“งานบ้านเป็นของทุกคน ทำได้ทุกเพศ”
เรื่องโดย พัฒน์รพี กมลานนท์ Team content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก แผ่นพับรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง 2562
ให้สัมภาษณ์โดย นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. นายรัชเวทย์ คำเสมอคชสีห์ ประธานชุมชนซอยสินทรัพย์ เขตดุสิต และ นายไบรรอน บิชอฟ สามีนักแสดงสาว ซินดี้ บิชอฟ
ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“พ่อครับ อย่าทำร้ายแม่นะครับ ผมสงสารแม่ แม่ทำงานทั้งนอกบ้านและในบ้านหนักแล้ว พ่ออย่ามาทำร้ายแม่แบบนี้เลยนะครับ เวลาพ่อดื่มเหล้าทีไร พ่อเป็นแบบนี้ทุกที ทำไมครับ เมื่อไหร่พ่อจะเลิกอบายมุขสักที พ่อไม่สงสารผมกับแม่บ้าง เหรอครับ” เสียงอ้อนวอนของเด็กน้อยเล็ดลอดออกมาจากโทรทัศน์ที่ฉันกำลังเปิดดูละครสะท้อนสังคมเรื่องหนึ่ง มือที่คอยปัดกวาดเช็ดถูโต๊ะที่เต็มไปด้วยฝุ่น พลันหยุดชะงัก และสายตาก็จับจ้องมาที่หน้าจอโทรทัศน์ในทันใด
ปัญหาความรุนแรงในสังคมยังคงเห็นอย่างต่อเนื่องในหน้าข่าว รวมถึงสื่อต่าง ๆ ที่พยายามสะท้อนให้สังคมตระหนักถึงภัยอันตรายที่เกิดจาก “แอลกอฮอล์”
แอลกอฮอล์เป็นสารเสพติดที่ไม่เพียงแต่จะบ่อนทำลายสุขภาพร่างกาย และจิตใจของผู้ดื่มเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อบุคคลซึ่งอยู่รอบข้างอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกิดความเครียดกับบุคคลในครอบครัว การเกิดโรคภัย เสียเงินเสียทองไปกับการชำระหนี้สินที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเรื่องของการกระทำความรุนแรงอีกด้วย
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. เล่าให้ฟังว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายคนรู้ว่าทำลายสุขภาพผู้ดื่มและยังก่อให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ในวันนี้ สสส.กับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลอยากจะมายืนยันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่เป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้ จากงานวิจัยพบว่าร้อยละ 23 ของเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีผู้ดื่มหนักมีโอกาสที่จะได้รับความรุนแรงมากกว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวทั่วไปถึง 3.3 เท่า นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการรณรงค์เพื่อให้เห็นผลกระทบอีกมิติหนึ่ง อยากให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดของผู้ที่ยังดื่มอยู่ให้ค่อย ๆ ลด ละ เลิก รวมถึงหันมาทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น งานบ้าน ซึ่งเป็นของทุกคน สามารถทำได้ทุกเพศ ทุกวัย ครอบครัวที่เริ่มหันมาทำงานบ้านก็จะเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดเป็นตัวเชื่อความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
พอพูดถึงงานบ้านหลายคนอาจส่ายหัว เพราะภาระงานนอกบ้านก็หนักอยู่แล้ว แถมการทำงานบ้านแต่ละครั้งต้องเสียทั้งแรง ทั้งเวลา แค่จะนอนให้ครบ 8 ชั่วโมงต่อวันยังแทบจะไม่มี เรามักจะเห็นภาพจำผู้หญิงในสมัยก่อน ที่เป็นแม่บ้านทำงานบ้านทั้งหมดทุกอย่าง และไม่ค่อยได้ออกไปไหน ส่วนผู้ชายก็รับหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่ปัจจุบันนี้คุณสามีกับคุณภรรยาต่างก็ออกไปทำงานนอกบ้านด้วยกันทั้งคู่ จึงทำให้เกิดคำถามว่างานบ้านยังคงเป็นหน้าที่สำหรับผู้หญิงอยู่อีกหรือไม่ ผู้ชายที่ทำงานบ้านเท่ากับเสียศักดิ์ศรี แต่ในทางกลับกัน ยังมีผู้ชายส่วนหนึ่งที่ช่วยภรรยาทำงานบ้านอย่างเต็มที่และไม่สนใจต่อสิ่งรอบข้าง
นายรัชเวทย์ คำเสมอคชสีห์ ประธานชุมชนซอยสินทรัพย์ เขตดุสิต เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนตนเองคิดว่างานบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิงก็ถูกต้องอยู่แล้ว ประกอบกับตนเป็นคนที่ชอบดื่ม และมีเพื่อนเยอะ จึงอยากให้ภรรยาปรนนิบัติพัดวี บ่อยครั้งที่เวลาเมาก็มักจะใช้ความรุนแรงกับภรรยา และครอบครัว จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนตัวเอง เกิดจากการที่ครอบครัวประสบปัญหาเศรษฐกิจ และได้เริ่มงดเหล้าเข้าพรรษา จนทำให้มีสติมากขึ้น และเมื่อพบว่าภรรยาต้องทำทั้งงานนอกบ้านและงานในบ้านอย่างหนักแล้ว ตนจึงเริ่มหันมาช่วยงานบ้านภรรยาในสิ่งที่เป็นเรื่องง่าย ๆ สำหรับผู้ชาย เช่น การกวาดบ้าน ถูบ้าน กรอกน้ำ เป็นต้น
ความรู้สึกหลังจากที่ได้เข้าไปช่วยภรรยาทำงานบ้าน แรกๆก็ยังรู้สึกเก้ ๆ กัง ๆ แต่พอทำไปสักพักก็เกิดความเคยชิน และรู้สึกว่ามีความสุข เหมือนเราได้ออกกำลังกายไปในตัว ภรรยาและลูก ๆ เมื่อเห็นเราเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เขาก็มีความสุข และเราก็ไม่คิดจะกลับไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกเลย ผมก็อยากเชิญชวนให้ผู้ชายทุกคนมาเริ่มคิดใหม่ เพราะคนเราเท่าเทียมกันหมดแล้วทั้ง ผู้หญิงผู้ชาย อยากให้ทุกคนมาร่วมกันช่วยงานบ้านทุกเพศทุกวัยก็สามารถที่จะทำได้ นายรัชเวทย์ กล่าว
ข้อดีของการช่วยกันทำงานบ้าน
1.การช่วยกันทำงานบ้านเลี้ยงลูกเป็นการลดช่องว่างและเสริมสร้างสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว จะทำให้ทั้งคู่รับรู้เข้าใจถึงความเหนื่อยยากของอีกฝ่าย เป็นการบางเบาภาระซึ่งกันและกัน ทำให้มีโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น ลดช่องว่างระหว่างกันและเสริมสร้างสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัว
2.ผู้ชายช่วยทำงานบ้านเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ในอดีตงานบ้านถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของภรรยา การแล่งภาระหน้าที่ตามเพศสภาพนำมาซึ่งความไม่เป็นธรรม การช่วยงานบ้านจึงเป็นการทลายความคิดความเชื่อในอดีตลง และนำไปสู่ความเท่าทียมระหว่างเพศอย่างเป็นรูปธรรม
3.ปลูกฝังให้เด็กช่วยทำงานบ้านตั้งแต่อายุยังน้อย โดยไม่แบ่งว่าเป็นงานของเพศใด การฝึกให้เด็กผู้ชายช่วยทำงานบ้านจะทำให้เขารู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความรับผิดชอบ เมื่อโตขึ้นเด็กผู้ชายที่ได้รับการปลูกฝังให้ช่วยงานบ้านจะลดโอกาสในการใช้ความรุนแรงใรครอบครัว
4.เริ่มต้นทำงานบ้านจากสิ่งที่พอทำได้ในขณะที่ผู้หญิงควรให้กำลังใจแทนคำตำหนิ การตำหนิจะทำให้อีกฝ่ายหมดกำลังใจ ควรเปลี่ยนเป็นการชื่นชม ให้กำลังใจ หากมีส่วนที่ยังไม่เรียบร้อยใช้โอกาสในการพูดคุย ปรับเข้าหากัน ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีอีกทางหนึ่งด้วย
ทางด้าน นายไบรรอน บิชอฟ สามีนักแสดงสาว ซินดี้ บิชอฟ ก็ได้เล่าให้เราฟังว่า ความรู้สึกที่ได้ยินว่างานบ้านเป็นงานของผู้หญิงนั้น ตนรู้สึกตกใจและแปลกใจว่างานบ้านผู้ชายไม่ควรทำเหรอหรือมีการถือเคล็ดอะไรด้วย ซึ่งก็อยากเปลี่ยนความคิดตัวเอง อยากท้าทายตัวเองมีอะไรที่เราทำไม่ได้เราก็ต้องลองทำซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลดี
งานบ้านที่ผมคิดว่าง่ายสำหรับผม คือ เก็บกวาดบ้าน ทำความสะอาดในบ้าน เก็บผ้า จริง ๆ แล้วงานบ้านไม่ได้เกี่ยวกับความแรงของผู้ชาย มันเป็นเทคนิคความสามารถมากกว่า ถ้าไม่เคยทำก็ไม่มีอะไรง่ายจึงต้องลองดู ถ้ามีลูก ๆ อยู่ข้างเรา แล้วเราสั่งให้เขาทำอะไร และถ้าลูกไม่เห็นเราทำ เราก็จะสั่งให้เขาทำไม่ได้ และจะต้องมีวันหนึ่งที่ลูกอยู่คนเดียวและถ้าไม่มีแม่บ้านอยู่เขาก็ต้องดูแลตัวเอง เราก็ไม่อยากเลี้ยงลูกแบบลูกที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เราจึงต้องเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้
ไบรอน ยังฝากทิ้งทายไว้อีกว่า งานบ้าน ไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องอาย หรือรู้สึกแปลก เพราะหลาย ๆ คนที่ อยู่คนเดียวไม่มีภรรยา ไม่มีแม่บ้านสุดท้ายเราก็ต้องทำเอง ดังนั้นจึงอย่าไปคิดอย่าไปถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้หญิงจะทำคนเดียวเพราะเมื่อเราทำได้ ท้าทายตัวเองภรรยาของคุณจะรู้สึกดีมาก
เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรี ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี สำหรับครอบครัวที่มีปัญหาความรุนแรง อยากให้หันมาเริ่มต้นในการลดปัญหาความรุนแรงจากสิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัว เช่น การช่วยกันทำงานบ้าน นอกจากจะลดช่องว่างในครอบครัวแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในครอบครัวและลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้อีกด้วย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิชายหญิงก้าวไกล ร่วมกันสนับสนุนให้ "งานบ้านเป็นหน้าที่ของทุกคน ทำได้ทุกเพศ" เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี หวังลดช่องว่างสร้างความเข้าใจที่ดีในครอบครัวและชีวิตคู่