งานบุญประเพณีปลอดเหล้า

สานดวงใจสร้างสุขในชุมชนทั้ง 12 เดือน

 

          มีงานทั้งที ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานมงคล งานอัปมงคล งานไหนงานนั้น ถ้าไม่มีน้ำประสานความสัมพันธ์ทั้งสีในหรือสีชา ก็ดูเหมือนว่าจะขาดอะไรไป

 

          ค่านิยมดังกล่าวได้เป็นเรื่องหยั่งรากฝังลึกในจิตใจคนไทยไปแล้ว โดยที่ผ่านมาชาวพุทธส่วนใหญ่ทราบดีว่าการดื่มน้ำมาผิดศีล 5 ที่เป็นศีลระดับพื้นฐานของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ยังไม่ต้องนับรวมไปถึงงานบุญอื่นๆ เพราะแค่ศีล 5 ยังไม่สามารถยึดมั่นได้ การทำบุญใดๆ ที่มีน้ำเมาเข้าไปด้วย งานนี้ไม่มีอะไร เรียกว่า บาปอย่างเต็มๆ

 

          งานนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนทัศนคติที่คนส่วนใหญ่คิดเช่นนี้กันได้ และก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำการรณรงค์แต่เพียงด้านเดียวและจะสามารถเปลี่ยนค่านิยมเช่นนี้ได้

 

          “งานบุญเป็นเรื่องของศาสนาและจิตใจ เป็นกิจกรรมทางสังคม ซึ่งในอดีตจะเห็นมีเรื่องที่น้ำเมาเข้าไปเกี่ยวข้องน้อยมาก แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ของคนในสังคมก็ผันแปรไปด้วย ทำให้ต้องอาศัยน้ำเปลี่ยนนิสัยมาเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ เรื่องดังกล่าวจึงทำให้การดื่มน้ำเมาในงานบุญเป็นเรื่องธรรมดา” ในฐานะผู้ทำงานด้านรณรงค์ต่อต้านแอลกอฮอล์อย่าง คุณธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทรกซึมเข้ามาอยู่ในวงจรงานบุญได้

 

          ดังนั้นงานที่เขาต้องทำคือ สร้างความเข้าใจให้การดื่มเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เป็นเรื่องไม่ธรรมดา

 

          เขาบอกถึงสิ่งแรกที่ดำเนินการเป็นการเชิญชวนให้ผู้เกี่ยวข้องได้ตระหนักรู้ว่า การจัดงานบุญในชุมชนตลอด 12 เดือนนั้นมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายอย่างไรกันแน่ เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการทำบุญหรือต้องการให้มันกลายเป็นการรวมตัวกันทำบาปกัน กลับไปหาคุณค่าที่แท้จริงของการจัดงานบุญต่างๆ

 

          “ขณะนี้กลายเป็นว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งสำคํญในการจัดงานต่างๆ ไปแล้ว ถ้าไม่มีกลายเป็นเรื่องที่เจ้าภาพต้องเสียหน้า ใครจัดงานบุญไม่มีน้ำเมากลายเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว เจ้าภาพที่เลี้ยงเหล้าขาวและเหล้าสีก็ถูกมองต่างกันทั้งที่ความเชื่อผิดๆ เหล่านี้ยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น” เมื่อเป็นเช่นนี้วิธีการรณรงค์ที่เขาได้ทำผ่านมาคือ การเปิดเวทีให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนกระตุ้นเตือนถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานบุญต่างๆ ว่าเพื่ออะไร เอาประเพณีดั้งเดิมที่ดีมารื้อฟื้นให้คืนกลับมา

 

          ตัวอย่างที่เขายกให้เห็นภาพชัดขึ้น เช่น งานศพซึ่งเป็นงานที่ไม่มีใครคาดคิดไว้ล่วงหน้า และวัตถุประสงค์ของการจัดงานก็เป็นเรื่องงานไว้อาลัยกับผู้เสียชีวิต ระลึกถึงคุณงามความดีต่างๆ พร้อมกับปลอบใจกับญาติมิตรผู้ตาย การนำน้ำเมามาดื่มกันนั้น ก็ไม่ได้เป็นการปลอบใจหรือระลึกคุณงามความดีผู้ตายแต่อย่างไร กลับเป็นการล้างผลาญ

 

          จุดนี้เองที่เครือข่ายองค์กรงดเหล้าและภาคีต่างๆ พยายามชี้จุดนี้ให้สาธารณชนทราบ

 

          หลังจากที่คนในชุมชนต่างเห็นสาระสำคัญของงานบุญต่างๆ ว่าไม่ได้เกิดจากน้ำเมา แล้ว ชุมชนก็จะมีข้อตกลงกันเองขึ้นมาเพื่อเป็นบทลงโทษทางสังคมที่เด็ดขาด แม้จะไม่มีการลงโทษจริงๆ แต่สิ่งที่ชุมชนลงทัณฑ์นั้นเป็นเรื่องที่ดีกว่ากฎหมายของบ้านเมือง

 

          “นอกจากนี้เปลี่ยนค่านิยมจากภายในชุมชนแล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการปลุกเร้าด้วยสื่อสาธารณะ อย่างโฆษณาของพระพยอม เรื่องงานบุญดื่มเหล้า เป็นเรื่องบาป ก็ทำให้เกิดการจดจำและมาตรการในชุมชนก็จะเกิดได้ง่ายขึ้น”

 

          คุณธีระเปิดเผยว่า ขณะนี้จำนวนของชุมชนที่มีข้อตกลงกันในเรื่องงานบุญไม่ข้องเกี่ยวกับน้ำเมาเริ่มขยายตัวมากขึ้น อาทิ จ.ลำปางทั้งจังหวัดมีความตื่นตัวทั้งจังหวัดโดยมีนโยบายระดับจังหวัดว่า งานศพต้องปลอดและปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด รวมถึง จ.ราชบุรี และ จ.ร้อยเอ็ดก็มีนโยบายว่า กฐินปลอดเหล้า หรือแม้แต่ จ.น่านก็มีนโยบายที่เน้นอย่างจริงจังว่า งานบุญ งานแข่งเรือปลอดน้ำเมาเช่นกัน

 

          แม้ว่าจุดก่อเกิดสิ่งดีๆ ในงานบุญให้เป็นงานบุญจริงๆ กำลังเพาะขยายพื้นที่ให้มากขึ้น พร้อมๆ กับเรื่องการกระจายความคิดคุณค่าของกิจกรรมในประเพณีที่งดงามของไทย ผสมผสานกับการรณรงค์กันไปพร้อมกับการสื่อสารสาธารณะก็ต้องเดินหน้าต่อไปอย่างมิหยุดหย่อน ท่ามกลางกระแสการต่อสู้ทางธุรกิจของบริษัทน้ำเมาที่พยายามขายสินค้าบาปยื่นให้ประชาชน

 

          สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-2298-0500 ต่อ 1222

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update:12-01-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ