จากกำแพงที่มองไม่เห็นสู่ ‘เรือนจำสุขภาวะ’

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจาก สสส.


จากกำแพงที่มองไม่เห็นสู่ 'เรือนจำสุขภาวะ' thaihealth


ประวัติศาสตร์ของ "คุก" เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว  โดยมาพร้อมกับแนวคิดเครื่องมือ ลงโทษผู้กระทำผิดกฎในสังคม คุกจึงมีสัญลักษณ์การเป็นสถานที่ดัดนิสัย ด้วยการทรมานกักขังเพื่อชดใช้กรรมอย่าง "สาสม" ของผู้กระทำผิด


แน่นอนว่าค่านิยมความเชื่อดังกล่าว ทำให้ที่ผ่านมา จึงไม่มีใครสนใจ "ความทุกข์" ของคนในคุก


"ทุกข์" ของคนคุก


แม้กระแสปฏิรูปคุกในยุคแรก ที่เกิดจาก งานเขียนของชายที่ชื่อ "โฮวาร์ด" ในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งเขาใช้เวลานานกว่า 17 ปี เดินทางไปสำรวจคุกต่างๆ ในยุโรปถึง 40 ครั้งและถ่ายทอดถึงสภาพอันเลวร้ายของคุก ทั้งความแออัด ความอดอยากหิวโหย ความเข้มงวดในการควบคุมกับผู้ต้องขัง และสุขอนามัยที่ย่ำแย่ ไร้ระเบียบ ทำให้ ทุกคนเริ่มตระหนักว่า การลงโทษโดยนำคนมากักขังอย่างเดียวเพื่อให้ทุกข์ทรมาน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้คนยุติการกระทำผิดได้ เพราะสุดท้าย ผู้ต้องขังก็กลับไปทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า


แต่สำหรับคุกในไทย ที่ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า มีปรากฏอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีวิวัฒนาการปรับตัวตามมาตรฐานสากลเรื่อยมา ยังคงมีเป้าหมายและภารกิจหลัก ที่ยึดโยงอยู่กับการควบคุมอำนาจบังคับ และใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดในการควบคุมผู้ต้องขังเช่นเดิม ด้วยมีรากฐานความเชื่อจากคนในสังคมที่ว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยแก้ไขคนที่เคย "ไม่ดี" ให้กลายเป็น "คนดี" ได้


หากหลายเสียงสะท้อนในวันนี้ กลับเริ่มมองเห็นว่าความเชื่อดังกล่าวอาจเป็นเรื่องที่ต้องหยิบยกมาชั่งน้ำหนักกันใหม่ ว่าทัศนคติที่สังคมมองทุกวันนี้ ในการ "เอาคนเลวไปยัดไว้ในคุกทั้งหมด" เพื่อควบคุมกักขังนั้นมาถูกทางจริงหรือ


เพราะหากคุกยังถูกมองเช่นนั้น…กำแพงสูง และรั้วลวดหนามนั้นก็ยังคงกั้นความเป็นคนมนุษย์ให้ห่างกันต่อไป


ความเป็นมนุษย์ กับ ความผิด?


ความเห็นจาก รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระ ที่เอ่ยในเวที วิชาการ "การเดินทางของเรือนจำสุขภาวะ" (Healthy Prison Journey) ที่จัดโดย สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอ่ยถึงทัศนคติของคนในสังคมไทย ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงภาพ "เรือนจำ" หรือ "คุก" ว่า เป็นสถานที่กักขังคนเลวในสังคม แทนที่จะมองว่าเป็นสถานที่เพื่อฟื้นฟูคนๆ หนึ่งในสังคมที่มีโอกาสผิดพลาดได้


จึงทำให้ผู้ต้องโทษเหล่านี้ต้องกลายเป็น บุคคลที่ถูกกีดกันออกจากความสัมพันธ์ทางสังคม และโอกาสการมีสภาวะความเป็นอยู่ที่ดีเฉกเช่น คนอื่นๆ ในพื้นที่สังคม


"มันมีสิ่งที่คนในสังคมคิด แบ่งเป็น ฐานคิดสองแบบ แบบแรก มองว่าหากถ้าทำผิดเมื่อไหร่ ต้องเอามาเก็บไว้ซะ แล้วต้องอยู่อย่างทรมาน ไร้ความสุข เพื่อให้เข็ดหลาบ ซึ่งทำให้เรามองว่าควรสร้างกำแพง "คุก" ถูกทำให้มีภาพเป็นสิ่งที่น่ากลัว และประทับตราตั้งแต่ยังไม่เห็นนักโทษ เพื่อสะท้อนว่าคนปกติ ไม่ควรอยู่ในที่นี้กัน


ขณะที่อีกกลุ่มคนมองว่าการมีชีวิตในเรือนจำควรเป็นปกติมากกว่านี้ เพราะเมื่อดูตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว วิธีการสร้างภาพ เรือนจำในปัจจุบัน รวมทั้งของไทย มันมี ความหมายเดียวกับคำว่า "การถูกกีดกัน" เพราะระบบที่ใช้ในคุกคือระบบเงียบ ถูกบังคับไม่ให้สื่อสารกัน ต้องปิดตัว นอกจากนี้เรายังเลือกที่จะพรากทุกอย่างไปจากตัวเขา ทั้งอิสระ ความเป็นมนุษย์ อะไรที่มีคุณค่าสำหรับคุณ ฉันจะพรากไป แม้แต่การปิดกั้นความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก"


จากกำแพงที่มองไม่เห็นสู่ 'เรือนจำสุขภาวะ' thaihealth


"เรื่องป่วยไข้" ของคนหลังกำแพง


เพียงเริ่มต้น แค่เอ่ยเรื่อง "สิทธิ์"  ผู้ต้องขังยังถูกผลักไปอยู่ชายขอบของสังคม


มิไยต้องเอ่ยถึงเรื่อง "สุขภาวะใน เรือนจำ" ที่ปัจจุบันผู้ต้องโทษเองจำต้องยอม ต่อการจำกัดสิทธิ์เข้าถึงโอกาสการรักษาด้วยปัจจัยหลายประการ


จากข้อมูลของ กุลภา วจนสาระ นักวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการสำรวจสถานการณ์การเจ็บป่วยของผู้ต้องขังในเรือนจำ 143 แห่ง ทั่วประเทศ พบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตราว 1,000 คน จากอาการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น วัณโรค เอดส์ และโรคหลอดเลือดหัวใจ


"ข้อมูลนี้สอดคล้องกับข้อมูลในการดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการและส่งเสริมสุขภาพในเรือนจำ เรื่อง การให้บริการสุขภาพ ผู้ต้องขัง : สถานการณ์ปัญหาและอุปสรรค ในเรือนจำพื้นที่ศึกษา 8 แห่ง เพื่อสำรวจสถานะสุขภาพและปัญหาอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ต้องขัง อันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ และการศึกษาสถานการณ์การให้บริการสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำทัณฑสถาน พบว่า พฤติกรรมสุขภาพพบว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ ร้อยละ 58 สูบบุหรี่เป็นประจำ นิยมซื้อกาแฟ นมเปรี้ยว และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกินเป็นประจำ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้กินผักผลไม้ ด้านการออกกำลังกายพบว่า 1 ใน 3  ออกกำลังกายเป็นประจำ 1-2 วัน ต่อสัปดาห์ ใช้เวลา 10-20 นาทีต่อครั้ง และอีกที่  1 ใน 3 ไม่ค่อยออกกำลังกาย" กุลภากล่าว


จากกำแพงที่มองไม่เห็นสู่ 'เรือนจำสุขภาวะ' thaihealth


พฤติกรรมดังกล่าวจึงมีผู้ป่วยโรคติดต่อไม่เรื้อรังสูง นอกจากนี้ในด้านปัญหาสุขภาพ พบว่า ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ผู้ต้องขังร้อยละ 82 เคยเจ็บป่วยไม่สบายและได้รับยาจากแพทย์หรืสถานพยาบาล ผู้ต้องขัง 3 ใน 4 มีปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเนื่องจากสภาพแวดล้อมการอยู่อย่างแออัดในพื้นที่คับแคบ กว่าครึ่งยังเป็นโรคผิวหนัง หิด ผื่นคัน ร้อยละ 44 มีอาการปวดหัวบ่อยๆ เครียด คิดมาก ผู้หญิงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้พบภาวะความเจ็บป่วยซึ่งสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตในเรือนจำที่เห็นได้ชัด คือ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ต้องขังป่วยเป็นโรคแขนขาอ่อนแรง ค่อนข้างสูง เนื่องจากภาวะทุพโภชนาการ ขาดวิตามิน B1 และโปตัสเซียม


การเดินทางของเรือนจำสุขภาวะ


สำหรับสาเหตุของปัญหา นอกเหนือจากข้อจำกัดทางพื้นที่ เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหา "คนล้นคุก" ด้วยตัวเลขที่สูงกว่าสามแสนหกหมื่นคน ทั้งเรือนจำไทยยังมีการออกแบบทางกายภาพและจัดระเบียบภายใต้แนวคิด เรือนจำแบบพานอบติคอนที่ทำให้เกิดสภาวะวิถีการดำรงชีวิตที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพของคน ทั้งยังมี เหตุผลเรื่องการดูแลความป่วยไข้ของผู้ต้องขัง ยังถูกยึดคติการให้บริการสุขภาพภายใต้ วิธีคิด "ควบคุมเป็นหลัก รักษาเป็นรอง" ของบุคลากรผู้ให้บริการด้านสุขภาพ


ด้วยความหวังที่ต้องการให้ผู้ต้องขัง ได้รับโอกาสและเข้าถึงสิทธิ์ด้านสุขภาพอย่าง เท่าเทียมกันในฐานะของมนุษย์ "เรือนจำ สุขภาวะ" จึงเป็นโครงการขับเคลื่อนที่เกิดจาก ความร่วมมือของหลายภาคีภาคส่วนเพื่อพัฒนา คุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่เบื้องหลังกำแพง


ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าจุดเริ่มของโครงการนี้ว่า สสส. ได้สนับสนุนให้มีการวิจัยเชิงนโยบายและการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ต่อเนื่องหลายโครงการ ตั้งแต่ ปี 2555 โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม แนวคิดเรือนจำสุขภาวะมาจากการหลอมรวมความรู้ที่ได้จากการวิจัยเชิงนโยบายและการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบ มีส่วนร่วม กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น คือนวัตกรรม ที่ก่อให้เกิด "ความรู้ที่มาจากการปฏิบัติ"


จากกำแพงที่มองไม่เห็นสู่ 'เรือนจำสุขภาวะ' thaihealth


สำหรับผลการดำเนินงานตลอด 7 ปี แสดงให้เห็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนเรือนจำให้เป็นพื้นที่ซึ่งผู้ต้องขังสามารถมีประสบการณ์ในทางบวก ทั้งในส่วนของการดูแลสภาวะแวดล้อมและดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ การอยู่ร่วมกันกับ ผู้อื่นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยและเรียนรู้การ อยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์


โดยผลการจากดำเนินงานในวันนี้  ยังนำมาสู่การเกิดเป็นนวัตกรรมแนวคิดการพัฒนาเรือนจำสุขภาวะ ภายใต้องค์ประกอบ 7 ด้าน ได้แก่ 1. เพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ต้องขัง 2. ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคที่พบบ่อยในเรือนจำ 3. เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการบริการสุขภาพ 4. ผู้ต้องขังมีพลังชีวิตคิดบวกและมีกำลังใจ 5. ดำรงชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเอื้ออาทร 6. สามารถธำรงบทบาทของการเป็นแม่ เป็นลูก หรือเป็นสมาชิก ในครอบครัว และ 7. มีโอกาสสร้างที่ยืน ในสังคม


"หลักการสำคัญของเรือนจำสุขภาวะคือ กระบวนการฟื้นฟูผู้ต้องขัง ควรบูรณาการเข้าไปในวิถีการดำรงชีวิตตลอดทั้ง 24 ชั่วโมงในเรือนจำ โดยสร้าง "สภาวะปกติ" ให้กับเรือนจำ หมายความว่าสภาวะแวดล้อม ทั้งทางกายภาพ วิถีการดำรงชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขัง ความสัมพันธ์กับโลกภายนอก โดยให้ความสำคัญกับการทำให้ชีวิตในเรือนจำแตกต่างจากชีวิตในสังคมทั่วไปให้น้อยที่สุด ทำให้ ผู้พ้นโทษไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการ คืนกลับสู่สังคมอีก" ภรณีกล่าว


จากกำแพงที่มองไม่เห็นสู่ 'เรือนจำสุขภาวะ' thaihealth


การพิพากษาทางสังคม


"นโยบายเรือนจำสุขภาวะที่สำคัญคือการกินอาหารให้ครบหมู่ แต่มันอาจขยายความไปถึงอาหารต้องเป็นยาด้วย เพราะในเรือนจำมีปัญหาสุขภาพค่อนข้างเยอะ" รศ.ดร.นภาภรณ์ เอ่ยเสริม


พร้อมกล่าวต่อว่าอีกปัญหาสำคัญคือ ที่สุดแล้วของชีวิตในคุก คือวันที่เขาออกมา ยังเกิดการประทับตราผู้ต้องหา เสมือนเราประหารชีวิตให้เขาเป็นบุคคลที่ตายทางสังคม (Social Death) เรื่องนี้เรามองว่า มันไม่ใช่ความผิดของ กรมราชทัณฑ์ หรือสื่อนะ แต่เป็นความผิดของวิธีคิดทั้งหมดในสังคมเรา ที่ยังมองว่า คนอยู่ในคุกเป็นคนเลว ไม่ได้มองว่า เขาคือคนที่พลาด"


ดังนั้น นอกเหนือจากการหนุนเสริมกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาวะทางกายแล้ว ในมิติของสุขภาพใจ รศ.อภิญญา เวชชยชัย นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ วิเคราะห์ แนวคิดด้านการบริหารสาธารณสุขในเรือนจำ ว่า เดิมกิจกรรมส่วนใหญ่ในเรือนจำยังมุ่งเน้นแต่การจัดกิจกรรมเพื่อ "ฆ่าเวลา" โดยเน้นแต่กิจกรรมด้านอาชีวะบำบัดเป็นหลัก มากกว่ากิจกรรมส่งเสริมการฟื้นฟูด้านจิตใจ การพัฒนาทักษะความคิด หรือสมอง เพื่อการเยียวยาความเจ็บปวดจากความผิดพลาดของตนเอง ที่ส่งผลให้เขาเห็นคุณค่าตัวเอง และยอมรับตัวเอง เพื่อสร้าง Self Esteem รวมถึงมองเห็นคุณค่าการมีชีวิต ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันเมื่อ ผู้ต้องขังออกไปใช้ชีวิตในสังคม


"ดังนั้นเมื่อไม่มีกระบวนการนี้ ย่อมจะ ทำให้มีโอกาสที่ผู้ต้องโทษที่ออกไปแล้ว  ต้องกลับมาสู่เรือนจำซ้ำ อีก 25%  ในแต่ละแห่ง" รศ.อภิญญากล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code