คู่มือบำรุงรักษา-อุปกรณ์บำรุงรักษาจักรยาน ครั้งที่ 4
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์บ้านเมือง
เครือข่ายจักรยานสร้างสุขประเทศไทย จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านวิทยาการและทักษะจักรยานสร้างสุขที่จังหวัดสุพรรณบุรี
ที่ห้องประชุมเสาธงทองดาราปุรุวังยางรีสอร์ท ตำบลวังยาง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประธานในพิธีเปิดการการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านวิทยาการและทักษะจักรยานสร้างสุขเรื่อง ”การจัดทำคู่มือบำรุงรักษาจักรยานและอุปกรณ์บำรุงรักษาจักรยาน ครั้งที่ 4” สนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในที่ 29 มิ.ย. 62 พร้อมกล่าวแสดงความชื่นชมในความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูอาจารย์ บุคลากรด้านการศึกษาของกรมอาชีวศึกษา ตลอดรวมถึงบุคลากรทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่ายิ่งในการส่งเสริมให้บุคลากรภายในสถานศึกษาและประชาชนทั่วไปให้เกิดสุขภาพด้านต่าง ๆ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และเศรษฐกิจ โดยผ่านการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งและมีการเปิดศูนย์รักล้อมากถึง 15 แห่งทั่วประเทศ และยังได้จัดตั้งธนาคารจักรยานสร้างสุขเพื่อเป็นแหล่งการยืมจักรยานเพื่อใช้ในการศึกษาของนักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนอีกด้วย ซึ่งเชื่อมั่นว่าการจัดการสัมมนาครั้งนี้จะประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดทำคู่มือการบำรุงรักษาจักรยานและอุปกรณ์บำรุงรักษาจักรยานเพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตรต่อไป ที่สำคัญการซ่อมและบำรุงรักษาจักรยานอาจต่อยอดเป็นวิชาเลือกให้กับนักศึกษาในอนาคตโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (ประเทศไทย) หรือ สอศ. เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมกับเครือข่ายจักรยานสร้างสุขประเทศไทย
ด้าน ทันตแพทย์อนุศักดิ์ คงมาลัย ประธานโครงการพัฒนาเครือข่ายจักรยานสร้างสุขประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การก่อตั้งชมรมเครือข่ายจักรยานสร้างสุขประเทศไทย (HAPPYBIKE NETWORK THAILAND) ซึ่งรับผิดชอบโดยสถาบันพัฒนาธุรกิจภูมิภาค มูลนิธิองค์กรเครือข่ายบริการธุรกิจภูมิภาค และสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์ต่อการสร้างเสริมสุขภาพ เพราะการปั่นจักรยานเป็นกิจกรรมหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั้งในกลุ่มของผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน กลุ่มผู้รักสุขภาพ นักอนุรักษ์ รวมไปถึงการประยุกต์จักรยานให้เป็นอุปกรณ์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งมีจุดหมายให้สถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศเป็นตัวเชื่อมในการดำเนินโครงการให้ประสบผลอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งดำเนินการจัดตั้งศูนย์รักล้อเพื่อพัฒนาต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพสร้างรายได้แก่นักเรียน นักศึกษาสายอาชีวศึกษาอีกด้วย