งานนี้พี่ ‘ให้’ โดยเฉพาะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส.
หากคุณเป็นคนปกติทั่วไปอยากจะลุกมาทำงานจิตอาสาช่วยเหลือใคร ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะที่ด้อยทั้งโอกาสและสิทธิ์ในสังคม หากจะลุกขึ้นมาทำดีหรือเป็นผู้ใช้บ้าง คงเป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งและลำบากอยู่สักหน่อย
แม้ว่าความจริง คนพิการและคนกลุ่มเฉพาะที่ด้อยโอกาสในสังคมนั้นใช่ว่าจะอ่อนแอ และอยากพึ่งพิงคนอื่นเสมอไป แต่เพราะค่านิยมในสังคมไทยยังมองและจัดที่ทาง "ประชากรกลุ่มเฉพาะ" ให้มีบทบาทบาทเป็นเพียงผู้รับเท่านั้น
ความจริงแล้ว ในโลกการให้นั้นควรเป็นเรื่องที่ "ใคร ๆ ก็ทำได้" …มิใช่หรือ?
คำว่าให้ ไม่มี "แบ่ง"
เพราะ "การให้" ไม่เคยมีเส้นแบ่งทำให้สองแรงที่มีจิตอาสา อย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด จึงเกิดแนวคิดใหม่ โดยการจับมือกันสร้างกิจกรรมโครงการ "เปิดใจ…ให้โดยเฉพาะ" ขึ้น โดยหัวใจหลักของโครงการนี้จะเป็นกิจกรรมส่งต่อการให้ของประชากรกลุ่มเฉพาะอย่างเป็นรูปธรรม
"โครงการนี้เกิดขึ้น เพราะ สสส.เชื่อในพลังศักยภาพของคนที่คนอื่นมองว่าเขาคือคนด้อยโอกาสหรือผู้พิการในสังคมแต่เขาเองก็มีความพร้อมที่จะลุกขึ้นมา "ให้" คนอื่นด้วย" ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าว
พร้อมเอ่ยต่อว่า แนวทางของ "เปิดใจ…ให้โดยเฉพาะ" นั้น มีหมุดหมายหลักคือการสร้าง "วงจรแห่งการให้" ที่ส่งต่อมากกว่าสิ่งของ แต่เป็นการส่งต่อความรู้สึก น้ำใจ ความภาคภูมิใจของผู้ให้และความสุขใจของผู้รับที่ไม่ถูกจำกัดด้วยสถานะบุคคลใด ๆ ในรูปแบบจิตอาสา ที่สำคัญ กิจกรรมนี้ยังอาจเป็นครั้งแรกของการส่งเสริมความรู้สึกมีคุณค่าและความภาคภูมิใจในตนเองให้กับคนชายขอบของสังคม ให้ลุกมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง
"เราเห็นว่าเขาไม่ควรเป็นผู้รับเพียงฝ่ายเดียว" ภรณีเอ่ย "สสส. อยากให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความภูมิใจว่าตนเองสามารถทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นต่อได้ ซึ่งเราพยายามสร้างมุมมองใหม่ ๆ ให้สังคมเห็นคุณค่าและเสริมสร้างศักยภาพของคนกลุ่มนี้"
นอกจากนี้โครงการยังได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการจัดกิจกรรมสำหรับคนทั่วไปที่ต้องการเป็นจิตอาสาให้สำหรับคนกลุ่มนี้ เช่น การสนับสนุนกิจกรรมจิตอาสาสำหรับผู้สูงอายุในกทม. ดูแลเยี่ยมเยือน รับฟังให้คำปรึกษา หรือการทำกิจกรรมศิลปะสองวัย ซึ่งหลายกิจกรรมเดินหน้าไปได้ไวและเห็นผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง
ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้จัดตั้งบริษัท กล่องดินสอ จำกัด ผู้จัดทำโครงการให้…โดยเฉพาะ กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้รับได้เป็นผู้ให้ผ่าน 7 กิจกรรม อาทิ อ่านหนังสือเสียงของผู้ต้องขัเพื่อส่งมอบให้คนพิการทางสายตา มีผู้ต้องขังและ นักเรียน นิทานหุ่นมือ จัดแสดงละครหุ่นมือ กิจกรรมเรียนรู้การดูแลสิ่งแวดล้อม การแยกขยะ กิจกรรม ศิลปะ สองวัย และผู้สูงอายุฝึกอาชีพให้กับ คนไร้ที่พึ่ง ซึ่งหากรวมผู้เข้าร่วมจากทุกกิจกรรมนั้นมีจำนวน 590 คน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม คนไร้ที่พึ่งทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ให้กับหน่วยงานชุมชนด้วย
"ตอนเริ่มก็อยากเหมือนกัน เพราะแต่ละกลุ่มมีข้อจำกัดตัวเองเยอะ ที่สำคัญคือ "ความกลัว" เขาต้องระมัดระวังภาพจะออกมาไม่ดีอย่างไร ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ"
ฉัตรชัย เล่าต่อว่า โครงการนี้ถูกริเริ่มเมื่อมิถุนายนปีที่แล้ว ซึ่งหลังจากกล่องดินสอ ทำงานด้านจิตอาสามาระยะหนึ่งทำให้เขาพบว่าไม่เคยมีงานจิตอาสาที่เปิดโอกาสให้คนพิการหรือผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้มีโอกาสลุกขึ้นมาเป็นผู้ให้บ้าง ฉัตรชัย เผยถึงเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นว่าส่วนหนึ่งเพราะคนทั่วไปเกรงว่าเขาไม่รู้จะดูแลคนกลุ่มนี้ยังไง หรือไม่อยากเป็นภาระ
"เราเลยไปคุยกับ สสส. ว่าประชากรกลุ่มเฉพาะ เหล่านี้เขาไม่มีพื้นที่ทำจิตอาสานะทั้งที่เรามองว่าเขาทำได้ เราจึงอยากเริ่มจากการออกแบบกิจกรรมเอง เพื่อนำร่องให้เห็นว่าจริง ๆ มันทำได้"
คิดจะให้ ไม่ต้องรอ
การทำงานจิตอาสาหรือเป็นผู้ให้คนบางคนอาจมองว่าตัวเองต้องเต็มก่อนแล้วล้นเหลือถึงแบ่งปันผู้อื่น แต่ฉัตรชัยยืนยันว่าการให้ทำได้ตลอดและได้ทุกคน
"แต่การจะให้คนกลุ่มเฉพาะเริ่มอาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา สิ่งที่ประทับใจคือพอเราเปิดโอกาส ทุกคนตื่นเต้น ยินดีที่จะทำ โดยเฉพาะคนที่แอคทีฟสุด คือผู้ต้องขังในเรือนจำ เพราะอะไร เมื่อก่อนเรื่องการให้มันดูไกลตัวสำหรับเขา จะให้อย่างไรในเมื่ออยู่ในเรือนจำ พอเราคิดกิจกรรมอ่านหนังสือเสียงในเรือนจำปทุมธานีแนละทัณฑสถานหญิงธนบุรีขึ้น ก็ได้รับการตอบรับดีมาก ตอนนี้เรามีหนังสือเสียงที่เกิดจากโครงการนี้ 170 เล่มแล้ว"
ด้าน ภรณี เสริมว่า ดูตัวเลขผู้เข้าร่วม 590 คน มองเชิงปริมาณอาจดูน้อย แต่ในเชิงลึกแล้ว ยังมีคุณค่าและมีส่วนหนึ่งที่เข้าไปเปลี่ยนวิธีคิดของคนที่เคยแต่ต้องรับให้กลายเป็นพลังเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
"บางคนอาจหมดหวังไปแล้วกับตัวเอง เรามองว่าเป็นส่วนหนึ่งคือเติมเต็มการให้กำลังใจ จะเห็นว่ากิจกรรมมีหลากหลายมาก นั่นเพราะเราต้องการบอกว่า ทุกคนสามารถเป็นผู้ให้ได้หมด ไม่ว่าคุณจะขาดอะไรไป เช่น ถึงคุณจะอยู่เรือนจำคุณก็ส่งเสียงออกมาได้ไง หรือคุณตาบอดคุณก็นวดได้ไง เป็นสิ่งที่เราให้คนอื่นได้ โดยไม่หวังผลตอบแทน"
มนต์รักข้ามรั้ว
ในยุคขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องปกติเสียแล้วที่เรื่องปากท้องต้องสำคัญกว่าความรู้สึกทางใจ ทุกคนในสังคมจึงเลือกมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันน้อยลง และต่างคนต่างอยู่กันมากขึ้น แต่โครงการนี้กำลังทำให้บ้านสองบ้านที่แม้จะอยู่ห่างแค่ขอบรั้วกันแต่กลับแทบไม่เคยพูดคุยหันมาทำอะไรดี ๆ ต่อกันได้
อานิสงค์จากโครงการจิตอาสาเล็ก ๆ "เปิดใจ…ให้โดยเฉพาะ" ทำให้ "น้ำหนึ่ง" หรือ หนึ่งฤทัย วัย 16 ปี พร้อมกับเพื่อน ๆ ในสถานแรกรับเด็กหญิงบ้านธัญญาพรได้มีโอกาสเป็นจิตอาสาที่เข้าไปร่วมกิจกรรมสันทนาการการมอบความสุขแก่คุณตายายในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จ.ปทุมธานี
"ไปทำกิจกรรมแรกคือปั้นพระ ไปตอนแรกไม่รู้จักกันเลย เขาให้จับคู่บัดดี้กับคุณตาคุณยาย ตอนแรกหนูกลัว ๆ แต่กลายเป็นว่าทุกคนขี้เล่น อารมณ์ดีกันมาก รู้สึกดีที่ได้มีโอกาสดูแล คุณตาคุณยายก็อารมณ์ดี ทุกคนชอบร้องเพลงให้เราฟัง มันก็หายคิดถึงคนทางบ้านไปได้บ้าง แล้วเรารู้สึกดีว่าคุณตาเองก็ได้ผ่อนคลาย"
เสียงหัวเราะของลูกหลานวัยใสเปรียบเสมือนหัวใจถูกเติมเต็มและต่างเยียวจิตใจกันและกัน ศิลปะและเรื่องเล่าจากผู้ใหญ่ช่วยหล่อหลอมให้เยาวชนมีความอ่อนโยนมากขึ้น ขณะที่คนสูงวัยก็ได้กลับมาแช่มชื่นอีกครั้ง
คุณยายอ้วน เจียมจิตต์ เขยชื่นจิตร เจ้าของนิคเนม "คิมเบอรี่" แห่งศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคม ผู้สูงอายุ จ.ปทุมธานี เล่าถึงวันที่ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมระบายสีกับหลาน ๆ ข้างบ้าน ว่า "ยายจำได้ ได้จับคู่กับน้องมายด์ เขาก็มาเล่นกับเรา มานั่งวาดสีบนตัวยายเลอะเทอะกันไปหมด (หัวเราะ) แต่เขาอยากวาดแบบไหนก็ก็ปล่อยเขา มันเพลินดี" เจ้าของสมญาคิมเบอรี่วัย 81 ระบายยิ้ม บอกเล่า
"ถามว่าถ้ามีอีกอยากทำอีกนะ อยากเล่นกับเด็ก ๆ พออยู่ใกล้มันชื่นใจ เพราะเขาน่ารักกัน"
ให้แต่ได้ไม่เฉพาะ
แม้กิจกรรมนี้มีเพียงไม่กี่ครั้ง แต่ก็ได้กลายเป็นสายใยบาง ๆ ที่เริ่มถักทอความผูกพันระหว่างคน 2 บ้านและวัย 2 วัย ที่ต่างเติมเต็มกันและกัน
"เดี๋ยวนี้คุณตาคุณยายเขามีรอคอยนะ พอรู่ว่าเด็ก ๆ จะมา" ศศิกัญญา พระบาลี พี่เลี้ยงปฏิบัติงานกิจกรรม ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคม ผู้สูงอายุ จ.ปทุมธานี บอกเล่าถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้สูงวัยในบ้านว่า "จะมีชีวิตชีวา สดชื่นขึ้นทันที"
"คุณตาคุณยายจะมองเด็กพวกนี้ว่า ไม่ใช่แค่คนมาเยี่ยม ส่วนเด็ก ๆ เขาจะน่ารักเพราะเขาเองก็อยากมีญาติผู้ใหญ่"
เธอบอกผู้สูงอายุที่บ้านนี้มีหลากหลายทั้งโรคซึมเศร้าและมีสภาพปัญหาทางใจ และแม้ว่าที่จริงในศูนย์ฯ เองก็มีกิจกรรมฟื้นฟูกายและใจผู้สูงอายุอยู่เป็นประจำอยู่แล้วแต่บรรยากาศมักจะดีขึ้นมากเมื่อมีวัยใสมาร่วมกิจกรรม
"ง่าย ๆ เลย พอเด็ก ๆ ให้คุณยายตบมือกับเจ้าหน้าที่ให้คุณยายตบมือนี่ต่างกันนะ กับเด็กเขาสนุกเขายอมทำ แต่กับเราเขามองว่าเป็นกฎ คือมันน่าเบื่อไง กิจกรรมเดิม ๆ คนหน้าเดิม เรายอมรับทุกครั้งที่เราเดินไปบอกว่าพรุ่งนี้จะมีเด็ก ๆ เข้ามา เขาจะตื่นเต้นกัน พอรู้แล้วก็ตั้งตารอ มีการเตรียมตัว เช่น ใส่เสื้อตัวนี้ไม่ได้นะ เดี๋ยวหลานมา บางคนมีแอบเก็บขนม ของเล่น ไว้ให้หลาน ๆ"
เธอบอกว่า แม้กิจกรรมนี้จะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ก็ช่วยลดความอ้างว้างในใจของผู้สูงวัยไร้ที่พึ่งเหล่านี้ได้
"เราไม่รู้หรอกว่ามันดีไหม แต่เราสังเกตได้ว่าเขาเปิดตัวเอง เขารู้สึกว่าเขากล้าที่จะพูดคุยหรือทำกิจกรรมเข้าไปร่วมแสดงออกมากขึ้น พอเขาเปิดมากขึ้น เขาจะคิดบวกมากขึ้น ที่สำคัญคนอื่นอาจมองว่ากิจกรรมนี้ทำเพื่อผู้สูงอายุ แต่จริง ๆ มันไม่ใช่แค่ตายายที่ได้หรือเฉพาะน้อง ๆ ถ้ามองในส่วนที่เราเป็นเจ้าหน้าที่ พอมีกลุ่มคนที่มีความคิดคล้าย ๆ กันเข้ามา เจ้าหน้าที่ได้ทั้งความรู้ใหม่ ๆ ที่เราจะไปสานต่อ และเราได้ผ่อนคลายด้วย…จะบอกว่างานนี้ถึงทำเพื่อกลุ่มเฉพาะ แต่หนูว่าไม่เฉพาะนะคะ" ศศิกัญญา ทิ้งท้าย