จัดครบ 5 หมู่ กินนมเสริม ป้องกันเด็กขาดสารอาหาร
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
สองปัญหาน่าเป็นห่วงในเด็กเล็กวัยเตาะแตะอายุ 1-3 ปี คือการขาดวิตามินแร่ธาตุ และการเจริญเติบโตไม่สมดุล อาจส่งผลให้มีโอกาสเติบโตแคระแกร็น อ้วนเกิน-ผอมเกิน และไอคิวต่ำ ประเด็นนี้ถูกหยิบมาพูดคุยใน“การประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 11” อาหารสุขภาพเพื่อชีวิต ในหัวข้อ “นมสำหรับเด็กเล็กกับภาวะโภชนาการและการเจริญเติบโต” มีการนำเสนอหัวข้อปัญหาที่พบในเด็กวัยเตาะแตะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย
โดยวิตามินแร่ธาตุที่พบว่าเด็กวัยเตาะแตะได้รับไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ได้แก่ วิตามิน A วิตามิน D วิตามิน C โฟเลต แคลเซียม เหล็ก ไอโอดีน แม้แต่ละวันร่างกายเด็กมีความต้องการสารอาหารเหล่านี้ในปริมาณน้อยก็ตาม แต่หากร่างกายขาดวิตามินแร่ธาตุอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตโดยรวมทั้งร่างกายและสมองของเด็กวัยเตาะแตะซึ่งเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตมากที่สุดอีกช่วงหนึ่งของชีวิต
ดร.อุรุวรรณ แย้มบริสุทธิ์นักวิชาการหน่วยมนุษยโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รวบรวมงานวิจัยที่เคยมีในต่างประเทศมาสรุป เรื่อง “ความไม่มั่นคงทางอาหารและโรคอ้วนในเด็ก” ตีพิมพ์ในวารสารสาธารณสุขศาสตร์ปีที่ 48 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2561) กล่าวโดยสรุปว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่ทำงานนอกบ้านทั้งคู่ และในครอบครัวที่ยากจน ผู้ปกครองอาจไม่สามารถจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับเด็ก รวมทั้งวิธีการเลี้ยงดูซึ่งผู้ปกครองไม่ค่อยมีเวลาเตรียมอาหารให้ลูกเอง ส่งผลต่อคุณภาพอาหารของเด็ก เช่น เด็กอาจได้รับมื้ออาหารต่อวันลดลง กินผักผลไม้สดน้อยมาก หรือในอีกทางหนึ่ง เด็กอาจได้รับอาหารทอดอาหารรสหวานมากขึ้น จึงมีโอกาสสูงมากที่จะทำให้เด็กได้รับพลังงานมากเกินและอาจทำให้เกิดการขาดวิตามินแร่ธาตุในช่วงวัยนี้
ทั้งนี้ช่วงวัยเตาะแตะเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกายเพิ่มขึ้นมากเพราะเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นทั้งการเดินวิ่ง ปีนป่าย เป็นวัยที่ใช้พลังงานประมาณวันละ1,000 กิโลแคลอรี่ในแต่ละวันหากเด็กได้รับสารอาหารจำเป็นน้อยกว่าความต้องการที่กำหนด จะเป็นด้วยพฤติกรรมการกิน เช่น เลือกกิน กินน้อยกินยาก หรือเหตุจากความไม่มั่นคงทางอาหารของครอบครัว ย่อมทำให้เกิดผลลัพธ์เดียวกันคือ ภาวะโภชนาการเด็กขาดสมดุล
แนะแนวทางป้องกัน แก้ไขปัญหาโภชนาการวัยเตาะแตะ นักโภชนาการแนะนำว่า แนวทางแรกที่สำคัญมาก คือแม่ต้องมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีจัดอาหารมื้อหลักคือ อาหาร 5 หมู่วันละ 3 มื้อและอาหารว่างวันละ 2 มื้อ เพื่อให้ลูกได้รับพลังงานและสารอาหารต่างๆ อย่างเพียงพอ ผัก ผลไม้สดต้องมีให้ลูกกินทุกวัน พร้อมด้วยการสร้างนิสัยการดื่มนมให้ลูกตั้งแต่เล็ก
ตัวอย่างความรู้โภชนาการที่คุณแม่คุณพ่อหรือผู้ดูแลเด็กวัยเตาะแตะต้องรู้ให้ชัดเจน เช่น ผัก ผลไม้สดเป็นแหล่งรวมวิตามินแร่ธาตุจำเป็นต่อการเจริญเติบโต อาทิวิตามินเอมีในตับ ฟักทอง ผักใบเขียวและผักที่มีสีเหลือง ส้ม ช่วยบำรุงเนื้อเยื่อร่างกายและประสาทตาธาตุเหล็กได้จากเนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดงและผักใบเขียวเช่นกัน เป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง นำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายวิตามินบี 12ช่วยกระตุ้นระบบประสาทและสมองมีมากในไข่และเนื้อสัตว์ เช่น ปลา ไก่วิตามินบี 6อยู่ในเนื้อสัตว์ ปลา ถั่วมันฝรั่ง กล้วย มีส่วนช่วยควบคุมการทำงานของสมองและเนื้อเยื่อโฟเลตได้จากผักใบเขียวต่างๆ เห็ด ถั่วเมล็ดแห้ง และตับ ซึ่งมีส่วนช่วยการสร้างส่วนประกอบของเซลล์และเม็ดเลือดแดง ป้องกันอาการซีดยังมีสารอาหารดีเอชเอและโอเมก้า 3ที่ได้จากปลาทะเล สารอาหารกลุ่มนี้มีส่วนช่วยพัฒนาสมองและระบบประสาทสัมผัสซึ่งกำลังเติบโตมากในช่วงวัยนี้ ดังนั้นแต่ละมื้อแต่ละวันจึงต้องให้ลูกกินอาหารที่มาจากแหล่งต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อให้ได้สารอาหารครบ
อีกแนวทางหนึ่งคือ การให้ลูกกินนมเป็นอาหารเสริม นมมีบทบาทสำคัญต่อการเสริมโภชนาการสำหรับเด็กในช่วงวัยนี้ แม้นมจะลดบทบาทมาเป็นอาหารเสริม แต่เด็กที่ยังกินนมแม่อยู่ก็ควรให้นมแม่ต่อไปส่วนเด็กที่ไม่ได้กินอาหารที่ครบถ้วนสมดุลทุกมื้อทุกวัน ก็ควรได้รับนมเสริมสารอาหารสำหรับเด็กเล็กที่มีการเสริมวิตามินและเกลือแร่โดยเฉพาะกลุ่มที่มักจะมีปัญหาขาดแคลนในวัยนี้ เช่น วิตามินดี และธาตุเหล็ก ก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเด็กวัยเตาะแตะที่มีปัญหาเติบโตช้า และช่วยลดโอกาสในการขาดสารอาหารที่จำเป็นได้ เพราะโดยธรรมชาติแล้วนมเป็นแหล่งรวมสารอาหารที่เด็กวัยเตาะแตะต้องการ อาทิ โปรตีน ไขมันคาร์โบไฮเดรต วิตามินบีสอง วิตามินเอแคลเซียมและฟอสฟอรัส วัยเตาะแตะจึงควรกินนมสดรสจืดเป็นประจำทุกวัน วันละ 2-3 แก้ว เสริมกับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่เพื่อเติมเต็มโภชนาการแต่ละวันให้มีความสมดุล