“จากใจสู่ใจ” คุณภาพ-คุณค่าผู้ต้องขังหญิง
ผนึกภาคประชาสังคม-ธุรกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง สนองพระดำริพระองค์ภาฯ หวังลดจำนวนผู้ต้องขัง-สร้างสุขอนามัย-พัฒนาศักยภาพ รวมถึงสร้างคุณค่าจากภายในผู้ต้องขัง ก่อนกลับคืนสู่ชุมชน
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ในกิจกรรมจากใจสู่ใจ คุณค่า ความสุข และพลังภายในที่แท้จริง ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง ตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ ซึ่งพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ทรงมีส่วนสำคัญยิ่งในการสนับสนุนให้เกิดข้อกำหนดนี้ ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่เรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง
ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ 1.ปฏิรูปเรือนจำ ปรับเปลี่ยนจากสถาบันเพื่อการลงโทษ เป็นชุมชนแห่งความห่วงใย 2.คืนชีวิตให้ชีวิต เน้นกลุ่มผู้ต้องขังหญิงที่เผชิญภาวะซับซ้อนและเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง ฯลฯ และ 3.โครงการจากใจสู่ใจฯ พัฒนาคุณภาพชีวิต ให้สัมผัสถึงคุณค่า และพลังภายในที่แท้จริง
“นอกจากนี้ ยังทำงานกับชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมของพื้นที่ภายนอก ที่จะช่วยโอบอุ้มให้ผู้ต้องขังหญิง มีโอกาสกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณค่าและยั่งยืน และการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบเรือนจำผู้ต้องขังหญิงและระบบยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง ใน 5 ประเด็น คือ 1.ผู้ต้องขังหญิงล้นคุก 2.สุขภาพอนามัยผู้ต้องขังหญิง 3.พัฒนาศักยภาพและกำลังใจเจ้าหน้าที่ 4.สุขภาพอนามัยผู้ต้องขังต่างชาติ และ 5.การส่งผู้ต้องขังคืนสู่ชุมชน” ดร.ประกาศิต กล่าว
น.ส.อวยพร สุธนธัญญากร หัวหน้าโครงการจากใจสู่ใจ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการจากใจสู่ใจฯ มีผู้ต้องขังหญิงเข้าร่วม 33 คน มุ่งเน้นทำความเข้าใจตัวเองและผู้อื่น ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ ทำงานศิลปะ การทบทวนชีวิต จัดวงคุยให้เกิดการฟังที่ลึกซึ้ง ซึ่งคลายทุกข์ได้ จากการทำกิจกรรมเดือนละ 4 ครั้ง ดำเนินการไปแล้ว 7 ครั้ง พบว่า ช่วยให้ผู้ต้องขังหญิงสบายใจขึ้น เกิดการรับฟังและเข้าใจระหว่างกันของผู้ต้องขัง และสามารถเปลี่ยนความคิดที่เคยมองว่าตนเองต่ำต้อยด้อยค่า เป็นเริ่มคิดเห็นในคุณค่าในตัวเอง นับว่าโครงการประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
“ไม่มีใครเกิดมาแล้วอยากติดคุก มีปัจจัยแวดล้อมจำนวนมากทำให้ต้องเข้าไป ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ต้องหญิงเพิ่มจำนวนขึ้นมาก แต่สิ่งแวดล้อมในเรือนจำยังมีความแออัด ชีวิตอยู่ลำบากทั้งที่ถูกจำกัดอิสรภาพอยู่แล้ว เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาส ไม่ได้พูดหรือแสดงความคิดเห็นอะไร นอกจากทำตามข้อบังคับของเรือนจำ หากมีโครงการที่ทำให้ผู้ต้องขังหญิงได้ทบทวนระบบในจิตใจตนเองก็จะส่งผลดี ที่สำคัญคนในสังคมต้องให้โอกาสและเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ก้าวพลาดด้วย” น.ส.อวยพร กล่าว
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข