จัดการน้ำ ‘อ่างเก็บน้ำห้วยคลองกระโดน’

ที่มา : หนังสือการจัดการน้ำ 12 ประเด็นสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


จัดการน้ำ ‘อ่างเก็บน้ำห้วยคลองกระโดน’ thaihealth


วิถีชุมชนสร้างเศรษฐกิจฐานราก : จัดการน้ำรูปธรรมจากภาคเหนือตอนล่าง อ่างเก็บน้ำห้วยคลองกระโดน อ.บ้านตาก จ.ตาก


พื้นที่บ้านน้ำดิบนั้นเป็นที่ราบสูง ประชากรส่วนใหญ่ นอกจากอาศัยป่าแล้ว ยังทำเกษตรกรรมจำพวกไร่ อาทิ ไร่ข้าวโพด ไร่มัน หรือบางส่วนก็เลี้ยงวัว แม้จะเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมากนัก แต่ก็ต้องมีการสำรองไว้เผื่อเกิดเหตุภัยแล้ง ขณะที่การเลี้ยงวัวเอง ก็ต้องใช้น้ำในการปลูกหญ้าให้วัวกิน


"เมื่ออนุรักษ์ป่า ก็ต้องอนุรักษ์น้ำ เป็นของคู่กัน ไม่มีป่าก็ไม่มีต้นน้ำที่จะไหลมาเก็บในอ่าง" สถาพร บัวบาน รองประทานสภา และเป็นลูกชายของชิน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 เริ่มต้นไว้อย่างน่าฟัง ก่อนจะย้อนความหลังให้ฟัง


ในปี 2527 ช่วงนั้นการชลประทานของหมู่บ้านที่ 7,8 และ 9 นั้น อาศัยเขื่อนดินเป็นตัวสำรองกักเก็บน้ำ กระทั่งปี 2535 น้ำมาเยอะทำให้เขื่อนดินแตก โดยในเวลานั้นอิสระพงศ์ หนุนภักดี เป็นรมต.มหาดไทย มีคำสั่งเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) มาออกแบบเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พร้อมประตูเปิดปิดน้ำ จนแล้วเสร็จใช้เรื่อยมา มีขนาดความจุ 440,000 ลูกบาศก์เมตร


กาลเวลาผ่านไป ปี 2547 เริ่มมีการวางท่อส่งน้ำใต้ดินเพื่อการเกษตร แต่เมื่อประตูน้ำแล้วเสร็จ กลับมีปัญหาตามมา ชาวบ้านแย่งกันใช้น้ำ จนเกิดปัญหาน้ำหมดเร็ว นาข้าวบางส่วนรวมถึงพืชไร่ที่ปลูกไว้ตาย


“จึงทำให้ต้องมีการตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยรอบแรกไม่เป็นรูปธรรมเท่าไร กระทั่งสองถึงสามปีให้หลัง ในช่วงราวปี 2555 กรมทรัพยากรน้ำจากลำปาง ได้เข้ามาตั้งกลุ่มเครือข่ายผู้ใช้ลุ่มน้ำปิงตอนล่าง เริ่มมีระบบ มีประธาน รองฯ เลขาฯ เหรัญญิก นายทะเบียน ปฏิคม นายเหมือง” สถาพรเล่า


สถาพร อธิบายต่อว่า ช่วงราวมกราคมของทุกปี จะมีการเปิดรับสมัครสมาชิก หรือชาวบ้านที่ต้องการใช้น้ำ โดยชาวบ้านต้องมายื่นคำร้องต่อนายทะเบียน แจ้งวัตถุประสงค์ของการใช้น้ำ เพื่อปลูกข้าว ปลูกหญ้า ทำสวน ฯลฯ แล้วนายทะเบียนจะนำข้อมูลไปยื่นต่อคณะกรรมการ เพื่อทำการตรวจสอบว่าใช้ตามวัตถุประสงค์จริงไหม จำนวนไร่ตามแจ้งหรือไม่ จากนั้นจะเก็บค่าธรรมเนีรยม คิดเป็นอัตราแตกต่างกันไปตามชนิด นาในฤดูเก็บไร่ละ 50 บาท นาปรังไร่ละ 100 บาท พืชสวนเก็บไร่ละ 20 บาท นาปรังไร่ละ 20 บาท สระน้ำลูกละ 100 บาท คิดเป็นรายปี แต่สำหรับคนที่ไม่มีท่อส่งน้ำก็ต้องมาดูดน้ำเองนั้น ราคาก็ถูกลง


นายเหมืองจะทำหน้าที่เปิดปิดประตูน้ำ โดยในสปัดาห์หนึ่งจะเปิด 3 วัน ปิด 4 วัน เปิดจากต้นน้ำไปหาปลายน้ำ โดยต้นน้ำจะเป็นผู้ใช้ก่อน ไล่ลงไปจนปลายน้ำ เพราะพื้นที่มีลักษณะลาดเท หากให้ปลายน้ำใช้ก่อน ต้นน้ำจะไม่เหลือน้ำ หรือน้ำไม่มีแรง เป็นการเสียเวลา


ปัจจุบันมีพื้นที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยคลองกระโดน ราว 1200 ไร่ แต่เท่านี้น้ำในอ่างก็แทบจะไม่พอแล้ว

Shares:
QR Code :
QR Code