสาฝากเวลาไว้กับธนาคารรวมแล้ว 2 ล้านกว่าชั่วโมงต่อปี โดยจิตอาสาที่มาช่วยเหลือการประชุม ISPAH ครั้งนี้ใช้เกณฑ์พิจารณาจากการใช้ภาษาอังกฤษด้วย เนื่องจากเป็นงานประชุมระดับนานาชาติ รวมถึงพิจารณาเรื่องของมนุษยสัมพันธ์ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้การติดต่อสื่อสาร พูดคุยกับผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างชาติ เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทย


"ในส่วนของการปฐมนิเทศจิตอาสาครั้งนี้ เราจะเน้นในเรื่องของคุณภาพการฟัง หรือสุนทรียสนทนา เน้นการเป็นผู้ฟังที่ดี เมื่อรู้จักฟังผู้อื่นก็จะช่วยให้เข้าใจผู้อื่น ทำให้เป็นอาสาสมัครที่ดี ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากคนขาดทักษะในการฟัง ตลอดจนมีการอบรมในเรื่องของทักษะการกลับมาอยู่กับตัวเองและสะท้อนตัวเอง เพื่อให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็น 3 ปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จิตอาสาจะต้องมี และสิ่งที่จิตอาสาจะได้รับกลับไปคือความภาคภูมิใจในการร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม, การได้อุทิศความรู้ ความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งเป็นการเข้าถึงความสุขอันประณีต เป็นการสร้างความสุขเพื่อคนอื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน" ดร.สรยุทธ กล่าว


จิตอาสาร่วมใจ ขับเคลื่อนประชุม ISPAH 2016 thaihealth


ด้านอาสาสมัครจิตอาสา นายสมศักดิ์ ธรรมร่มดี อายุ 66 ปี ซึ่งเป็นอาสาสมัครที่มีอายุมากที่สุดในงานประชุม ISPAH2016 บอกว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่ได้มาร่วมงาน เพราะเป็นการประชุมระดับนานาชาติ ปัจจุบันตนเองเป็นพนักงานบำนาญขององค์ กรสหประชาชาติ มีความรู้ด้านภาษาจีน อังกฤษ และฝรั่งเศส จึงอยากใช้ความรู้ที่มีและเวลาที่ว่างมาทำประโยชน์แก่ประเทศชาติและสังคม ที่ผ่านมาเคยช่วยงานจิตอาสามาหลายครั้ง อาทิ การทำงานจิตอาสากับคนตาบอดและคนพิการ, การทำหน้าที่เป็นล่ามช่วยแปลภาษา และสำหรับงานครั้งนี้มองว่าเราต้องศึกษารายละเอียดของงานประชุมให้ดี เพื่อให้ข้อมูลและช่วยเหลือผู้เข้าประชุมได้อย่างถูกต้อง ไม่ให้เสียชื่อเสียงประเทศไทย ซึ่งหากประเทศไทยมีการทำงานจิตอาสาเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ สังคมไทยที่น่าอยู่มากขึ้นเท่านั้น


จิตอาสาร่วมใจ ขับเคลื่อนประชุม ISPAH 2016 thaihealth


ทางด้าน มีมี่-ปนิตา สุวรรณกุล อายุ 38 ปี ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว ซึ่งเป็นอาสาสมัครจิตอาสาอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า การทำจิตอาสาเป็นกิจกรรมที่ดี ซึ่งเหมาะกับคนที่ต้องการช่วยเหลือสังคม ด้วยการใช้ทักษะและความสามารถของตัวเองมาแบ่งปัน ที่ผ่านมาก็ทำจิตอาสาอยู่เรื่อยๆ โดยเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น ช่วยเหลือเด็กตาบอด ทำกิจกรรมกับคนไร้บ้านของมูลนิธิกระจกเงา ด้วยการนำจักรยานไปแจกอาหาร ส่วนงาน ISPAH ในครั้งนี้ก็ทำให้เราได้ใช้ทักษะด้านภาษา


ปิดท้ายด้วย น้องชนัน-ชนัญชิตา เรืองโอชา อายุ 19 ปี ชั้นปี 2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่า การทำจิตอาสาเป็นสิ่งที่ตื่นเต้น น่าค้นหา ว่าเราจะทำอะไรให้คนอื่นได้บ้าง และยังทำให้เรามีเพื่อนมากขึ้น ได้ฝึกฝนการทำงานร่วมกับผู้อื่น เกิดทักษะการแก้ปัญหาล่วงหน้า โดยที่ผ่านมาในมหาวิทยาลัยก็เคยทำกิจกรรมค่ายอาสาช่วยเด็กๆ ด้อยโอกาสในต่างจังหวัดมาบ้างแล้ว


เชื่อว่าบรรดาเหล่าจิตอาสาที่อาสามาเพื่องานประชุม ISPAH ในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับความสุขจากการได้ร่วมช่วยเหลือสังคมตามความสามารถแล้ว ยังช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code