จากเทพสู่ธรรม : วิถีลาหู่บ้านแม่ผักแหละ

พระบัณฑิตอาสาเรียนรู้การทำงานชุมชนอยู่ดีมีสุข

 จากเทพสู่ธรรม : วิถีลาหู่บ้านแม่ผักแหละ

          หลังจากที่ทีมงานโครงการ การสื่อสารเพื่อการพัฒนาพระบัณฑิตอาสา(สพช.) ภายใต้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.ได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา ทำงานขึ้นเขาลงห้วย นอนกลางดิน กินกลางทรายเจอกับความยากลำบากในการสื่อสาร ที่ต่างคนต่างไม่คุ้นเคยมากนัก ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระบัณฑิตอาสาและแกนนำแต่ละชุมชนทั้ง 4 จังหวัด 35 หมู่บ้าน ทั้งนี้จุดหมายปลายฝันคือพระบัณฑิตอาสาเรียนรู้กระบวนการการทำงานและชุมชนอยู่ดีมีสุขทั้งร่ายกาย จิตใจและสังคมสามารถอยู่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยการนำหลักพุทธธรรมประยุกต์ใช้การครองตนได้อย่างมีความสุข

 

          เรียนรู้ประเพณี…

 

          ประเพณีกินวอของชาวลาหู่ที่จัดขึ้นมาตั้งแต่บรรพบุรุษในครั้งอดีตจะมีการจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 7 วันโดยแบ่งออกเป็นวันปีใหม่ของผู้หญิง 4 วันและวันของผู้ชาย 3 วัน ในเทศกาลประเพณีกินวอเป็นการเฉลิมฉลองต้อนรับเทพเจ้าวอ ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่กลุ่มชาติพันธ์ลาหู่ให้ความเคารพอย่างมาก เพราะท่านจะเป็นผู้คอยช่วยปกป้องคุ้มครองให้ชาวบ้านมีความสงบสุข ประเพณีกินวอดั้งเดิมของชาวลาหู่ในครั้งอดีตนั้นจัดกันเฉพาะแต่กลุ่มของชาวลาหู่กันเอง คนข้างนอกหมู่บ้านจะไม่สามารถเข้าไปร่วมกิจกรรมได้ ขณะเดียวกันคนในหมู่บ้านไม่สามารถออกจากหมู่บ้านได้เมื่อมีประเพณีกินวอ สิ่งที่น่าประทับใจอีกประการหนึ่งที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้บอกกล่าวเมื่อได้สนทนาคือ ในอดีตนั้นประเพณีกินวอจะไม่มีสิ่งเสพติด จะมีแต่น้ำชาที่ใช้ต้อนรับญาติพี่น้องที่มาเที่ยวบ้าน เพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทความเดือดร้อนความทุกข์กายและทุกข์ใจในภายหลัง

 

          ประเพณีกินวอกับหลักธรรมของพระพุทธศาสนา

 

          ปีนี้ประเพณีกินวอมีความแตกต่างจากปีก่อน เพราะก่อนมีประเพณีกินวอมีการประชุมหารือกันในการจัดประเพณีกินวอที่ทรงไว้ซึ่งคุณค่าความหมายเหมือนอดีต ปีนี้ควรมีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยลด ละ เลิกอบายมุข ไม่อยากให้ประเพณีทำลายความเป็นเครือญาติเหมือนที่ผ่านมาที่ประชุมมีมติเห็นชอบว่าในปีนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดประเพณีเพราะปีนี้ในหมู่บ้านมีพระบัณฑิตที่มาอบรมศีลธรรม ชาวบ้านเริ่มที่จะเรียนรู้ เข้าใจหลักธรรมทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะศีลห้าที่เป็นธรรมขั้นพื้นฐานที่ควรปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและเป็นเส้นทางแห่งความเจริญในการครองชีพ ประกอบกับในปีนี้เป็นปีมงคลสมัยที่พ่อหลวงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ชาวลาหู่ไม่มีสิ่งใดที่จะตอบแทนคุณของพระเจ้าแผ่นดินที่ทำให้ตนและชุมชนมีความผาสุกตลอดมาชาวลาหู่อยากทำความดีโดยการรักษาศีล 5 ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เพื่อถวายในหลวงที่มีพระชนมพรรษา 80 พรรษาอีกทั้งยังเป็นการสร้างความดีของชุมชน ซึ่งเป็นการตอบรับแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานให้ประชาชนชาวไทย ได้นำไปประพฤติปฏิบัติ

 

          ศีล 5 กับวิถีความเชื่อชาวลาหู่

 

          ชาวลาหู่ยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมของตนเองให้เหมือนกับบรรพบุรุษที่ได้ทำสืบต่อ ๆ โดยในคืนนี้ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะไปเยี่ยมหากัน โดยจะไม่มีการนำสุรามาต้อนรับผู้ที่มาเยี่ยม โดยเฉพาะบ้านของปู่จอง(นายจะอู่ จะกา)ซึ่งเป็นเจ้าพิธีกรรมของหมู่บ้านแม่ผักแหละ ซึ่งนับถือพระเจ้าสัจจะ อันเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งของชาวลาหู่ โดยในวันพระ ปู่จองจะถือศีล ไม่กินเนื้อสัตว์และไม่ทำงานทุกอย่าง

 

          ประเพณีกินวอวันที่ 6

 

          ซึ่งวันที่สองของฝ่ายผู้ชาย ก็เหมือนกันกับช่วงแรกของฝ่ายหญิงแต่วันนี้จะไม่มีการรดน้ำ ดำหัว เหมือนกับวันของผู้หญิง ในช่วงเวลาตอนเย็นของวันนี้ชาวบ้านก็จะมารวมตัวกันที่ลานจะคี๊ เพื่อรอการเต้นจะคี๊ การเต้นจะคี๊บางหมู่ก็จะเต้นกันตลอดทั้งคืนตั้งแต่หัวค่ำ จนถึง 6 โมงเช้าของอีกวัน ในกรณีที่มีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกันในบริเวณลานเต้นจะคี๊ ชาวบ้านก็จะช่วยกันห้ามไม่ให้มีเรื่องทะเลาะกัน แต่เมื่องานกินวอปีใหม่เสร็จสิ้นแล้ว ทางพ่อหลวง ปู่จอง และกรรมการหมู่บ้านก็จะประชุมกันเพื่อปรับสินไหมบุคคลที่เกิดทะเลาะวิวาทกันซึ่งเป็นการลงโทษผู้กระทำผิดในวันประเพณีของหมู่บ้าน

 

          วันสุดท้ายของประเพณีกินวอ เป็นวันที่หมู่บ้านอื่นจะมาตอบแทน โดยเมื่อหมู่บ้านอื่นมาถึงชาวบ้านก็จะมาต้อนรับและร่วมกันเต้นจะคี๊ที่ลานจะคี๊ของหมู่บ้าน หลังจากนั้นก็จะนำสิ่งของอันเป็นมงคลในวันปีใหม่มามอบให้กับปู่จอง พ่อหลวง และชาวบ้าน หลังจากนั้นผู้นำก็ให้พรเพื่อให้เป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัวตลอดปี

 

          ชาวลาหู่ซึ่งมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีธรรมทางพระพุทธศาสนาตลอดมา แต่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นหลักธรรมทางศาสนาพุทธ เนื่องจากการที่ไม่เคยมีพระสงฆ์เข้ามาเผยแผ่หลักธรรมในชุมชน วันนี้ที่บ้านแม่ผักแหละมีความสงบร่มเย็น มีการประสานสัมพันธ์กันทั้ง บ้าน วัด โรงเรียน ครอบครัวชุมชนมีความสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันบนฐานความเชื่อทางวัฒนธรรม และกมีการบูรณาการหลักธรรมทางพุทธศาสนาด้วยการทำดี ละชั่ว ทำจิตของตนให้ผ่องใส สุดท้ายปลายฝันคือความสุข สงบ ทั้งกายและใจของชาวบ้าน บ้านแม่ผักแหละและคนรอบข้างทุกคน

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

 

 

Update : 01-09-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code