งานวิจัยเผยพบนิโคตินในสนามบินสูง
ร้องสธ.ประกาศเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100%
“หมอหทัย” เผยงานวิจัย ชี้ระดับนิโคตินใกล้ห้องสูบบุหรี่ในสนามบินสูง อันตรายต่อสุขภาพ หวั่นผู้โดยสารอื่นได้ควันพิษเป็นของแถม วอน สธ. ออกประกาศยกเลิกห้องสูบบุหรี่ในสนามบินสุวรรณภูมิ 100 % เชื่อช่วยสนามบินไทย ขยับอันดับสูงขึ้นในเวทีโลก
นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารควบคุมการสูบบุหรี่ได้ตรวจสอบคุณภาพอากาศที่สนามบินในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า อากาศในบริเวณใกล้ห้องสูบบุหรี่ของสนามบินนานาชาติ มีระดับนิโคตินสูงมากพอในปริมาณที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2510 ในกลุ่มสนามบินที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา 30 แห่ง มีถึง 23 แห่ง ที่กำหนดให้พื้นที่ภายในอาคารปลอดบุหรี่ 100% ส่วนในประเทศไทย ปัจจุบันสนามบินในต่างจังหวัด ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% เหลือเพียงสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเท่านั้น ที่ยังมีห้องสูบบุหรี่อยู่ภายในอาคาร แม้จะมีห้องสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ แต่มีการเปิดประตูเข้า-ออก ทำให้สารพิษออกมาภายนอกห้องได้
“ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรออกประกาศกระทรวงฯ กำหนดให้สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ 100% ซึ่งที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เกรงว่าสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นสนามบินที่ผู้โดยสารต้องเดินทางไกลเป็น 10 ชั่วโมง อาจอยากจะสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ใช้ไม่ได้ เพราะสนามบินอื่นที่ใหญ่กว่าสุวรรณภูมิยังสามารถทำให้เป็นสนามบินปลอดบุหรี่ 100% ได้ ทั้งนี้ หากจะจัดบริการห้องสูบบุหรี่ ควรเป็นห้องพิเศษที่มีทางเดินออกมานอกอาคารผู้โดยสารแยกเป็นสัดส่วนต่างหาก” นพ.หทัยกล่าว
สำหรับสนามบินที่ได้รางวัล Skytrax World Airport Awards อันดับที่ 1-10 ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติของประเทศสิงคโปร์ (Changi), เกาหลี (Incheon), ฮ่องกง, เยอรมัน (มิวนิค), มาเลเซีย (กัวลาลัมเปอร์), สวิสเซอร์แลนด์ (ซูริค), ฮอลแลนด์ (แอมสเตอรแดม), จีน (ปักกิ่ง), นิวซีแลนด์ (อ็อคแลนด์) และไทย (สุวรรณภูมิ)
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
Update : 04-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร