จัดการแหล่งท่องเที่ยวให้สะอาด ปลอดโรค ปลอดภัย

        

/data/content/26477/cms/e_efhjmovwy345.jpg

        กระทรวงสาธารณสุข แนะสถานที่ท่องเที่ยวจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและควบคุมดูแลสถานที่ให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันโรค และลดอุบัติภัยต่าง ๆ พร้อมข้อปฏิบัติตนสำหรับนักท่องเที่ยวที่นิยมกางเต็นท์พักแรม ให้ปลอดภัยจากการจุดไฟ

        น.พ.สมศักดิ์  ชุณหรัศมิ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูหนาวโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จึงควรมีการจัดการและควบคุมดูแลสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ รวมถึงเครื่องใช้ อุปกรณ์ เครื่องบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อป้องกันโรคติดต่อ และป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจากการศึกษาสถานการณ์ การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวของสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อมกรมอนามัย ปี 2551 ในอุทยานแห่งชาติ 12 แห่ง จากทุกภาคของประเทศพบว่า ภาพรวมของการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับควรปรับปรุง ตั้งแต่ด้านสุขาภิบาลอาหารปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ร้อยละ 50 การจัดหาน้ำดื่มพบดื่มน้ำบรรจุขวด ร้อยละ 83.33 น้ำใช้มีการใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลอง และน้ำตก ร้อยละ 33.3  และยังพบการปนเปื้อนของโคลิฟอร์มแบคทีเรียที่ถังเก็บน้ำและจุดกรองน้ำ

          สำหรับการจัดการขยะพบว่าร้อยละ 75 ไม่มีการคัดแยกขยะ ส่วนการจัดการสิ่งปฏิกูลความสะอาดของห้องน้ำ ห้องส้วมตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมอนามัย พบไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานถึงร้อยละ 91.7 สภาพโครงสร้างและตัวเรือนส่วนใหญ่มีลักษณะถาวร อยู่ในสภาพดี ใช้การได้ ร้อยละ 91.7  แหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีการจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย มีข้อความกฎระเบียบเตือนภัยในจุดอันตราย ร้อยละ 91.7 มีสถานที่จอดรถเพียงพอ ร้อยละ 58.3 มีระบบจ่ายไฟฟ้าและไฟฟ้าสำรองกรณีฉุกเฉิน ร้อยละ 41.7

          นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ส้วมและขยะมูลฝอยเป็นอีกปัญหาหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ควรมีการจัดการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากส้วมสาธารณะที่ขาดการดูแลและรักษาความสะอาดที่ดี จะกลายเป็นแหล่งแพร่โรคติดต่อได้ ส่วนขยะมูลฝอยหากไม่มีการจัดการอย่างถูกสุขลักษณะจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะนำโรค อาทิ ส้วมในสถานแหล่งท่องเที่ยว ควรมีไว้บริการอย่างเพียงพอ โดยมีห้องส้วมหญิง 3 ห้องและห้องส้วมชาย 2 ห้องต่อคนไม่เกิน 15 คน และ 1 โถปัสสาวะชาย ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 63  ขึ้นอยู่กับสถานที่ของแต่ละแห่งว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใด ซึ่งความสะอาดและถูกสุขลักษณะเป็น สิ่งสำคัญ จึงต้องมีผู้ดูแลรักษาความสะอาดย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค โดยให้มีบริการส้วมแบบนั่งราบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ หรือมีปัญหาข้อเข่า และมีส้วมสำหรับผู้พิการ มีทางลาดสำหรับรถนั่ง

          ทางด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้สนับสนุนให้แหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาส้วมสาธารณะให้ได้มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศ (HAS) คือ สะอาด (Health)เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) รวมทั้งการจัดการขยะมูลฝอยควรจัดเตรียมถังขยะพร้อมฝาปิดมิดชิดไว้บริการ เพื่อป้องกันการทิ้งขยะเกลื่อนกลาด และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะนำโรค ทั้งนี้ ควรมีการคัดแยกขยะ เพื่อลดปริมาณการกำจัดและสามารถนำไปขาย เพิ่มรายได้อีกด้วย อีกทั้งน้ำดื่ม น้ำใช้ที่มีไว้บริการต้องสะอาด และมีปริมาณเพียงพอต่อจำนวนผู้มาใช้บริการ หากมีบริการที่พัก ห้องนอนที่ใช้นอนรวมกันหลายคน โดยเฉลี่ยแล้วต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 40 ตารางฟุตต่อคน บริเวณโดยรอบที่พักอาศัยต้องสะอาด ควรมีท่อระบายน้ำทิ้ง ไม่มีน้ำขังเฉอะแฉะ อันจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะนำโรค และส่งกลิ่นเหม็นรบกวน” ดร.นพ.พรเทพ กล่าว

          “สำหรับนักท่องเที่ยวที่นิยมการกางเต็นท์พักแรม ควรปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัย อาทิ 1) การจุดตะเกียง ก่อไฟ หรือสูบบุหรี่ภายในเต็นท์ อาจทำให้สำลักควัน ถูกไฟครอก หรือได้รับคาร์บอนไดออกไซด์จากควันไฟในปริมาณที่มาก ส่งผลให้ขาดออกซิเจนได้  2) ภายในเต็นท์ควรเปิดช่องระบายอากาศ ช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หากต้องการความสว่างควรใช้ไฟฉาย 3) ควรหลีกเลี่ยงการกางเต็นท์ใต้ต้นไม้ที่มีกิ่งแห้งตายหรือพื้นที่ที่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันกิ่งไม้หักลงมาและอาจมีแมลงสัตว์มีพิษ    ชุกชุม 4) ควรกางเต็นท์เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ หากมีเหตุฉุกเฉินจะได้สะดวกในการหนีได้ทัน  และ 5) ไม่ทิ้งเศษอาหารไว้   ใกล้ ๆ ที่นอนหรือบนพื้น เนื่องจากอาจมีสัตว์ที่ออกหากินเวลากลางคืนจะเข้ามาใกล้หรือมดแมลงมารบกวน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

 

        ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

        ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 

Shares:
QR Code :
QR Code