“ค่ายดอนมะจ่าง”นศ.-ชาวบ้านผนึกปัญญาเพิ่มตลาดผ้าทอมือ

“ค่ายดอนมะจ่าง”นศ.-ชาวบ้านผนึกปัญญาเพิ่มตลาดผ้าทอมือ 

 

            เมื่อคิดได้ว่า ห้องเรียนไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง ช่วงปิดเทอมเล็กตุลาคมที่เพิ่งผ่านไปจึงเร็วไวปานกามนิตหนุ่ม ถึงเช่นนั้น วันคืนที่หมดกับชีวิตนอกตำรา ก็หาได้ถูกทิ้งขวางอย่างไร้ประโยชน์ อย่างน้อยที่สุด แหวง-นิวัฒน์ อินแสงแวง นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ก็นิยามตุลาคมที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ นี้ว่า เวลาแห่งการเก็บเกี่ยว-บ่มเพาะประสบการณ์ครั้งใหม่

 

            ย้อนไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า ท่ามกลางบรรยากาศกิจกรรมการอบรมเยาวชนแบบธรรมเนียมนิยมทั่วไป พร้อมเบื้องหลังที่มาคือ ถูกครูบังคับให้เข้าร่วม กลางดึกคืนหนึ่ง แหวง เปิดบทสนทนากับเพื่อนรุ่นพี่ว่า ทำกิจกรรมไปแล้วจะได้อะไร เขาสรุปเอาว่า แม้คำตอบที่ได้จากรุ่นพี่กลุ่มนั้น จะไม่ได้ช่วยให้เข้าใจอะไรมากนัก แต่กับข้อสงสัยนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในหัว เฝ้าถามตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า จนไม่รอช้าจับปากกาเขียนโครงการ ส่งให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิโกมลคีมทอง พิจารณา เพื่อขอพาตัวเองมาแสวงหาที่ ค่ายอาสาศึกษาปัญหาสังคม

 

            หากเราอยากรู้ มันก็ต้องลอง วิธีการนี้ดีกว่านั่งอยู่เฉยๆ เพื่อรอฟังจากคนอื่นแน่นอน จะได้รู้สักทีว่า แท้จริงแล้ว การทำกิจกรรมเป็นอย่างไร การออกค่ายเพื่อค้นหาตัวเองและช่วยสังคมไปด้วย อย่างที่เขาพูดกันนั้นคืออะไร แหวง บอก

 

“ค่ายดอนมะจ่าง”นศ.-ชาวบ้านผนึกปัญญาเพิ่มตลาดผ้าทอมือ

 

            แม้จุดเริ่มต้นจะดูเป็นพล็อตเรื่องง่ายๆ ตามแบบฉบับ การค้นหาประสบการณ์แปลกใหม่ของเด็กวัยรุ่น แต่กับโปรเจคของ แหวงภายใต้ชื่อยาวๆ โครงการศึกษาเรียนรู้ชุมชนพอเพียงด้วยจิตอิสระ อาสา ชุมนุมเขียดน้อยงอยกะโป๊ะ ม.นครพนมซึ่งออกค่ายที่บ้านดอนมะจ่าง จ.นครพนม ก็ใช่ว่าจะราบเรียบอย่างที่คิด ด้วยโจทย์ที่ถูกตั้งไว้ในโครงการนี้ อยู่บนหลักการที่ว่า เราไม่ใช่ค่ายที่มุ่งแต่สร้างวัตถุ ดังนั้น กรรมวิธีการออกแบบกิจกรรมของชมรมเขียดฯ จึงเป็นการผนวกทั้ง ความอดทนและความคิด มากกว่าการใช้แรงงานหรือเงินเพียงอย่างเดียว

 

            หนึ่ง พวกเราลงไปศึกษาปัญหา ที่บ้านดอนมะจ่าง อ.ศรีสงคราม เพื่อให้รู้ว่า พวกเขามีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร อะไรคือความต้องการและปัญหาที่มีอยู่ สอง พวกเราและชาวบ้านมีความรู้ และภูมิปัญญาอะไรบ้าง ที่สามารถถ่าย-โอนกันได้ เพื่อขจัดปัญหาและสนองความต้องการนั้น สาม กระบวนการที่จะตอบสนองสิ่งเหล่านั้น จะเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำอย่างไรได้บ้างแหวง ขมวดวิธีการมองประเด็นทำค่าย

           

นามธรรมในชุมชนบ้านดอนมะจ่าง จึงเริ่มคลายตัว พร้อมก่อร่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจับหลักสำคัญได้ว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว ชุมชนนี้ยังคงมีลักษณะทางกายภาพ ด้านชีวิตความเป็นอยู่ที่อิงเกษตรกรรมเป็นพื้นฐาน ปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้ดำรงชีวิตตามขนบวิถีชีวิตชนบท ขณะเดียวกัน ตัวชุมชนเอง ก็มีความพยายามสร้างรายได้พิเศษ ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน นั่นคือ การทำผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ

 

            ผ้าที่ชาวบ้านทำ มีความงามในตัวเองอยู่แล้ว แต่เมื่อมองไปที่ขั้นตอนต่อจากนั้น กลับพบว่า ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะรองรับภูมิปัญญาเหล่านั้น ทั้งการหาตลาด เพื่อจำหน่ายสินค้า หรือกระทั่งการใส่ถุงบรรจุภัณฑ์ที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ เพราะเท่าที่เห็นในตอนแรก ผ้าย้อมสีธรรมชาติกลับถูกบรรจุลงในถุงหิ้วพลาสติก พวกเราที่ทำค่าย จึงมุ่งไปที่ประเด็นตรงนั้น และมองว่าตัวเองมีศักยภาพอย่างใดบ้างที่จะพัฒนาจุดตรงนั้นให้ดีขึ้นได้ตัวแทนชาวค่ายรายนี้เริ่มเฉลย

           

แหวง บอกว่า เขาและเพื่อนจึงหาข้อมูลต่างๆ หลากหลายที่มา จนพบจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่ง ที่ค้นพบในชุมชนดังกล่าวและละแวกข้างเคียง นั่นคือ ใยสับปะรด

 

            ใยสับปะรด และต้นกก คือ วัตถุดิบที่พบได้มากในชุมชนละแวกนี้ และพวกเรารู้ว่า มันสามารถนำมาทำเป็นวัสดุประเภทถุงหิ้วได้ เพราะใยสับปะรดมีความหนาและแข็งแรง พอจะใส่ผ้าที่ชาวบ้านผลิตได้ เรานำความรู้ทางวิศวกรรมของเรามาใช้ ผนวกกับความรู้พื้นฐานที่ได้จากการเรียนวิชางานฝีมือ (หัวเราะ) นี่จึงเป็นที่มา ของการทำถุงจากใยสับปะรด เพื่อใส่ผ้าย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งเข้าคอนเซ็ปได้ดีและช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า แหวง กล่าวอย่างอารมณ์ดี

 

            เช่นเดียวกับการตลาด ที่จะกระจายสินค้าไปสู่วงกว้างมากขึ้น เราติดต่อไปที่สถาบันการศึกษา ในกรณีที่มีการจัดงานเปิดร้าน เพื่อนำสินค้าซึ่งมีที่มาจากภูมิปัญญาบ้านดอนมะจ่างนี้ ออกสู่สายตาคนทั่วไป อย่างเช่น ในงานเทศกาลไหลเรือไฟของจังหวัดปีนี้ ผ้าย้อมสีธรรมชาติของบ้านดอนมะจ่างได้มีโอกาสไปออกร้านด้วย แหลง บอก

 

            อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญที่สุด แหวง มองว่า ไม่ได้อยู่ที่การได้มาซึ่งถุงธรรมชาติ เพื่อใส่ผลิตภัณฑ์ชุมชน แต่กระบวนการเรียนรู้ ลงมือทำอะไรจริงจังของพวกเขาเองต่างหาก ที่เป็นผลลัพธ์อันล้ำค่า

 

“ค่ายดอนมะจ่าง”นศ.-ชาวบ้านผนึกปัญญาเพิ่มตลาดผ้าทอมือ

 

            นี่คือการทำค่ายของตัวเองเป็นครั้งแรก มันคือความภูมิใจที่ช่วยเหลือผู้อื่น นี่ยังไม่พูดถึงบทเรียนที่ได้จากการสังเกต ได้มองดูการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายของชาวบ้าน ได้เห็นความสุขที่เกิดจากหัวใจ มิใช่เพียงความเจริญทางวัตถุอย่างเดียวแหวงกล่าวถึงตำราเรียนเล่มใหญ่ที่เพิ่งเปิดอ่านไปเมื่อไม่นาน

 

            นอกจากนี้ ใช่ว่า ผล ที่ได้จะเกิดเฉพาะกับตัวเยาวชนผู้ร่วมทำกิจกรรมค่ายเท่านั้น เพราะ แม่ทม นางทม สุพาทอง วัย 66 ปี หัวหน้ากลุ่มทอผ้าบ้านดอนมะจ่าง ซึ่งคลุกคลีกับเยาวชนตลอดช่วงกิจกรรม ได้มองว่า หากกระบวนการของกิจกรรมมุ่งไปที่การเรียนรู้ชุมชนในเชิงลึกจริงๆ ตัวชุมชนเองก็ได้ประโยชน์ อย่างน้อยๆ ในสายตาของเด็กๆ ก็ช่วยทำให้ผู้ใหญ่อย่างเธอ มีห้วงเวลาของการมองโลกที่แจ่มใส และคิดอะไรในมุมใหม่ๆ บ้าง

 

            อย่างเรื่องถุงนี่ แม่ก็ไม่เคยคิดมาก่อน พวกชาวบ้านผู้หญิงก็ทำผ้าไป ย้อมเอาจากสีธรรมชาติ จากต้นฝางบ้าง ต้นก่อบ้าง เป็นภูมิปัญญาที่สืบสานมานาน แต่เรื่องอื่นๆ ก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะเข้ากันหรือไม่ หรือจะทำให้ขายดีได้อย่างไร ดังนั้น นักเรียนที่มา ก็ช่วยสามารถทำให้เรามองในจุดที่ไม่เคยนึกถึง แม่ทม กล่าว

 

            เมื่อถามในฐานะชุมชน ถึงมุมมองต่อเยาวชน ที่พยายามเข้าไปหาประสบการณ์นอกตำรา แม่ทม บอกว่า จะคอยสังเกตพฤติกรรมตลอด ดูว่าเด็กมีความตั้งใจจริงหรือไม่ พยายามจะทำความเข้าใจจริงๆ หรือเพียงหากิจกรรมทำฆ่าเวลา

 

            เมื่อเข้ามาเรียนรู้ แม่อยากให้มองมากกว่าแค่ว่าชุมชนนี้ทำอะไร ประกอบอาชีพอะไร เพราะเรื่องเหล่านี้ คนทำสำมะโนครัวเขาถามไปหมดแล้ว แต่กับคนรุ่นใหม่ ต้องคิดไปให้ลึกถึงว่า พวกชาวบ้านอยู่กันอย่างไร ถึงอยู่มากันจนถึงขนาดนี้ วิถีชีวิตอย่างไร ที่ทำให้มีความสุขกันได้ โดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีมากมาย และพวกตัวเยาวชนเองจะเอาความรู้ที่ได้จากโรงเรียน มาช่วยชุมชนให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง แม่ทม สะท้อนประสบการณ์พร้อมตั้งโจทย์ข้อใหญ่ ท้าทายเยาวชนทำค่าย ที่จำต้องร่วมกันแสวงหาคำตอบ

 

            หากไม่อยากให้วันเวลาต้องผ่านไปแบบไร้ประโยชน์…

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

 

update : 12-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย :  ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code