จัดเสวนา ‘ศาลจราจรกับสังคมไทย’
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
มูลนิธิเมาไม่ขับ จัดเวทีเสวนาในประเด็น 'ศาลจราจรกับสังคมไทย'
หลายวันก่อน มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา ศาลจราจรกับสังคมไทย มี คุณสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 เปิดประชุม พร้อมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ดร.อธิราช มณีภาค อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 4 คุณกุญช์ฐาน์ ทัดทูน อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด พลตำรวจโทดอกเตอร์อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ คณะกรรมการบูรณาการ ประสานงานกรณีกู้ชีพฉุกเฉิน พลตำรวจตรีจิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คุณวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา อดีตสมาชิก สปท.
คุณหมอแท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า ความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในไทยอยู่ในขั้นวิกฤติร้ายแรง คนไทยเสียชีวิตบนท้องถนนติดอันดับ 1 ของโลก เฉลี่ยปีละ 24,000 คน จนไทยถูกหลายประเทศ ประกาศให้เป็นดินแดนอันตราย ไม่ควรเดินทางมา แนวความคิดที่จะหยุดปัญหานี้ แนวคิดหนึ่งคือการจัดตั้งศาลจราจร เพื่อดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนกฎแห่งความปลอดภัย ซึ่งพูดกันมานานกว่า 30 ปี
แม้ว่าเมื่อปี 2546 คณะรัฐมนตรีเคยมีมติ เรื่องการกำหนดมาตรการและแผนงานโครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนของประเทศ และเสนอให้พิจารณาจัดตั้งศาลจราจร แต่เรื่องก็เงียบไป อย่างไรก็ตาม แนวความคิด เรื่องการจัดตั้งศาลจราจรได้ถูกพูดถึงมากในปัจจุบัน ทั้งนี้ จากพฤติกรรมผู้ขับขี่รถที่ไม่เคารพกฎแห่งความปลอดภัย กระทำผิดซ้ำซาก เป็นภัยกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ใช้รถใช้ถนน ศาลจราจร จึงเป็นที่พึ่งสุดท้าย ที่ประชาชนคาดหวังในการอำนวยความยุติธรรม และหยุดพฤติกรรมผู้ขับขี่รถที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่นให้ลดน้อยลง
เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า นานาอารยประเทศ จัดตั้งศาลจราจร สำหรับไทยพูดกันมานาน ส่วนการจะจัดตั้งศาลจราจรได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของประชาชนและรัฐบาลว่าจะเห็นความสำคัญของปัญหามากน้อยเพียงใด ประเด็นที่หลายฝ่ายวิตกกังวล ก็คือเมื่อจัดตั้งศาลจราจร คดีความที่เกิดขึ้นจะถูกตัดตอนก่อนจะถึงศาล ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เพราะทุกสังคมมีทั้งคนดี คนไม่ดีปะปนกันไป
การที่ผู้บังคับใช้กฎหมายกระทำเช่นนั้น เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 มีบทลงโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 10 ปี