งานศพปลอดเหล้า ลำปาง “ให้คนตาย (ไม่) ขายคนเป็น”
สสส.เผยค่าเหล้างานศพ ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท
“ให้คนตาย ขายคนเป็น” คำยอดฮิต ที่เคยติดปากชาวอำเภอสบปราบ จ.ลำปาง
จากเดิม “เหล้า” มักเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพื่อเลี้ยงขอบคุณแขกที่มาร่วมในงานศพ ทำให้เกิดหนี้สินจากการจัดงานเกือบเท่าตัว
มาวันนี้งานศพของชาวสบปราบกลับไร้ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยังขยายผลไปยังอำเภอใกล้เคียง จนพัฒนาไปสู่นโยบาย “งานศพปลอดเหล้า” ของจังหวัดลำปาง
นายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าถึงความเป็นมาของงานศพปลอดเหล้าใน จ.ลำปาง ว่า
“งานศพปลอดเหล้าเริ่มต้นมาจากงานวิจัยเชิงปฏิบัติการณ์ของสถาบันแสนผะหญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยที่ลงไปเก็บข้อมูลร่วมกับชาวบ้านในชุมชน ทำให้เห็นตัวเลขหนี้สินที่น่าตกใจ นั่นคือ หนี้สินที่เกิดจากงานศพ ซึ่งพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของงานศพมาจากค่าเหล้าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าภาพ แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีกู้เงินนอกระบบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงาน และก่อให้เกิดหนี้สินตามมา ทำให้คนส่วนใหญ่ในเวลานั้น มักใช้คำว่า “ให้คนตาย ขายคนเป็น”
เมื่อชาวบ้านเห็นที่มาของตัวเลขหนี้สินแล้ว จึงเกิดพลังในชุมชน ด้วยการทดลองให้คนในชุมชนบ้านดง อ.สบปราบ จ.ลำปาง เริ่มหันมาจัดงานศพปลอดเหล้าเครือข่ายองค์กรงดเหล้าเลยเข้าไปช่วยขยายผล และตัวเลขที่พบคือ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้เกือบครึ่งหนึ่งของการจัดการ จากนั้นขยายผลจนกลายเป็นอำเภอต้นแบบงดเหล้าในงานศพ แห่งแรกของลำปาง ซึ่งนับเป็นการแก้ปัญหาความยากจนอีกวิธีหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จ”
การลดรายจ่าย จากงานศพปลอดเหล้า ยังทำให้คนในชุมชนเริ่มเกิดแนวคิดที่สร้างสรรค์ในอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้ปราสาทไม้เผาไปกับศพ เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ, การคิดค้นเมนูอาหารทางเลือกในงานศพตามกำลังทรัพย์ของเจ้าภาพ และตัดกับแกล้มเหล้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารปรุงสุกๆ ดับๆ ออก เพื่อลดความเสี่ยงต่อพยาธิใบไม้ในตับ
จากอำเภอต้นแบบ “งานศพปลอดเหล้า” ของจังหวัดลำปาง มาวันนี้ได้มีการขยายผลเป็นนโยบายในระดับจังหวัด โดยนายสามารถ ลอยฟ้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ประกาศให้ “ลำปาง เป็นจังหวัดงานศพปลอดเหล้า” ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการงดเหล้าในงานศพและการพนัน เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2551 เพื่อให้ทุกอำเภอมี 1 ตำบล นำร่องให้เกิดงานศพปลอดเหล้า ผ่านแกนทำงานในระดับอำเภอทั้ง 13 อำเภอ เพื่อเป้าหมายสำคัญของการขยายผลไปยังจังหวัดใกล้เคียงใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบท และพื้นที่อื่นๆ
เพราะงานศพที่ปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยทางด้านพิธีกรรมและการจัดเลี้ยงแล้ว ยังช่วยลดปัญหาทะเลาะวิวาท ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนอีกด้วย
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 06-10-51