จักรยานไทย ใกล้ติด มอก.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
กระทรวงอุตสาหกรรมลงนามความร่วมมือกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเรื่องการจัดการระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เมื่อปี 2557 มีกรอบความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาระบบการส่งเสริมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมจักรยานและอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ
โดยตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จักรยานขึ้น เพราะมาตรฐานเดิมใช้มาแล้ว 40 ปี ล้าสมัยมาก ขณะที่คนไทยใช้จักรยานเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ทั้งการปั่นระยะทางใกล้และไกล
สิ่งที่ได้เมื่อมีมาตรฐานจักรยานแบบไทยๆ ผู้ผลิตจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดขั้นตอนการผลิตที่ซ้ำซ้อน สินค้ามีคุณภาพ ราคาถูก เพิ่มโอกาสทางการค้าในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการที่กำหนดให้สินค้านั้น ๆ ต้องได้รับ มอก.
ส่วนผู้บริโภคนั้นนอกจากได้ความปลอดภัยและสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่คุ้มค่าแล้ว กรณีจักรยานพัง ยังหาอะไหล่ได้ง่าย เพราะสินค้ามีมาตรฐานเดียวกัน ใช้ทดแทนกันได้
ขณะเดียวกันในระยะยาวจะก่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ สามารถสร้างโอกาสทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ป้องกันสินค้าคุณภาพต่ำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ และช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรของชาติให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
หมายความว่า จักรยานจะมีมาตรฐานเหมือนกับสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ทั้งนี้ที่ผ่านมาสำนักงานมาตรฐานอุตสาห กรรม (สมอ.) กำหนดมาตรฐานเรื่องต่าง ๆ ครอบคลุมในกลุ่มสินค้าดังกล่าว 2,000 เรื่อง
ความพยายามเพื่อหา มอก.ให้จักรยานไทย ได้ผ่านการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด แม่งานหลัก คือชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพฯ ล่าสุดได้จัดประชุมกลุ่มย่อย การจัดทำมาตรฐานจักรยานและชิ้นส่วน มีหน่วยงานร่วมประชุมดังนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้ประกอบการ และผู้ใช้จักรยานตัวจริง
นายสุรจิตร วันแพ ผู้อำนวยการกลุ่มกำหนดมาตรฐาน 4 สาขาเครื่องกลยานยนต์และชิ้นส่วน สมอ. กล่าวว่า ประเทศไทยประกาศใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถจักรยานครั้งแรก วันที่ 26 เม.ย. 2532 ต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงใหม่ เนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์อุตสาห กรรมรถจักรยานได้พัฒนาด้านคุณภาพและความปลอดภัย โดยอ้างอิงมาตรฐานระหว่างประเทศเป็นหลัก
ทั้งนี้มาตรฐานเดิมผู้ประกอบการไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากนัก ต่างกับผู้บริโภคที่เริ่มตระหนักเรื่องจักรยานและชิ้นส่วนที่มีมาตรฐานมากขึ้น ต้องการใช้จักรยานที่มีเครื่องหมายรองรับจึงได้แก้ไขปรับปรุงยกเลิกและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถจักรยานขึ้นใหม่ เป็นข้อกำหนดสำหรับรถจักรยานที่ใช้ในการเดินทาง และใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน จักรยานสำหรับเยาวชน รถจักรยานเสือภูเขา และรถจักรยานเพื่อการแข่งขัน
การจัดทำมาตรฐานครั้งนี้ดีกว่ามาตรฐานเดิมที่มีอยู่ ซึ่งขี่จักรยานได้ไม่กี่ปีก็พัง ไม่คงทนในการใช้งาน โดยมาตรฐานที่ได้ปรับปรุง เน้นการรับน้ำหนักและวิธีทดสอบจักรยานและชิ้นส่วนให้มีคุณภาพ ทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น เพราะการมี มอก. ใหม่ จะยึดการทดสอบตาม ISO ซึ่งใช้เป็นสากลทั่วโลก เพราะสาระหลักของมาตรฐานจักรยาน ดูเรื่องโครงรถจักรยานทั้งคัน โดยโครงรถต้องรับแรงกระแทกจากสิ่งต่าง ๆ ได้เมื่อมีการเกิดอุบัติเหตุ หรือมีการขับชนกับสิ่งของ รวมทั้งรับแรงกระแทกของน้ำหนักผู้ปั่นได้ตามที่ระบุไว้ในมาตรฐาน จักรยานแต่ละประเภทรับแรงกระแทกน้ำหนักของผู้ปั่นได้ต่างกัน เพื่อผลิตจักรยานแต่ละประเภทให้มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งาน
ตาม มอก. โครงรถจักรยานทุกประเภทต้องทดสอบรับแรงกระแทก 3 จุด อาทิ ที่ติดตั้งเบาะอานรถ แฮนด์รถ และที่วางสัมภาระด้านหลัง เช่น จักรยานที่ใช้ในการเดินทางและใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน จะทดสอบโดยการใช้เครื่องทดสอบที่มีน้ำหนักขนาด 50 กก. ส่งแรงกระแทกมาที่อานรถกดหลายครั้งจนกว่าจะผ่านมาตรฐานที่ตั้งไว้ ส่วนแฮนด์รถและที่วางสัมภาระด้านหลังใช้วิธีการทดสอบระบบเดียวกัน ต่างกันที่น้ำหนักของเครื่องทดสอบที่ส่งแรงกระแทกในจุดต่าง ๆ และจักรยานแต่ละประเภททดสอบในน้ำหนักส่งแรงกระแทกไม่เหมือนกัน
สำหรับที่วางสัมภาระด้านหลังทดสอบเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน เน้นให้ความสำคัญกับจักรยานที่ใช้ในการเดินทางและใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวันมากกว่าจักรยานประเภทอื่น ๆ เพื่อใส่สิ่งของได้จำนวนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนสำหรับโครงรถจักรยานในแต่ละจุดที่มีการทดสอบต้องรับแรงกระแทกตามมาตรฐานที่กำหนดเท่าไหร่ เนื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนจัดทำรายละเอียดมาตรฐานดังกล่าวในแต่ละประเภท
ในส่วนของวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำโครงรถนั้นไม่ได้จำกัดไว้ สามารถทำจากเหล็ก อะลูมิเนียม หรือวัสดุอื่นใดก็ได้เนื่องจากเป็นเรื่องของการดีไซน์ และการใช้เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้านระบบเบรก มีการกำหนดไว้ว่าจักรยานแต่ละประเภทต้องมีระบบเบรกกำหนดไว้ต้องหยุดได้ในระยะกี่กิโลเมตร เพื่อความปลอดภัย ตลอดจน ล้อ และชิ้นส่วนอื่น ๆ ต้องรับแรงกระแทกได้เช่นกัน
ผลการหารือกลุ่มย่อยในครั้งนี้ จะนำสู่คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงมาตรฐานให้เหมาะสม หากได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้ว สมอ.คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวในสิ้นปี 2559 จะได้เห็นจักรยานมี มอก. แล้ว
"การจัดทำมาตรฐานจักรยานทำให้ผู้ประกอบการตื่นตัว หลายภาคส่วนขณะนี้ให้ความสำคัญกับทางจักรยานจนลืมมองว่าจักรยานเป็นสิ่งสำคัญ หากมีทางจักรยานแต่จักรยานไม่มีมาตรฐาน ขี่ไปก็พัง" ผู้อำนวยการกลุ่มกำหนดมาตรฐาน 4 ให้ความเห็นฝากไว้สำหรับคนที่คิดจะซื้อจักรยานใหม่รออีกนิด….ใช้จักรยานคันเดิมประเดิมทางจักรยานใหม่ไปพลาง ๆ ก่อน.