งดเหล้า ห่างโควิด ชีวิตจะปลอดภัย
เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก งานแถลงข่าว กิจกรรมรณรงค์วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2564
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th สสส. และแฟ้มภาพ
หากพูดถึงเทศกาลเข้าพรรษา คุณนึกถึงอะไร วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา การถวายเทียนจำนำพรรษา การทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝน ขบวนแห่เทียนพรรษา ขบวนฟ้อนรำที่สวยงามตระการตา หรืออาจจะเป็นการตั้งใจงดเว้นจากอบายมุขต่าง ๆ ที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยกันดี ในชื่อของ “งดเหล้าเข้าพรรษา”
นพ. ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานแถลงข่าว กิจกรรมรณรงค์วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2564 ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 กำหนดให้วันเข้าพรรษาของทุกปี เป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชน ตระหนักถึงโทษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลด ละ เลิก ดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษา โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งประเทศไทย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม “เชิญ ชวน เชียร์ ลด ละ เลิกเหล้า”
โดยตั้งเป้าหมายให้ อสม. ชวนคนในครอบครัวและคนรอบข้างอย่างน้อย 3 คน ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 3 เดือนเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ ชวนผู้ต้องการเลิกเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลทุกระดับ และเชียร์ ติดตามให้กำลังใจผู้ที่เข้าสู่ระบบบำบัดรักษา หลังกลับสู่ชุมชน เพื่อการตัดสินใจเลิกดื่มถาวร โดยประชาชนสามารถลงชื่อออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ Stopdrink.com เว็บไซต์ อสม.com และ Application Smart อสม.
“ขอเชิญชวนคนไทย ลด ละ เลิกการดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษานี้ เพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง โดยใช้วิธีการ “1 ลด 3 เพิ่ม” คือ ลดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเงินในกระเป๋า เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย และเพิ่มความสุขในครอบครัว รวมทั้งขอให้เข้มมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด ไม่จับกลุ่มตั้งวงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อย ๆ ลดการแพร่ระบาดโควิด-19” นพ. ม.ล.สมชาย กล่าว
องค์การอนามัยโลกได้กำหนดกรอบนโยบาย เพื่อสร้างสังคมปลอดภัยจากปัญหา หรือผลกระทบจากการบริโภคแอลกอฮอล์ (SAFER) ซึ่งเป็นมาตรการหลักในการควบคุมแอลกอฮอล์ ประกอบด้วย 5 มาตรการ คือ
1. สร้างความเข้มแข็งในการควบคุมและจำกัดการการเข้าถึงทางกายภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2. ยกระดับการบังคับใช้มาตรการควบคุมพฤติกรรมขับขี่ยานพาหนะหลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. จัดให้มีการเข้าถึงระบบบริการคัดกรองบำบัดแบบสั้น และบำบัดรักษาผู้มีปัญหาเกี่ยวกับการดื่มสุรา
4. บังคับใช้กฎหมายห้ามหรือจำกัด โดยครอบคลุมการโฆษณา การให้ทุนอุปถัมภ์ และการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5. ขึ้นราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านระบบภาษีสรรพสามิต และมาตรการทางด้านราคาอื่น ๆ เพื่อให้การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นไปอย่างมีเอกภาพ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วันงดดื่มสุราแห่งชาติปีนี้ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การตั้งวงดื่มเหล้ามีส่วนทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ได้ สสส. อยากใช้โอกาสนี้เชิญชวนให้ทุกคน ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อตัดวงจรระบาดควบคู่กับการมีสุขภาพที่ดี โดยตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่ายงดเหล้ายืนยันเจตนารมณ์เดิม คือ ผลักดัน พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น รวมถึงเดินหน้าโครงการต่าง ๆ เช่น “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ห่วงใยใครไม่ให้เหล้า”
“เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ สสส. เชิญชวนให้ทุกคนใช้โอกาสนี้เป็นก้าวแรกของการลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อดูแลภูมิคุ้มกันร่างกายให้ดี และลดโอกาสติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงเป็นการช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากทำให้เสี่ยงติดเชื้อรุนแรง และทำให้ปอดมีโอกาสติดเชื้อ 2.9 เท่า ยังมีส่วนยับยั้งการเกิดระบบภูมิคุ้มกัน ขัดขวางการตอบสนองของวัคซีนโควิด-19 อีกด้วย” ดร.สุปรีดากล่าว
ในส่วนของตัวแทนคนรุ่นใหม่ด้านการสื่อสารมวลชนที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ของโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปีนี้ อย่างนางสาวกัญดา ศรีธรรมูปถัมภ์ หรือคูลเจแนน นักจัดรายการประจำคลื่นวิทยุ COOLfahrenheit 93 เล่าว่า โดยส่วนตัว ตนเองเป็นคนไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว เนื่องจากมีประสบการณ์การสูญเสียคุณพ่อจากโรคพิษสุราเรื้อรัง ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น จึงรู้สึกว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั้นไม่มีข้อดีใด ๆ เลย ทำให้เกิดความเสียหายทั้งกับสุขภาพ หน้าที่การงาน รวมทั้งทรัพย์สิน ดังนั้น เธอจึงมักจะใช้เรื่องราวของตนเอง เพื่อตักเตือนบุคคลรอบข้าง ให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีข่าวสารออกมาทุกวันว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือติดสุราเรื้อรังนั้น จะมีภูมิต้านทานต่ำ หากได้รับเชื้อโควิด-19 จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะอาการหนักหรือเสียชีวิตได้ เธอจึงอยากใช้ความรู้สึกจากประสบการณ์ตรงของเธอช่วยสื่อสารว่า เหล้าไม่มีข้อดี เหล้าทำลายชีวิต เหล้าทำลายครอบครัว เหล้าทำลายประเทศชาติ เลิกได้ เลิกเลย ใช้โอกาสเข้าพรรษานี้เป็นแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นอีกครั้ง”
“สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ” ศีล ข้อ 5 ที่คนไทยหลายคนคงเคยได้ยินและคุ้นหูอยู่บ้าง และบางส่วนก็ทราบความหมายดีว่า หมายถึง การงดเว้นจากการดื่มสุรา หรือของมึนเมา ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ขาดสติ สัมปชัญญะ สร้างความเสียหายมากมายให้กับชีวิต ทั้งต่อตนเอง สังคม และคนรอบข้าง
สสส. ในฐานะองค์กรที่ทำงานรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษามาอย่างต่อเนื่องและยาวนานเกือบ 18 ปี ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสาร ย้ำเตือนเรื่องนี้ต่อไป แม้ว่าจะเปลี่ยนใจผู้ที่ดื่มสุราได้ผลมากบ้าง น้อยบ้าง แต่เพียงแค่มีใครสักคนที่ตั้งใจจะงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา และทำได้สำเร็จตลอดพรรษา หรืออาจขยายผลต่อเนื่องเป็นความตั้งใจที่จะเลิกเหล้าอย่างถาวร ตลอดชีวิต ก็นับเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญที่เราได้คืนพ่อแม่ที่ใจดีให้กับลูก ๆ คืนลูก ๆ ที่น่ารักให้กับพ่อแม่ คืนพลเมืองคุณภาพให้กับสังคมและประเทศชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่ตัดสินใจเริ่มต้นทุกคน
ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับการดื่มสุรา หรือต้องการเลิกสุราสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนเลิกเหล้า facebook fanpage: ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา Alcohol Help Center จะมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาการดูแลตัวเองในเบื้องต้น และให้คำปรึกษาในการส่งต่อไปยังสถานพยาบาล เพื่อการหยุดดื่มอย่างปลอดภัย