‘จานร่อน’ กีฬาสร้างสุขภาพคนพิการ
น่าสังเกตว่าวันนี้การส่งเสริมคนพิการได้ออกกำลังกายจากภาครัฐยังดูเหมือนจะไม่มีการตระหนักถึงสักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยเสริมสุขภาวะและเป็นขวัญกำลังใจ แล้วคนพิการเองก็ใช้กีฬาสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ
สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดให้มีการแข่งขันจานร่อนโรงเรียนการศึกษาพิเศษ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 4 ภาค ได้แก่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนพิการได้มีโอกาสออกกำลังกายมากยิ่งขึ้น
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส.ทำงานในเชิงส่งเสริมสุขภาพสุขภาวะ โดยพยายามที่จะผลักดันให้คนพิการออกมาใช้ชีวิต ออกกำลังกาย และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเหมือนคนทั่วไป จึงได้พยายามผลักดันการสร้างเสริมสุขภาพให้พวกเขาได้มีสุขภาพที่ดีขึ้น “เราสนับสนุนในด้านองค์ความรู้การจัดอบรมครูผู้สอน อุปกรณ์ในการเล่นจานร่อน เพราะอยากให้ผู้พิการได้ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายบ้าง สำหรับการจัดแข่งขันให้เด็กพิการในครั้งนี้ มองว่าเป็นจุดเชื่อมต่อของการทำงาน เพื่อให้เด็กๆ ได้รับประโยชน์จากการออกกำลังกายอย่างเต็มที่ โดยข้อดีของการจัดแข่งขัน ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์แก่เด็กๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ในการสร้างเครือข่ายของพ่อแม่ผู้ปกครอง-ผู้ดูแลเด็กพิการที่มาร่วมแข่งขัน ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการดูแลเด็กๆ”ดร.ประกาศิต กล่าว
ด้านประโยชน์ของการเล่นจานร่อน ผศ.ดร.สุชาติ ทวีพรปฐมกุล ผู้อำนวยการแผนงานส่งเสริมนวัตกรรมการออกกำลังกาย และกีฬาเพื่อสุขภาพ สสส. และอาจารย์สถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า การเล่นจานร่อนเป็นการออกกำลังกายประเภทแอโรบิก เป็นการเล่นกีฬาเบาๆ ที่มีประโยชน์ต่อการหายใจ และระบบหมุนเวียนเลือด ถ้าได้เล่นเป็นประจำ หรือฝึกฝนมากๆ ก็สามารถสร้างกล้ามเนื้อ และช่วยให้สุขภาพของผู้เล่นแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
“จริงๆ แล้วการเลือกเล่นกีฬาแต่ละประเภท จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับสภาพและความพร้อมของร่างกาย สำหรับการเล่นจานร่อนนี้ บอกได้ว่าผู้พิการสามารถเล่นได้ทุกประเภท โดยแต่ละความพิการก็จะมีเทคนิคการเล่นที่แตกต่างกันไป ใช้เรื่องการโยนแม่น โยนลง โยนโดนวัตถุสิ่งของ โดยจะกำหนดกติกาไว้ให้เป็นเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญทางจิตวิทยาว่าชีวิตของเรา จะทำอะไรควรมีเป้าหมายไว้ก่อน จากนั้นก็ไปฝึกซ้อม ไปเล่นให้เกิดความสนุกสนาน”
โดยผศ.ดร.สุชาติ ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จานร่อนเป็นกีฬาที่เล่นง่าย เล่นได้ทุกวัย แม้มีพื้นที่จำกัดก็สามารถเล่นได้ และคาดว่า กีฬาชนิดนี้จะช่วยให้ผู้พิการหันมาออกกำลังเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 50 ด้วย
ขณะที่พลตรีโอสถ ภาวิไล นายกสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยเล่าถึงการแข่งขันครั้งนี้ว่า เริ่มต้นจากแนวคิดที่อยากจะส่งเสริมให้คนพิการได้ออกกำลังกายมากขึ้น จึงคิดหากีฬาที่เหมาะสมมาให้ผู้พิการเล่นเพิ่มเติม จนกระทั่งไปพบว่าญี่ปุ่นได้ส่งเสริมการเล่น “จานร่อน” ให้เป็นกีฬาสำหรับคนพิการ สามารถเล่นได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกายจึงนำการเล่นจานร่อน มาอบรมให้กับครูผู้สอนประจำโรงเรียนการศึกษาพิเศษ เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา เพื่อนำไปสอนต่อแก่เด็กพิการในโรงเรียน
การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือระดับชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ตามการแบ่งกลุ่มคนพิการประเภทเดียวกันทั้งหมด 8 กลุ่ม ได้แก่ตาบอด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ตาบอดสนิทและตาบอดเลือนราง,การเคลื่อนไหวแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนั่งและกลุ่มยืน,ทางสมอง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มนั่งและกลุ่มยืน, ทางปัญญา และทางหูโดยมีการแข่งขันรอบคัดเลือกระดับภูมิภาคในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยจะมีการแข่งขันจานร่อนโรงเรียนการศึกษาพิเศษชิงแชมป์ประเทศไทยจะจัดการแข่งขันวันที่21-22 มิถุนายน2557ณมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
‘จานร่อน’ กีฬาที่เหมาะแก่ผู้พิการวันนี้จึงน่าได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังแล้ว
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ