จักรยานเชื่อมคลอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ทั้งๆ ที่กระแสการขี่จักรยานโถมสู่สังคมไทยรุนแรง นัดรวมกันทีเป็นพันเป็นหมื่น มีทางวิ่งราคานับร้อยล้าน อนาคตจะมีทั้งทางข้ามจังหวัดเป็นร้อยโล และแบบเลียบแม่น้ำ แต่ปรากฏว่า ที่จะหาประโยชน์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางได้จริงแทบไม่มี ทั้งที่นักรณรงค์เรียกร้องมาเป็นสิบปี
ขณะเดียวกันปัญหารถติดก็ไม่คลี่คลาย หลบไปพึ่งรถไฟฟ้า ก็ต้องจ่ายมอ'ไซค์ ให้แอบพาข้ามสะพานลอยทอดหนึ่งถึงจะขึ้นได้ แต่คนรักจักรยานที่อยากได้ทางเชื่อมการเดินทางอย่างยั่งยืน ก็ไม่ย่อท้อ ยังตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาไม่ยอมเลิก
ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นคนหนึ่งที่ใช้ความรู้ทางผังเมืองมาศึกษาวิจัยทำทางวิ่งให้จักรยานสำหรับใช้เดินทาง โดยได้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการพัฒนาพื้นที่ริมคลองเป็นทางจักรยาน เพื่อสรรค์สร้างการเดินทางและเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน หรือ 3C Project ซึ่งมาจาก Canal (คลอง) Cycling (จักรยาน) และ Community (ชุมชน) ที่คนรักคลอง รักชุมชน เมือง และรักจักรยาน มารวมตัวกันเพื่อพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพดี ตัวโครงการเป็นทางจักรยานเลียบคลอง ที่พยายามทำให้เป็นทางเลือกของการเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน และใช้ประโยชน์เพื่อการเดิน วิ่ง ให้เกิดสุขภาวะ
อาจารย์ไม่ได้เขียนโครงการ ทำผลงานวิชาการที่จับต้องไม่ได้ แต่ลงพื้นที่ ทำโครงการนำร่อง บนทางเลียบคลองบางมด จากที่มีอยู่ 3-4 กม. บริเวณหลังวัดพุทธบูชา เขตทุ่งครุ ซึ่งเป็นคลองที่ยาวไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ได้สำรวจ เทียบกับแผนที่ พบว่า ถ้าต่อไปอีก 7 กม. ก็จะถึงสถานีรถไฟฟ้าวุฒากาศ โดยไม่ต้องผ่านถนนใหญ่ แต่จะสำเร็จได้ทางการ คือ สำนักงานเขต ทุ่งครุ ต้องสนับสนุนด้วยการทำทางเลียบคลอง แล้วจะมองเห็นรำไรว่าจะไปถึงรถไฟฟ้า ด้วยงบประมาณที่ไม่ได้มากมาย โครงการประสานงานไปแล้วระดับหนึ่ง
สำหรับชุมชนเมือง ทางจักรยานควรเป็นการทำเพื่อการเดินทาง ออกกำลังกาย พักผ่อนและการท่องเที่ยว ที่คนเดินเท้าใช้ร่วมได้ โดย ดร.กัญจนีย์ บอกว่า ทางต้องเชื่อมโยงชุมชนกับระบบขนส่งมวลชน คลองเป็นทางเชื่อมที่ดี เพราะทั่วกรุงเทพฯมีลำคลองยาวกว่า 2,000 กม.ตัดผ่านชุมชน วัด โรงเรียนที่สาธารณะ ที่พัฒนาให้เป็นทางจักรยานเพื่อการเดินทางได้ โดยไม่ต้องผ่านถนนใหญ่ ใช้งบลงทุนไม่มาก ทำทางกว้าง 2 เมตร มีรั้วกันตก มีศาลากันฝน ที่ใช้แสดงผลงานของชุมชน เช่น อยู่ใกล้แหล่งปลูกกล้วยไม้ก็เอามาโชว์กัน
กรุงเทพฯ เป็นเมืองติดน้ำ แต่เผลอตัวไปพัฒนาแต่ทางบก หันหลังให้คลองปล่อยให้เป็นทางระบายน้ำทิ้ง พอนึกได้ว่า ใช้สัญจรและทางท่องเที่ยวได้ ก็ไม่ได้รับความสนใจเพราะไปได้ช้า ถ้าเอาเรือเร็วมาวิ่ง บ้านริมคลองก็เดือดร้อน ตรงนี้ ดร.กัญจนีย์ เสนอว่า จักรยานบนทางเลียบคลองจะส่งเสริมวิถีสัญจรที่ไม่ช้าเกินไป ไม่ก่อมลพิษ มีมิตรในรายทาง และสร้างการเชื่อมโยงชีวิตกับสายน้ำคนไทยให้คืนกลับมา
เธอได้ชักชวน นักสร้างสรรค์งานศิลปะ อาทิ 'แพร' ณิชนันทน์ ชูวิทย์ นักเรียน ม.4 โรงเรียนรุ่งอรุณ มาช่วยวาดภาพกำแพงหลังวัดพุทธบูชา ตอนนี้ เริ่มมีผลงาน Pixel Art ริมกำแพงหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ ของ สรรเสริญ เหรียญทอง และงาน เซรามิกบนกำแพงยาวกว่า 100 เมตรสร้างสรรค์โดย ครูแจ๋ แห่ง Atpotterhouse & Friends
วันหยุดหรือวันที่อยากสัมผัสความเรียบง่ายของชีวิตริมคลองบางมด ลองขับรถไปจอดที่วัดพุทธบูชา แล้วพาจักรยานคันเก่งขี่เลียบทางที่กว้างแบบไม่ต้องกลัวน้ำโดยไม่ตั้งใจ
นอกจากการงานศิลปะริมทาง ที่โครงการจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะได้เห็นชีวิตชาวสวน การเดินทางด้วยเรือพายที่ไม่ได้มีใครจ้าง ร้านสรรพสินค้าเรือนไม้ ที่โอนเงินและเดลิเวอรี่ด้วยตะกร้าข้ามคลอง เขตอภัยทานหน้าวัด นอกจากปลาสวายฝูงใหญ่ ตรงข้ามยังมีแหล่งอาศัยของนกแขวกที่ยืนแอ๊คให้ถ่ายภาพ โดยไม่ต้องซื้ออาหารล่อ แล้วจะรักและอยากให้ริมคลองอีกสองพันกิโลเป็นทางปั่นในฝันเพื่อการเดินทางที่ยั่งยืน เป็นทางชั้นดีที่สร้างไม่แพงด้วย