งานวิจัยยืนยันดื่มเหล้า ทำลายภูมิคุ้มกันต้านโควิด

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


งานวิจัยยืนยันดื่มเหล้า ทำลายภูมิคุ้มกันต้านโควิด thaihealth


แฟ้มภาพ


ข้อมูลวิชาการจำนวนมากชี้ชัดว่า การดื่มเหล้านอกจากเพิ่มความเสี่ยงให้คนดื่มเหล้าสัมผัสเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ยังทำให้อาการติดเชื้อรุนแรงขึ้น


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 พันคนต่อวัน และขยายวงกว้างไปเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย พฤติกรรมหนึ่งที่ทำให้โควิด-19 เกิดปรากฏการณ์ขยายวงกว้าง (Super spreader) เร็ว คือ การไปผับ/บาร์ ดื่มเหล้าสังสรรค์ โดยไม่สวมหน้ากาก และไม่เว้นระยะห่าง


น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การดื่มเหล้าทำให้ความสามารถในการตัดสินใจบกพร่องตั้งแต่เริ่มต้นดื่มแก้วแรก เพราะเมื่อร่างกายมีแอลกอฮอล์ในเลือดจะทำให้คนดื่มขาดการยับยั้งชั่งใจ กระบวนการคิดและการเคลื่อนไหวแย่ลง เช่น การกอด การยืนใกล้กันมากเกินไป การมีกิจกรรมที่เพิ่มอัตราการหายใจแรงขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เอื้อต่อการแพร่เชื้อชัดเจน เพราะเกิดขึ้นในพื้นที่จำกัด มีอากาศถ่ายเทน้อยจนทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อโควิด-19


"การหยุดดื่มเหล้า งดงานเลี้ยงสังสรรค์ในช่วงโควิด-19 จะช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัดในระบบบริการสุขภาพได้ เพราะทำผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลลดลง จนสามารถกระจายบุคลากรไปปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ป่วยที่จำเป็นได้ สะท้อนความคุ้มค่ามหาศาลในการหยุดเชื้อโควิด-19 สสส. ขอเชิญชวนให้ทุกคนงดพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในบ้าน ร้านอาหาร สถานบันเทิงต่าง ๆ เพื่อหยุดวงจรระบาด" น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว


ด้าน ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เปิดเผยว่า พบข้อมูลวิชาการจำนวนมากชี้ชัดว่า การดื่มเหล้าหนักนอกจากเพิ่มความเสี่ยงให้คนดื่มเหล้าสัมผัสเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ยังทำให้อาการติดเชื้อรุนแรงขึ้น เพราะเหล้าทำให้อวัยวะในร่างกาย เช่น ปอด ตับ ลำไส้ เสื่อมและทำงานผิดปกติ และเมื่อดื่มเหล้าเข้าไปในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน ฤทธิ์ของเหล้าจะเข้าไปทำให้ภูมิคุ้มกัน 2 ชนิดในร่างกายบกพร่อง ได้แก่ ภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด (innate) และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง (acquired)


นอกจากนี้การดื่มเหล้ายังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถตรวจจับ กำจัด และทำลายเชื้อโควิด-19 หรือต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดใหม่ ๆ ได้ โดยมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.แอลกอฮอล์ไปเพิ่มจำนวนตัวรับ (receptors) ซึ่งเป็นช่องทางหลักของการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2.แอลกอฮอล์ ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมากเกินปกติ อวัยวะทำงานผิดปกติ จนมีภาวะแทรกซ้อน "อักเสบรุนแรง (hyper-inflammation)" และ 3.แอลกอฮอล์ทำให้ความสามารถของร่างกาย ในการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อบกพร่อง


อย่างไรก็ตามเตือนสติคออบายมุขยุคโควิด-19 เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด พนัน ต้นตอความเสี่ยงสูง เผยนักพนัน นักดื่มนักสูบ ผู้ใช้สารเสพติดรวมตัวกันในสถานที่ปิด ยิ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อซ้ำเติมปัญหา ด้านอดีตคออบายมุขวอนใช้โอกาสนี้ลด ละ เลิก เข้าสู่การบำบัดรักษาอย่างเป็นระบบ หยุดตั้งวง การ์ดอย่าตก


ทั้งนี้มีข้อมูลจาก ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด(ศศก.)ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) สำรวจความเสี่ยงและพฤติกรรมการใช้สารเสพติด เหล้า บุหรี่ ปี 2563  มีการใช้สารเหล่านี้จนน่าเป็นห่วง โดยพบว่า บุหรี่มีผู้ใช้อยู่ที่ ร้อยละ 22.4 ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผู้ดื่มอยู่ที่ ร้อยละ 38.9 ส่วนยาบ้าที่มีการใช้ร้อยละ 0.4 ใบกระท่อม กัญชา ร้อยละ 2.5 สารเหล่านี้มีผลต่อร่างกายโดยรวม


เช่น บุหรี่ มีสารก่อมะเร็งกว่า 10 ชนิด ก่อเกิดโรคปอดเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด ยิ่งหากได้รับเชื้อโควิด-19 ยิ่งมีผลต่อระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรงขึ้น และคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ จะมีฤทธิ์ทำลายตับ เมื่อใช้ไปนาน ๆ ตับจะแข็ง และเป็นมะเร็งตับในที่สุด และยังมีมะเร็งอีกหลายชนิดที่เกี่ยวเนื่องกับการดื่มแอลกอฮอล์


ยิ่งหากคนที่เป็นวัณโรคปอด หากดื่มจะมีอาการรุนแรงมาก ผู้ที่ใช้สารเสพติดส่วนใหญ่อยู่ในสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม ไม่มีการดูแลสุขอนามัยความสะอาด และไม่มีสติจึงมีความเสี่ยงต่อการติดโควิด-19 ถึงเวลาที่จะลดละเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด

Shares:
QR Code :
QR Code