‘จากใจสู่ใจ’ สร้างคุณค่าภายใน เพื่อคนหลังกำแพง

          "ด้านหลังกำแพงสูง มันเต็มไปด้วยความมืดหม่น ทุกข์ เศร้า เครียด คับแค้นในหัวใจ ที่นอกจากจะขาดอิสระทางกายแล้ว อิสรภาพทางใจก็ดูจะถูกจำกัดให้วนเวียนอยู่ภายในลูกกรงเหล็กแข็ง" นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากความรู้สึกของสตรีผู้ถูกจองจำอยู่ภายใต้ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ก่อนที่จะมีแสงสว่างมาขับไล่ก้นบึ้งของความรู้สึกซึมเศร้าให้จางลงไป


/data/content/25416/cms/e_bcdkrstwz346.jpg


          โครงการจากใจสู่ใจ : คุณค่า ความสุข และพลังภายในที่แท้จริง ถือเป็นกิจกรรมที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมและศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นเพื่อสร้างกำลังใจให้ผู้ต้องขังได้ใช้เวลาในเรือนจำอย่างมีคุณค่า ไม่ถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการสร้างคุณค่าจากภายใน ก่อนคืนคนดีสู่สังคม


          ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส.ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง ตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ ซึ่งพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชร  กิติยาภา ได้ทรงมีส่วนสำคัญยิ่งในการสนับสนุนให้เกิดข้อกำหนดนี้ ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่เรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ 1.ปฏิรูปเรือนจำ ปรับเปลี่ยนจากสถาบันเพื่อการลงโทษ เป็นชุมชนแห่งความห่วงใย 2.คืนชีวิตให้ชีวิต เน้นกลุ่มผู้ต้องขังหญิงที่เผชิญภาวะซับซ้อนและเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง ฯลฯ และ 3.โครงการจากใจสู่ใจฯ พัฒนาคุณภาพชีวิต ให้สัมผัสถึงคุณค่าและพลังภายในที่แท้จริง


         /data/content/25416/cms/e_abeinoqruvx6.jpg นอกจากนี้ ยังทำงานกับชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมของพื้นที่ภายนอก ที่จะช่วยโอบอุ้มให้ผู้ต้องขังหญิงมีโอกาสกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณค่าและยั่งยืน และการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบเรือนจำผู้ต้องขังหญิง และระบบยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง ใน 5 ประเด็น คือ 1.ผู้ต้องขังหญิงล้นคุก 2.สุขภาพอนามัยผู้ต้องขังหญิง 3.พัฒนาศักยภาพและกำลังใจเจ้าหน้าที่ 4.สุขภาพอนามัยผู้ต้องขังต่างชาติ และ 5.การส่งผู้ต้องขังคืนสู่ชุมชน


          "เรารู้สึกถึงคุณค่าในการสร้างโอกาสของการเปลี่ยนแปลงจากภายในมิติของจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง ต่อการไขกุญแจดอกที่ 2 หลังจากที่ไขผ่านประตูเรือนจำออกมาแล้ว นั่นคือ การไขจิตใจของตัวเองในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในขณะเดียวกันสังคมก็ต้องยอมรับและให้โอกาสกับผู้ที่ก้าวพลาด รวมถึงเราต้องสร้างความเข้มแข็งของจิตใจ เริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัวที่ทุกฝ่ายต้องหันกลับไปปลูกจิตสำนึกที่ดี สร้างความยอมรับความเข้าใจในสภาวะจิตใจของตัวเองและผู้อื่น และพร้อมปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข" ดร.ประกาศิต กล่าว


          นางสาวอวยพร สุธนธัญญากร หัวหน้าโครงการจากใจสู่ใจ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการจากใจสู่ใจฯ มีผู้ต้องขังหญิงเข้าร่วม 33 คน มุ่งเน้นทำความเข้าใจตัวเองและผู้อื่น ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ ทำงานศิลปะ การทบทวนชีวิต จัดวงคุยให้เกิดการฟังที่ลึกซึ้งซึ่งคลายทุกข์ได้ จากการทำกิจกรรมเดือนละ 4 ครั้ง ดำเนินการทั้งสิ้น 8 ครั้ง


          ด้วย 4 หลักคิดที่ว่า 1.เรียนรู้จากตัวเอง เพื่อทำความเข้าใจตนเองและเข้าใจคนอื่น 2.เรียนรู้เรื่องราวในสังคมที่มี อิทธิพลต่อชีวิตเรา เช่น เรื่องความเป็นเพศ เรื่องแรงกระตุ้นของระบบตลาด คุณค่าความเป็นมนุษย์ 3.เรื่องการรู้เนื้อรู้ตัว ฝึกสติ และคุณค่าด้านในที่เอื้อให้เกิดความผาสุกลึกๆ จากภายในจิตใจตนเอง และ 4.ตระหนักในความเชื่อมโยงสัม พันธ์ของเราแต่ละคน ซึ่งพบว่ากิจกรรมที่ทำช่วยให้ผู้ต้องขังหญิงสบายใจขึ้น เกิดการรับฟังและเข้าใจระหว่างกันของผู้ต้องขัง และสามารถเปลี่ยนความคิดที่เคยมองว่าตนเองต่ำต้อยด้อยค่า เป็นเริ่มคิดเห็นในคุณค่าในตัวเอง นับว่าโครงการประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง


          "ไม่มีใครเกิดมาแล้วอยากติดคุก มีปัจจัยแวดล้อมจำนวนมากทำให้ต้องเข้าไป ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผู้ต้องหญิงเพิ่มจำนวนขึ้นมาก แต่สิ่งแวดล้อมในเรือนจำยังมีความแออัด ชีวิตอยู่ลำบากทั้งที่ถูกจำกัดอิสรภาพอยู่แล้ว เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาส ไม่ได้พูดหรือแสดงความคิดเห็นอะไร นอกจากทำตามข้อบังคับของเรือนจำ หากมีโครงการที่ทำให้ผู้ต้องขังหญิงได้ทบทวนระบบในจิตใจตนเองก็จะส่งผลดี ที่สำคัญคนในสังคมต้องให้โอกาสและเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ก้าวพลาด/data/content/25416/cms/e_defhlnqrsx59.jpgด้วย


          สิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้ในการมาร่วมทำกิจกรรมจากคนหลังกำแพง รู้สึกว่ามีความอ่อนโยนมากขึ้น และได้เห็นว่ามนุษย์ก็มีทั้งด้านมืดและก็ด้านสว่าง และเราก็ได้เห็นความงามของผู้ต้องขังในด้านสว่าง ด้านดีงามของเขาเยอะมาก ในขณะเดียวกันหากหันมามองตัวเองก็จะพบว่าตัวเราก็มีด้านมืดเหมือนกัน ความรู้สึก ความคิดที่จะตัดสินคนอื่น มองว่าคนอื่นไม่ดี มันหายไป ซึ่งคนในนี้ที่ครั้งหนึ่งเราตัดสินว่าเขาน่ากลัว ทำเรื่องร้ายๆ มันไม่ใช่เลย เพราะทุกคนก็เป็นมนุษย์ที่มีด้านดีอีกมาก ดังนั้นเวลาเข้ามาเราก็ได้พลังด้านดี ด้านบวกกลับไปทุกครั้ง" หัวหน้าโครงการจากใจสู่ใจ กล่าว


          เมื่อจบกิจกรรมจากใจสู่ใจ ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสเจอญาติ พบปะ ถ่ายทอดความรักที่มีต่อกัน พูดคุยอย่างใกล้ชิดโดยไม่ต้องมีกระจกใสมากั้น ชมผลงานวาดรูป อ่านเรื่องราวความรู้สึกผ่านการเขียนจดหมายถึงตัวเอง ฟังบทกวีที่ออกมาจากส่วนลึกของผู้อบรม ถ่ายรูปและได้กินอาหารร่วมกันในครอบครัว เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าอย่างที่สุดแล้ว.


 


         


          ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code