จัดสัมมนาระดับชาติ "ความปลอดภัยทางถนน" ปีที่ 14

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน


ภาพโดย สสส.


จัดสัมมนาระดับชาติ "ความปลอดภัยทางถนน" ปีที่ 14 thaihealth


7-8 ส.ค.นี้ สสส. ผนึกเครือข่าย จัดสัมมนาระดับชาติ เรื่อง "ความปลอดภัยทางถนน" ปีที่ 14


เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน สามารถบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนได้อย่างต่อเนื่อง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ได้ให้การสนับสนุนการจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 ภายใต้แนวคิด"เดิน ขี่ ขับ ไป-กลับ ปลอดภัย" หรือ 14th Thailand Road Safety Seminar "Play your part and share the road" พร้อมกำหนดจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ระหว่าง วันที่ 7-8 สิงหาคมนี้


สำหรับงานสัมมนาวิชาการระดับชาติจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นเวทีให้กับนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน ภาครัฐและภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ทราบถึงนโยบายของรัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และมีส่วนร่วมเสนอนโยบายสาธารณะ รวมถึงนโยบายในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ซึ่งในแต่ละปีจะมีหน่วยงานสนใจร่วมกิจกรรมจำนวนมาก เช่นเดียวกับปีนี้มีภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชนกว่า 30 องค์กร เข้าร่วมงานและจัดนิทรรศการที่น่าสนใจ


นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวถึงสถานการณ์ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยว่า ปี 2554-2560 พบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 52,690 คน คิดเป็นร้อยละ 79.18 เป็นกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีความเปราะบาง (VRUs) ได้แก่ ผู้ใช้จักรยานยนต์ คนเดินเท้า และผู้ใช้รถจักรยาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราผู้เสียชีวิตสูงสุดถึงร้อยละ 83 ของผู้ใช้ถนนในประเทศไทย อีกทั้งพบว่าผู้ใช้รถจักรยานยนต์เสียชีวิตมากที่สุด ถึงร้อยละ 88.55 คนเดินเท้า ร้อยละ 10.20 และผู้ใช้รถจักรยาน ร้อยละ 1.25 นำมาสู่ความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ซึ่งหนึ่งในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนของรัฐบาลคือ มีเป้าหมายลดอัตราเสียชีวิตตามแนวคิด "ทศวรรษแห่งการปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยทางถนน" พ.ศ.2554-2561


นายชยพล กล่าวว่า เพื่อลดจำนวนผู้สูญเสียในกลุ่มนี้ได้อย่างรวดเร็ว โดยภาครัฐและหน่วยงานเกี่ยวข้องควรให้ความใส่ใจและจริงจังในการป้องกันและลดอุบัติเหตุผ่านเสาหลักทั้ง 5 เสา ที่องค์กรสหประชาชาติกำหนดไว้ ได้แก่ 1.การสร้างกลไกด้านการบริหารจัดการด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การสร้างความปลอดภัยด้านโครงสร้างถนนและสภาพแวดล้อมริมทาง 3.การส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานพาหนะที่ปลอดภัย 4.การสร้างวินัยจราจรให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน และ 5.การช่วยเหลือรักษาผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดอุบัติเหตุ


ในฐานะตัวแทนเด็กและเยาวชน นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ขอเป็นกระบอกเสียงสะท้อนว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบโดยตรงต่อเด็กและเยาวชน ผลสำรวจความคิดเห็นเด็กและเยาวชน (Youth Poll) จากกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนอายุ 16-25 ปี ทั่วประเทศกว่า 1,200 คน พบว่า ร้อยละ 97.5 ของเด็กรับรู้ถึงผลกระทบของการไม่สวมหมวกนิรภัย แต่ไม่ตระหนักและไม่คิดว่ามีความจำเป็นต้องสวมหมวก ส่วนตัวเลขผู้สวมหมวกเป็นประจำมีเพียง 27.2 สำหรับเหตุผลไม่สวมหมวก คือเดินทางระยะใกล้ ร้อยละ 75.6 ไม่สะดวกสบายในการใช้งาน ร้อยละ 19.5 เช่น กลัวผมเสียทรง แปลกที่เด็กไทยกลัวผมเสียทรงมากกว่ารักชีวิตตนเอง และร้อยละ 5 ไม่เชื่อว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นกับตัวเอง ขณะเดียวกันพบว่าเด็กและเยาวชนประสบอุบัติเหตุในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา พบรถจักรยานยนต์ล้ม ลื่นไถล ร้อยละ 26.2 ถูกเฉี่ยวชนบนทางเท้า ร้อยละ 4.6 ถูกเฉี่ยวชนขณะขับขี่ ร้อยละ 9.4 ในจำนวนนี้มีเด็กและเยาวชนไม่ได้รับบาดเจ็บ ร้อยละ 9.4 บาดเจ็บสาหัส ร้อยละ 5.4 บาดเจ็บ และบาดเจ็บเล็กน้อย 47.1


"เมื่อถามถึงคาดหวังให้หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน เข้ามาแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุมากน้อยเพียงใด พบเด็กและเยาวชน คาดหวังมาก ร้อยละ 58 เช่น การทำถนนให้มีมาตรฐาน ความใส่ใจในเรื่องยานพาหนะที่นำมาจำหน่ายในท้องตลาด คาดหวังเล็กน้อย ร้อยละ 35.9 และไม่คาดหวัง ร้อยละ 6 ทั้งนี้ ในฐานะตัวแทนเด็กและเยาวชนอยากให้มีการแก้ไขปัญหาด้านการป้องกันและอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง" นายพชรพรรษ์กล่าว


สอดคล้องกับ น.ส.สุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาเด็กร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ภายใต้โครงการสมัชชาเด็กและเยาวชนระดับภาค ประจำปี 2562 ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมหมุนเวียนไปทั้ง 4 ภาคของไทย โดยในทัศนคติเรื่องสวมหมวกนิรภัย เด็กและเยาวชนในภาคกลางระบุว่า สวมหมวกกันเพื่อป้องกันการถูกจับของตำรวจ ซึ่งอัตราการจ่ายค่าปรับที่ต่างกัน ทำให้ไม่เชื่อมั่นในการสวมหมวกนิรภัย ส่วนภาคใต้ พูดถึงเรื่องใบขับขี่ โดยเฉพาะการได้มาของใบขับขี่ สามารถหาซื้อได้ ใบขับขี่จึงไม่ได้บ่งบอกว่ามีความรู้และความเชี่ยวชาญในการขับขี่รถบนถนน ขณะการอบรมใบขับขี่ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในบทกฎหมายต่อการใช้รถใช้ถนนในชีวิตจริง ส่วนภาคอีสานพูดถึงความจำเป็นในการขับขี่ยานพาหนะ เนื่องด้วยบริบทของสภาพพื้นที่ประกอบเกษตรกรรม ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับตายาย เพราะพ่อแม่ต้องเข้ามาทำงานในเมือง ทำให้เด็กจำเป็นต้องขับขี่รถจักรยานยนต์ก่อนอายุ 15 ปี ก่อนที่จะทำใบขับขี่ได้ในอายุ 18 ปี ต่อมาได้นำข้อเสนอให้เด็กภาคเหนือช่วยขับเคลื่อน ส่วนใหญ่เห็นว่าควรส่งเสริมเด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้เกิดความตระหนักและความเข้าใจ หรือผลักดันผ่านสภาเด็กที่มีอยู่ครอบคลุมทุกตำบล นอกจากนี้ทุกคนคาดหวังให้มีเมืองแห่งความปลอดภัยทางถนนที่มีความปลอดภัยต่อเด็กและเยาวชน


นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด กล่าวว่า ภายในงานสัมมนา นอกจากแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อขับเคลื่อนงานดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ภายในห้องย่อยและการจัดงานสัมมนายังมีการจัดเวทีกลางเปิดกว้างให้กับภาคีเครือข่ายร่วมจัดกิจกรรมในการให้ความรู้ งานเสวนา พิธีมอบรางวัลให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการพูดคุยการทำงานด้านความปลอดภัย ซึ่งสิ่งสำคัญอยากเรียนว่าหมวกนิรภัยไม่ได้ทำให้อุบัติเหตุลดลง แต่เป็นอุปกรณ์สำคัญช่วยลดความสูญเสียในชีวิต นำมาสู่โครงการธนาคารหมวกนิรภัยของเยาวชน นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยในหัวข้อที่น่าสนใจเพื่อสะท้อนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทางม้าลายในไทยที่หายไป ตลอดจนงานวิจัยเพื่อนำมาสู่การกระตุ้นจิตสำนึกทางถนน เพื่อสร้างความมั่นใจให้คนไทยมีความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน


ส่วน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า งานสัมมนาครั้งนี้มีโจทย์สำคัญคือกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่เปราะบาง โดยปรากฏเป็นข่าวดังหลายครั้ง ครั้งล่าสุดกรณีนักศึกษาจบใหม่ถูกรถจักรยานยนต์ชนขณะข้ามทางม้าลาย บริเวณแยกกรมโยธาและผังเมือง ถนนพระราม 9 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา และต่อมาได้เสียชีวิตลง สะท้อนให้เห็นถึงเงื่อนไขความเสี่ยงสำหรับคนเดินเท้า แม้ที่จะข้ามถนนบนทางม้าลาย แต่หากผู้ขับขี่ขาดวินัยจราจรก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้


งานนี้จะเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ได้ร่วมกันสร้างระบบความปลอดภัย ที่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนถนนได้อย่างยั่งยืนในประเทศที่พัฒนาแล้ว

Shares:
QR Code :
QR Code