จัดบ้านอย่างไร เมื่อผู้ป่วยจะกลับไปรักษาตัว
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก : คู่มือสำหรับประชาชน “การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care)” โดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
“อโรคยาปรมาลาภา การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”
โรคภัยและความเจ็บป่วยเป็นเหมือนยาขมคู่กับคนเรา บางคนโชคดีหน่อยก็แทบไม่เคยนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล บางคนนอนแบบยังพอนับครั้งได้ หรือบางคนก็เข้าๆ ออกๆ จนไม่รู้สึกตื่นเต้นแล้ว
วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. นำเคล็ดลับการเตรียมสภาพแวดล้อมในบ้านให้เอื้อและเหมาะสมเมื่อมีผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวที่บ้านมาฝากกันค่ะ
ห้องนอน
ควรจัดพื้นที่ในสัดส่วนที่พอเหมาะ สำหรับวางเตียงนอนหรือที่นอน และมีพื้นที่จัดเก็บเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้บ่อยๆ ไว้ใกล้ๆ เพื่อความสะดวกในการหยิบจับ
หากผู้ป่วยต้องใช้รถเข็นก็ควรจัดให้สามารถมารับจากเตียงนอนได้เลย
ควรมีปลั๊กไฟสำหรับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นบางชนิด
ห้องน้ำ/ ห้องสุขา
ควรดูแลให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการลื่น หกล้ม
หากผู้ป่วยไม่สามารถยืนได้ หรือทรงตัวไม่ถนัด ควรมีเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำ และมีที่จับราวเกาะ
หากไม่มีส้วมชนิดนั่งแบบชักโครก ควรใช้เก้าอี้เจาะรูตรงกลาง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถนั่งถ่ายเองได้
ประตู
ควรมีขนาดกว้างพอสมควร และมีการปรับระดับพื้นให้รถเข็นสามารถผ่านเข้าออกได้
ทางเดินภายในบ้าน
ควรมีแสงสว่างเพียงพอ
ควรปรับให้มีระดับลาดชันที่ผู้ป่วยสามารถเดินได้ หรือรถเข็นสามารถผ่านได้สะดวก หากจำเป็น อาจมีราวติดผนังบ้านเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถจับเดินได้
ห้องครัว
ควรจัดให้มีความสะอาด และเป็นระเบียบอยู่เสมอ
ไม่ควรแบ่งพื้นที่ให้อยู่ใกล้ห้องนอนของผู้ป่วยมากเกินไป จนส่งกลิ่นและเสียงรบกวน
แสงสว่างภายในบ้าน
ควรจัดให้มีความสว่างเข้าถึงอย่างเพียงพอ เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ หากชำรุดต้องซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี
การระบายอากาศ
ในห้องหรือในบ้าน ควรมีการระบายอากาศที่ดี ไม่มีกลิ่นอับชื้น
ดังนั้น เราทุกคนควรดูแลสภาพร่างกายและจิตใจให้สดใสแข็งแรงอยู่เสมอ ทั้งการพักผ่อนอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและมีโภชนาการครบถ้วน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และทำจิตใจให้ผ่อนคลาย เพื่อการมีสุขภาพที่ดีทั้ง 4 มิติ จะได้ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บนะคะ