จับตาไขมันทรานส์ หลังกฎหมายบังคับใช้
เรื่องโดย : พิจิตรา เพชรเภรี Team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจาก สสส.
‘ไขมันทรานส์’ เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจกันมากในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีประกาศ หมายเลข 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน หรืออาหารที่มีน้ำมันชนิดนี้เป็นส่วนประกอบ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม 2562 จึงเป็นที่น่าสนใจว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป
เป็นเวลา 6 เดือน ที่มีการประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขให้ผู้ประกอบการได้มีการเตรียมความพร้อม และปรับตัวก่อนที่จะมีการห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันที่มีการเติมไฮโดรเจนบางส่วน หรือ Partially Hydrogenated Oil (PHO) จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนา “จับตาไขมันทรานส์หลังกฎหมายบังคับใช้” เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2562 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายลดการบริโภคไขมัน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สินค้าที่ขายอยู่ในท้องตลาดหลังวันที่ 9 มกราคม 2562 ไม่ว่าจะมีการผลิตเมื่อใดก็ตาม ถ้ามีการสุ่มตรวจแล้วไม่เป็นไปตามกฎหมายจะถูกดำเนินคดีทันที
“กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับแค่ผู้ผลิตในประเทศเท่านั้น แต่มีการบังคับใช้จากผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่าสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศได้รับการตรวจสอบเช่นเดียวกับสินค้าในประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ อย. จะต้องมีการตรวจสอบเอกสาร จากบริษัทที่นำเข้าว่า กระบวนการผลิตอาหารที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จะต้องปราศจากน้ำมัน PHO และมีการตรวจสุ่มวิเคราะห์ ว่ามีไขมันทรานส์อยู่เท่าไร ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการน้ำมันและไขมันได้ปรับใช้กระบวนการอื่นแทนกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และเริ่มมีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารแล้ว” ภญ.สุภัทรา อธิบาย
ด้านนักวิชาการที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สวก. ในการทำวิจัยเรื่องไขมันทรานส์ ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า กระบวนการใหม่ที่จะใช้ในการผลิตน้ำมัน คือกระบวนการที่ต้นทุนไม่สูงมาก มีหลายกระบวนการที่สามารถปรับให้ไขมันเป็นของแข็ง กระบวนการที่ง่ายที่สุดคือ oil blending ซึ่งเป็นกระบวนการผสมไขมัน และต้องมีการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่มีการปรับสูตรใหม่ ว่ามีไขมันอิ่มตัวเพิ่มขึ้นเท่าไร
“โดยด้านองค์การอนามัยโลกมองว่า การรับประทานไขมันอิ่มตัวต้องไม่เกิน 10% ของพลังงานทั้งหมด ถ้าในวันหนึ่งรับประทานประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี ไขมันอิ่มตัวต้องไม่เกิน 20 กรัม แต่ในชีวิตประจำวันอย่ามองว่าอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเลวร้ายเกินไป ต้องกินด้วยความสมดุล สมดุลที่ 1 คือสมดุลเรื่องการใช้พลังงาน กินเท่าไรก็เอาออกเท่านั้น สมดุลที่ 2 คือสารอาหารต้องมีความสมดุล แต่ในชีวิตจริงคงประมาณลำบาก ต้องดูว่าถ้าวันนี้รับประทานของทอดเยอะ วันต่อมาก็รับประทานของที่ดีต่อสุขภาพไปทดแทน” ศ.ดร.วิสิฐ กล่าวเสริม
มาถึง ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวในวงเสวนาว่า ทาง สสส. และภาคีเครือข่าย 7 หน่วยงาน เห็นพ้องว่า ประชาชนควรได้รับคำแนะนำเดียวที่ถูกต้องเชื่อถือได้ ประชาชนต้องเข้าใจว่า ถึงแม้จะไม่มีไขมันทรานส์ หรือมีจัดการไขมันทรานส์เรียบร้อยแล้ว ยังมีไขมันตัวอื่นที่ต้องพึงระวัง คือ ไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัว และอื่น ๆ เพราะฉะนั้น ถึงจะมีการประกาศเรื่องไขมันทรานส์ ก็สามารถจัดการได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ปัญหายังไม่หมดยังมีเรื่องไขมันต่าง ๆ ที่ต้องจัดการ นักวิชาการต้องมาทบทวนกันอีกทีว่า คำแนะนำที่จะส่งถึงประชาชนได้รับ ที่ทำให้สามารถนำไปปฏิบัติตามได้เลยควรเป็นอย่างไร
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นักวิชาการด้านไขมันและสถาบันที่เกี่ยวข้องจับมือกัน ตั้งเครือข่ายลดการบริโภคไขมัน โดยนำเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านไขมันมารวมกัน หรือเรียกว่า think tank มาช่วยกันแชร์ข้อมูล องค์ความรู้ในปัจจุบัน แล้วตกผลึกเป็นข้อมูลวิชาการที่เข้าถึงประชาชนได้โดยง่าย และสสส. ได้ใช้ความเชี่ยวชาญในการสื่อสาร ส่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเข้าใจง่ายไปถึงประชาชน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าไขมันหรือน้ำมัน PHO จะหายไป ก็อย่างเพิ่งชะล่าใจตามใจปากจนหลงลืมว่า ไขมันทรานส์เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั่นที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย ยังมีไขมันชนิดอื่น ๆ ของหวาน ของเค็ม และอีกมากมายที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย