จับมือ 42 อปท. ร่วมสร้าง“ตำบลเกษตรกรรมยั่งยืน”

 

ลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีผู้แทนจาก 42 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมงานกว่าสามร้อยคน

นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้กล่าวต้อนรับผู้มาร่วมงานว่า จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีการปลูกข้าวหอมมะลิเป็นอันดับหนึ่งของประเทศและมีการทำเกษตรกรรมยั่งยืนมาเป็นเวลานาน โดยเป็นนโยบายของจังหวัดที่มุ่งสนับสนุนมาโดยตลอด จึงทำให้จังหวัดสุรินทร์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน

“จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในด้านการทำเกษตรอินทรีย์มาโดยตลอด ซึ่งเรื่องข้าวเป็นสิ่งที่โดดเด่นของจังหวัดสุรินทร์ เพราะพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มีการปลูกข้าวหอมมะลิมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศและของโลก คือมีพื้นที่ปลูกข้าวมากถึงหนึ่งล้านไร่ รวมทั้งพื้นที่ในการปลูกข้าวอินทรีย์ที่เป็นที่ยอมรับ นอกจากนี้ ทางสำนักพระราชวังยังได้สั่งซื้อข้าวจากจังหวัดสุรินทร์ทุกๆ ปี ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของชาวจังหวัดสุรินทร์”

ด้านนายเกษมศักดิ์ แสนโภชน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มดำเนินนโยบายด้านเกษตรยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เมื่อสิบกว่าปีก่อน ได้กล่าวว่า มีคำกล่าวของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า กมฺมุนา วตฺตติโลโก หรือ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ก็คือการคิดดี พูดดี ทำดี ซึ่งย่อมจะได้รับผลตอบแทนที่ดี การร่วมกันทำงานเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน ก็ย่อมจะเกิดผลดี คือได้ผลิตอาหารที่ดีแก่ตนเอง แก่ครอบครัว แก่ชุมชน และแก่สังคมไทย

“สิ่งที่เราได้มาร่วมกันทำในวันนี้เป็นกรรมดี จะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีในวันข้างหน้า ในชุมชนของเรามันมีปัญหาสองอย่างที่สำคัญ หนึ่งคือจน สองคือเจ็บ ชาวบ้านทำไร่ทำนาสุดท้ายก็เป็นหนี้เหมือนเดิม ใช้ปุ๋ยอินทรีย์อยู่ดีๆ ยังมีคนมาบอกให้ซื้อปุ๋ยเคมีไปใช้อีก ดังนั้นการทำเกษตรอินทรีย์คือการลดต้นทุนการผลิต คือการพึ่งตนเอง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราเคยถามตัวเองบ้างหรือไม่ว่า จริงๆ แล้วเราต้องการอะไร แต่สำหรับผมซึ่งอายุ 67-68 ปี ได้ค้นพบสัจธรรมแล้วว่า ผมต้องการมีสุขภาพอนามัยที่ดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ผมมีเพื่อนหลายคนที่มีเงินมากมาย แต่กลับมีสุขภาพย่ำแย่ ซึ่งมันทำให้ผมได้คิดว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อผมแก่ ผมก็ไม่อยากเจ็บ และอยากจะตายอย่างไม่ทุกข์ทรมาน ซึ่งการทำให้ร่างกายสุขภาพดีนั้น ประการที่หนึ่งก็ควรจะเป็นการบริโภคอาหารที่ดี เพราะคุณจะเป็นเช่นไร มันก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณกินเข้าไปนั่นเอง”

ส่วน นายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. ได้กล่าวว่า งานในวันนี้เป็นก้าวหนึ่งของการสานต่องานขับเคลื่อนโครงการตำบลสุขภาวะในประเด็นเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา ในส่วนของภาคอีสานได้เคยมีการจัดทำเป็นปฏิญญาคือปฏิญญาชัยภูมิ ในส่วนของภาคกลางคือปฏิญญาเพชรบุรี งานวันนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามปฏิญญาดังกล่าว

“การทำงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนนั้น ทุกท่านคงทราบดีถึงพิษภัยจากสารเคมีที่ใช้ ซึ่งส่งผลต่อพี่น้องประชาชนในชุมชนของเรา เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ระดับโลกเองก็ให้ความสำคัญ เพราะเป็นปัญหาโดยตรงต่อสุขภาพ การที่เราได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ตำบลทมอนั้น จะทำให้เราได้ศึกษาวิธีคิด วิธีการทำงาน ในด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้เป้าหมายคือการมองให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องสุขภาพ แม้ว่าประเทศเราจะมุ่งเน้นในเรื่องอุตสาหกรรมตามการพัฒนาแบบทุนนิยม แต่แท้จริงแล้ว วิถีเกษตรกรรมก็ยังคงเป็นแกนหลักของชุมชนอยู่ ดังนั้นนอกจากเรื่องสารพิษ สารเคมีแล้ว ในบริบทของชุมชนท้องถิ่น การทำการเกษตรก็ยังคงเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ดี เพียงแต่เราต้องกลับมาคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะให้วิถีการเกษตรของเรา เป็นวิถีที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีคุณประโยชน์ต่อชุมชน ต่อสังคม”

นอกจากนี้ นายสมพร ยังกล่าวอีกว่า นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว การทำการเกษตรยั่งยืนก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำให้พี่น้องประชาชนได้ประกอบสัมมาชีพ ซึ่งเลี้ยงตัวเองได้ ทำให้ดำรงชีพได้อย่างมีความสุข ซึ่งงานในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการคิด ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีงาม ที่ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมกำหนดอนาคตด้วยตนเอง ซึ่งการเริ่มต้นที่จังหวัดสุรินทร์นั้น เพราะเมื่อสิบกว่าปีก่อน ทางจังหวัดได้ประกาศว่า จะทำให้ทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่ในการทำการเกษตรกรรมยั่งยืน และการเริ่มต้นที่ตำบลทมอนั้น เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมมากที่สุด

สำหรับตำบลทมอนั้น เป็นตำบลที่มีการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสุรินทร์ มาตั้งแต่ปี 2540 โดยเริ่มต้นงานด้านพันธุกรรมพื้นบ้าน ทำการค้นหาและเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองได้กว่ายี่สิบสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีลักษณะเฉพาะที่พิเศษและโดดเด่น อาทิ “ข้าวปกาอำปึล” เป็นข้าวเจ้าชนิดข้าวเบา เหมาะจะปลูกในที่ดอน ต้องการน้ำน้อย ต้านทานโรคและแมลงได้ดี เก็บเกี่ยวได้เร็ว ที่สำคัญคือเมื่อสีเป็นข้าวกล้องแล้ว จะนุ่ม ไม่แข็ง รสชาติอร่อย  , ”ข้าวเนียงกวง” เป็นข้าวเจ้าชนิดข้าวหนัก ให้ผลผลิตมาก นอกจากนำมาหุงรับประทานแล้ว ยังสามารถแปรรูปเป็นขนมพื้นบ้านหรือทำขนมจีนรสชาติดีได้อีกด้วย หรือ “ข้าวบักระเต๊ะ” หรือ ข้าวเกวียนหัก เป็นข้าวหนัก ให้ผลผลิตสูง

นอกจากเรื่องพันธุกรรมพื้นบ้านแล้ว ตำบลทมอยังมีแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจอีกหลายแหล่ง อาทิ การจัดการกองทุนเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งค่อยๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเกษตรกรให้ใช้สารเคมีน้อยลงและหันกลับมาทำการเกษตรแบบธรรมชาติ , แหล่งเรียนรู้เกษตรกรรมธรรมชาติ ซึ่งมีการทำการเกษตรแบบครบวงจร ทั้งนาข้าว เลี้ยงปลา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ การทำปุ๋ยชีวภาพ ฯลฯ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ,แหล่งเรียนรู้ปศุสัตว์อินทรีย์ ซึ่งเป็นการเลี้ยงสุกรด้วยระบบอินทรีย์ ทำให้เนื้อที่ได้มีคุณภาพ เก็บได้นานกว่าเนื้อสุกรตามท้องตลาด คอกสุกรไม่มีกลิ่นเพราะใช้น้ำจุลินทรีย์ รวมทั้งยังนำมูลสุกรไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้อีกด้วย , แหล่งการเรียนรู้ตลาดสีเขียว ซึ่งเป็นการจัดการนำผลิตผลจากการทำเกษตรอินทรีย์และสินค้าแปรรูปของสมาชิกมาจำหน่ายในตำบล ในอำเภอปราสาท และในอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการตำบลแบบมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งนายทัศน์พงษ์ ตนกลาย นายก อบต.ทมอ เป็นวิทยากรบรรยายด้วยตนเอง ดังนั้น ตำบลทมอจึงมีผลงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนที่โดดเด่น เป็นต้นแบบ เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่มีผู้ให้ความสนใจมาศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

การลงนามความร่วมมือของ สสส. ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 42 ตำบล ครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนงานตำบลสุขภาวะ ในประเด็นเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งเป็นอีกย่างก้าวหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะให้เกิดขึ้นแก่ชุมชน และสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

 

ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code